ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
---|
พม่า-รัสเซีย ท่ามกลางสถานการณ์และระเบียบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีหลายเหตุการณ์ในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่เราต้องทำความเข้าใจ เมื่อผู้เขียนพูดถึง “เรา” ผู้เขียนหมายถึงผู้ออกนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจของไทย รวมทั้งสังคมไทยโดยรวมด้วย เพราะการแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกล้วนมีผลกระทบกับไทย เหตุการณ์ที่กระทบความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ย่อมส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไทยแบบปฏิเสธไม่ได้
รัสเซียเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของพม่ามาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2021 ในกองทัพพม่า มีทหารที่เรียนจบจากรัสเซียจำนวนมาก แนวคิดด้านการทหารกับความมั่นคงส่งต่อให้กองทัพพม่าแบบเลี่ยงไม่ได้ อาวุธยุทโธปกรณ์หลักที่กองทัพพม่าใช้ในปัจจุบันมาจากรัสเซีย จากการประเมินของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มูลค่าของอาวุธที่รัสเซียขายให้พม่า (สถิติปี 2023) มีมากถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการซื้อขายอาวุธผ่านบริษัทในสิงคโปร์เป็นหลัก ยุทธภัณฑ์ที่กองทัพพม่าซื้อจากรัสเซียมีตั้งแต่เครื่องบินรบประเภท SU-30 รวมทั้ง MiG-29 และ Yak-130 และยังมีอะไหล่ของเครื่องบินรบกับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับกองทัพพม่า ที่ยังมีปฏิบัติการทางอากาศทิ้งระเบิดในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์
รัสเซียดูจะเป็นประเทศที่ห่างไกลจากพม่า แต่เหตุใดทั้งสองประเทศจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คำตอบคงเดาได้ไม่ยาก ด้วยทั้งพม่าและรัสเซียต่างถูกบอยคอตโดยชาติตะวันตก และมีสงครามภายในและรอบประเทศในปัจจุบัน แนวคิดของผู้นำทั้งสองประเทศจึงเป็นการเข้าหาพันธมิตรประเภท “ศีลเสมอกัน” ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลมากนัก เรียกว่าพม่าเองก็รู้สึกสบายใจที่ได้คบค้ากับรัสเซีย เพราะไม่ต้องคอยตอบคำถามว่าเมื่อใดจะมีการเลือกตั้ง หรือเมื่อใดพม่าจะมีแผนหยุดยิง ยิ่งสงครามลากยาวออกไปแค่ไหน ประเทศที่ขายอาวุธให้กับพม่า ทั้งจีน รัสเซีย และอินเดีย ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัสเซียกับพม่าในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงด้านทหารและการค้าอาวุธเท่านั้น แต่ยังไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็น “หลังบ้าน” ของรัสเซีย เหมือนยุโรปตะวันออก แต่ความสนใจด้านการลงทุนของรัสเซียในพม่ามีเพิ่มขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียเพิ่งลงนามในข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมลงทุนสร้างท่าเรือและโรงกลั่นน้ำมันที่ทวาย เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัทของรัสเซียและพม่า หลังรัฐประหาร อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันในพม่า “เสียทรง” ไป เพราะบริษัทของสหรัฐและยุโรปทนแรงกดดันไม่ไหว และถอนตัวออกไป จริงอยู่ว่ามีบริษัทอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งของไทยเราเอง ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการบอยคอตรัฐบาลพม่าของโลกตะวันตก แต่เมื่อสงครามในประเทศเข้มข้นขึ้น รัฐบาล SAC ย่อมต้องการเงินและยุทธภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนสงครามกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์
หากจำกันได้ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ทวาย เคยเป็นของบริษัทอิตาเลียนไทย แต่ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ปัญหาการเมืองภายในของพม่า ที่ทำให้อิตาเลียนไทยต้องแบ่งค่าคุ้มครองให้กับรัฐบาลพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยง และปัญหาภายในของอิตาเลียนไทยเอง ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวายเงียบไป ผู้เขียนมีโอกาสไปทวายผ่านเส้นทางที่ตัดขึ้นใหม่จากจังหวัดกาญจนบุรี ยอมรับว่าเส้นทางนี้หากเกิดขึ้นจริง คงทำให้เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่าทางภาคใต้เติบโตขึ้น แต่เมื่อไม่เกิดเสถียรภาพภายในพม่า เป้าหมายและความจริงจังของการลงทุนจากไทยก็หมดลงไป รัสเซียเล็งเห็นโอกาสตรงนี้ หาช่องทางเจรจาความร่วมมือด้านพลังงานกับพม่าเพิ่มเติม ต้องยอมรับว่าบ่อแก๊สในพม่าเป็นขุมทรัพย์ที่ดึงดูดทั้งรัสเซียและมหาอำนาจอื่นๆ
หากรัสเซียเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในพม่าตอนล่างได้จริง ก็จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากบ่อพลังงานในพม่า ที่ยังมีแบบ “เหลือๆ” อีกหนึ่งปัจจัยที่อธิบายความแนบแน่นระหว่างพม่ากับรัสเซีย มาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนในกองทัพพม่ากับรัสเซีย ยกตัวอย่างคนสำคัญในระดับ “Rising Star” และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นนายทหารที่ว่ากันว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ให้ความไว้วางใจอย่างมาก คือ พลโทจ่อซอเย (Kyaw Zaw Ye) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลักด้านการจัดซื้ออาวุธและเทคโนโลยีทางทหาร จ่อซอเยจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยของรัสเซีย และใช้เวลาที่รัสเซียนานถึง 9 ปี ดังนั้นเขาจึงเป็นเหมือนข้อต่อระหว่างกองทัพพม่ากับรัสเซีย อีกทั้งเป็นมันสมองหลักที่สามารถตัดสินใจว่ากองทัพพม่าจะซื้ออาวุธอะไร ยุทธภัณฑ์อะไรบ้าง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพพม่าซื้ออาวุธทุกรูปแบบจากรัสเซีย รวมทั้งระบบโดรน UAV และระบบป้องกันโดรน เพื่อรับมือกับการโจมตีทางโดรนของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เริ่มใช้โดรนในปฏิบัติการโจมตีกองทัพพม่ามากขึ้นตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 ในเดือนตุลาคม 2022 สำนักข่าว BBC ภาคภาษาพม่า ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์บทบาทของจ่อซอเย หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งคือเขาเป็นหนึ่งใน “กลุ่มที่ปรึกษาลับ” ของมิน อ่อง ลาย ที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร จ่อซอเยและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์การทหารคนอื่นๆ นี่เอง ที่อยู่ข้างตัวมิน อ่อง ลาย และนำผู้นำกองทัพพม่าเข้าหารัสเซียมากขึ้น จ่อซอเยให้คำแนะนำด้านอาวุธ นำเสนอยุทธศาสตร์ และวางแผนการใช้อาวุธให้กับมิน อ่อง ลาย ที่ผ่านมา เขากระซิบให้มิน อ่อง ลายซื้อโดรนจากรัสเซียไปแล้ว 3,000 ลำ
BBC ภาคภาษาพม่ามองว่าจ่อซอเยจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ และการพึ่งพารัสเซียก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อความสัมพันธ์ทั้งสองชาติแนบแน่นด้านอาวุธและการทหารโดยรวม แน่นอนว่ารัฐบาลพม่าก็จะตอบแทนรัสเซีย เพื่อให้มหามิตรมีพื้นที่ในด้านอื่นๆ ด้วย แผนการปักหลักของรัสเซียที่ทวายเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัสเซียคงไม่ได้มาเล่นๆ และมีแผนทั้งด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจในพม่าในระยะยาว การไปเยือนรัสเซียและเข้าพบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ในสัปดาห์นี้ ก็การันตีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสองประเทศ ตราบใดที่สงครามยังอยู่ในสารบบของผู้นำทั้งสองประเทศ ปฏิสัมพันธ์ของมหามิตรยุคใหม่นี้ก็จะเป็นไปในเชิงต่างตอบแทน เพื่อสร้างความไว้วางใจ และเพื่อผลประโยชน์ในพื้นที่สีเทาๆ