วิพากษ์จากหลักฐานทางคดี : ข้อพิจารณาที่ต้องคำนึงถึง โดย สุพิศ ปราณีตพลกรัง

ในโลกของเทคโนโลยีที่ความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากในปัจจุบันทำให้เกิดกระแสในเรื่องต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย การตามแชร์ตามแหนตามแห่ตามวิจารณ์จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบติดตามมามากมายหลายด้าน ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี บางทีก็รับฟังข้อเท็จจริงที่มีการดัดแปลงแต่งเติมเอาตามอารมณ์และความรู้สึก บางทีก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่กระจ่างแจ้งหรือมีการนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน อาจมีปัญหาหลายแง่หลายมุมที่ทำให้ไม่สามารถรับรู้กลั่นกรองข้อเท็จจริงได้ เพราะอาจเป็นเรื่องห่างไกล เข้าถึงยาก หรือทำความเข้าใจได้ยาก บ่อยครั้งกระบวนการยุติธรรมก็ต้องตกเป็นจำเลยของการวิพากษ์วิจารณ์ไปโดยปริยาย

เรื่องหนึ่งที่กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียก็คือ กรณีที่อดีตดาราสาว หรือนักร้อง นักแสดง นางแบบผู้โด่งดังในอดีตถูกศาลฎีกาปฏิเสธไม่รับคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คงจะเป็นการดีหากเราจะมีการมองเรื่องราวข้อเท็จจริงผ่านทางคดีความก่อนที่จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมอื่นๆ เพราะอย่างน้อยก็น่าจะทำให้ฐานแห่งความเข้าใจตรงกันได้ในระดับหนึ่ง ในที่นี้จึงอยากนำเสนอเรื่องราวในคดีจากคำพิพากษาซึ่งเป็นชั้นอุทธรณ์และถึงที่สุดไปแล้ว เนื่องจากจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา จะขอกล่าวในภาษาที่ง่ายๆ หรือธรรมดา เพื่อที่จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

เรื่องที่ฟ้องร้อง

เรื่องพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องว่า วันเกิดเหตุจำเลยนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือโคเคน 1 ถุง น้ำหนัก 0.251 กรัม จากประเทศอื่นเข้ามาในไทย และจำเลยครอบครองยาเสพติดดังกล่าว ขอให้ลงโทษตาม
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ จำเลยเคยกระทำผิด และถูกลงโทษฐานมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ จำเลยมากระทำความผิดนี้ในระหว่างที่รอการลงโทษ ขอให้บวกโทษด้วย

Advertisement

คำให้การจำเลย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับในเรื่องเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ และรอการลงโทษไว้

เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ ก็ต้องมีการสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ในขณะเดียวกัน จำเลยก็มีสิทธิต่อสู้หักล้างทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานโจทก์ และนำสืบพยานหลักฐานจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดไว้

Advertisement

คําตัดสินของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักคือฐานนำยาเสพติดเข้ามาในไทย ให้จำคุก 20 ปี และปรับ 2,000,000 บาท ศาลเห็นว่าเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้แก่จำเลย เนื่องจากทางนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือจำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท และนำโทษจำคุกที่รอไว้ ซึ่งศาลในคดีก่อนพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน มารวมด้วย โทษจำคุกจึงรวมเป็น 15 ปี 3 เดือน นั่นคือโทษที่ได้รับ สำหรับค่าปรับนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของกฎหมายยาเสพติดที่กำหนดให้ทั้งจำคุกและต้องปรับด้วย

จำเลยอุทธรณ์

จำเลยต่อสู้คดีว่า ตนเองไม่ได้กระทำความผิด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิด จำเลยก็ย่อมไม่พอใจ และกฎหมายก็บัญญัติเป็นสิทธิของจำเลยที่จะอุทธรณ์ได้ จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาทบทวนให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยต่อไป ซึ่งก็ใคร่ขอเรียนท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับเรื่องกฎหมาย เรื่องขั้นตอนการพิจารณาคดีไว้สักนิดว่า การพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์นั้นเป็นการพิจารณาทบทวนที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร โดยยึดตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยอ้างอิงหรือยกประเด็นไหนขึ้นมาอุทธรณ์บ้าง ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาตอบให้ตามประเด็นนั้น และการพิจารณาก็ดูจากถ้อยคำสำนวนที่สืบพยานกันมาในศาลชั้นต้น ไม่ใช่สืบพยานกันใหม่หรือฟังหลักฐานใหม่ เสนอเรื่องกันใหม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วเรื่องราวก็ต้องเริ่มกันใหม่ไม่มีอันสิ้นสุด

ข้อพิจารณาในศาลอุทธรณ์

ประเด็นใหญ่ใจความที่จำเลยอุทธรณ์ก็คือ จำเลยอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้น ประเด็นที่ตั้งในชั้นอุทธรณ์ก็คือ จำเลยได้กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็จะต้องตรวจดูพยานหลักฐาน และตอบประเด็นนี้

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเดินทางจากท่าอากาศยานของประเทศเพื่อนบ้านโดยเครื่องบิน ถึงประเทศไทยจำเลยถูกจับที่ห้องน้ำสนามบิน ยึดยาเสพติดเป็นของกลาง โดยฝ่ายโจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจ 2 คนผู้จับกุมเป็นพยานให้ข้อเท็จจริงว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่ามีเสียงผู้หญิงร้องมาจากห้องน้ำข้างห้องตรวจลงตรา เมื่อไปถึงก็พบจำเลย ตรวจค้นสิ่งของในกระเป๋าพบขนมช็อกโกแลต 1 หลอด ภายในมียาเสพติด จำเลยให้การว่าเป็นโคเคน ที่จำเลยเสพเหลือจากที่ประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้ามา นอกจากนี้พบสิ่งของ
อื่นๆ อีก เช่น ยานอนหลับ ยาบำรุงตับ จึงมีการแจ้งความดำเนินคดี โดยตอนแรกแจ้งข้อหาว่ามียาเสพติดดังกล่าวไว้ในครอบครอง จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาในชั้นสั่งฟ้อง พนักงานอัยการให้แจ้งข้อหานำเข้ายาเสพติดด้วย เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทย ชั้นสืบพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อมาถึงสนามบินที่ไทยรู้สึกมึนเมาและคลื่นไส้เนื่องจากเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จึงเข้าไปในห้องน้ำใกล้ทางเดินลงเครื่อง พบผู้โดยสารคนอื่นๆ ในห้องน้ำ มีผู้แนะนำให้กินอาหารและให้ช็อกโกแลต 1 หลอด คือของกลางในคดีนี้ พร้อมช็อกโกแลตอีกยี่ห้อหนึ่งแก่จำเลย ซึ่งจำเลยกินอันหลัง ไม่ได้กินที่เป็นของกลาง เมื่อถึงใกล้ที่ตรวจลงตรา จำเลยมีอาการอีกจึงเข้าห้องน้ำ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจก็มาตรวจค้น ตำรวจบอกว่ายาเสพติดของกลางน้ำหนักน้อย มีเพียงโทษปรับ จำเลยจึงรับสารภาพ เมื่อมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่านำเข้ายาเสพติด จึงปฏิเสธ ก่อนขึ้นเครื่องบินจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาไทยก็มีการตรวจสัมภาระแล้ว

นั่นคือรายละเอียดต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายอ้าง ทีนี้มาดูข้ออุทธรณ์ของจำเลย จำเลยอ้างว่า คำรับสารภาพชั้นจับกุมกฎหมายห้ามนำมาใช้เป็นพยานหลักฐาน ข้อนี้ตามกฎหมายก็เป็นเรื่องจริง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ตอบว่า ไม่มีการนำมารับฟังแต่อย่างไร แต่พิจารณาตามคำเบิกความของตำรวจผู้จับกุมว่าน่าเชื่อไหม ข้อเท็จจริงฟังได้อย่างไร ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่เบิกความ

จำเลยอ้างว่า การสอบสวนไม่ชอบ เพราะไม่มีทนายร่วมด้วย คำรับสารภาพชั้นสอบสวนจึงไม่ชอบรับฟังไม่ได้ ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ดูตามเอกสารที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ามีการแจ้งเรื่องการมีทนายให้จำเลยทราบ จำเลยแจ้งว่าไม่ต้องการทนาย การดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จึงชอบแล้ว

จำเลยอ้างว่า ที่ประเทศต้นทางก็มีการตรวจสัมภาระแล้ว โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยนำเข้ายาเสพติด ไม่มีหลักฐานว่านำเข้ามาในไทย ศาลอุทธรณ์ตอบในจุดนี้ว่า การตรวจค้นพบของกลางในกระเป๋าจำเลย จำเลยเพิ่งลงจากเครื่องบิน จำเลยรับว่ายาเสพติดของกลางเหลือจากการเสพที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศต้นทาง หากจำเลยไม่ทราบว่าเป็นยาเสพติดดังที่อ้างก็ไม่น่าที่จะให้การรับสารภาพเช่นนั้น เพราะคงไม่มีใครที่จะยอมรับผิดว่ากระทำความผิดร้ายแรงมีโทษสถานหนักเช่นคดีนี้ได้หากไม่เป็นความจริง ที่อ้างว่าเป็นของผู้โดยสารอื่น ก็อ้างลอยๆ ไม่สมเหตุผล เพราะเมื่อทราบว่าเป็นยาเสพติดก็ควรแจ้งหรือให้ข้อมูลตำรวจในทันทีว่าเป็นของบุคคลใด จะได้ติดตามจับกุมทันที จึงไม่เชื่อว่าก่อนเกิดเหตุจะมีบุคคลอื่นมอบยาเสพติดของกลางแก่จำเลย

จำเลยอ้างว่า ตำรวจแนะนำให้รับสารภาพ และชำระค่าปรับแล้วจะปล่อยตัวไป ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่ใช่คดีที่เปรียบเทียบปรับได้

จำเลยอ้างว่า ยาเสพติดที่ยึดได้ไม่มีน้ำหนักจำนวนมากตามฟ้อง กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ตรวจดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยึดของกลาง การนำส่งของกลาง การปิดผนึกของพนักงานสอบสวนต่อหน้าผู้จับกุมและจำเลย ทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อกำกับและส่งไปตรวจพิสูจน์ การรับส่งเป็นไปตามขั้นตอนปกติของทางการ ผู้ตรวจพิสูจน์ก็มาเบิกความยืนยัน

คําตัดสินของศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด

หลังจากที่ได้พิจารณาตรวจสอบทบทวนแล้ว ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดก็มีคำพิพากษา คือ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

ทำไมฎีกาไม่ได้

ปกติแล้วคดีมักจะมีการอุทธรณ์ ฎีกาว่ากันไปถึง 3 ศาล แต่กรณีของคดียาเสพติดนี้กฎหมายแก้ไขใหม่ให้คดีเป็นที่สุดหรือยุติแค่ชั้นศาลอุทธรณ์ หากจะฎีกาก็ต้องเป็นเรื่องต้องยื่นคำร้องขออนุญาตหรือฎีกาข้อกฎหมาย กรณีคดีนี้มีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว สุดท้ายศาลฎีกาไม่อนุญาต คำร้องไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย ผลของคดีจึงจบลงตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา คือลงโทษตามที่ศาลชั้นต้นตัดสิน คดีเป็นอันสิ้นสุดยุติ

ได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่ล่าสุดหรือไม่

ล่าสุดมีการแก้ไขโทษเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด แต่คดีของจำเลยก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่แต่อย่างใด เพราะตามกฎหมายใหม่เป็นการแก้โทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไม่ใช่ประเภท 2

นี่คือข้อเท็จจริงตามฐานแห่งคดีความหรือข้อเท็จจริงตามสำนวนความว่ามีเหตุผลความเป็นมาอย่างไร เรื่องราวที่ปรากฏในทางคดีเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านต้องพินิจพิจารณาเอาเอง การวิพากษ์วิจารณ์จึงควรพิจารณาข้อมูลทุกๆ ด้านให้กระจ่างแจ้ง ความจริงเป็นอย่างไรท่านต้องตัดสินใจเอาเอง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการไม่มองรอบด้านหรือวิจารณ์เอาตามอารมณ์ความรู้สึก

สุพิศ ปราณีตพลกรัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image