คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้า ‘กระบวนการยุติธรรม’ ไม่บกพร่อง เราก็อาจจะเห็นใจผู้ตายได้มากกว่านี้

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้า ‘กระบวนการยุติธรรม’ ไม่บกพร่อง เราก็อาจจะเห็นใจผู้ตายได้มากกว่านี้

คุณเอก ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของ “กฎแห่งกรรม” และ “กฎแห่งความยุติธรรม” ไว้ในสเตตัสส่วนตัวบน Facebook วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าเรายิ่งเชื่อในกฎแห่งกรรม แต่กลับรู้สึกว่ากฎแห่งความยุติธรรมในสังคมไม่สมเหตุสมผล นั่นอาจหมายความว่าระบบความยุติธรรมมีข้อบกพร่องบางอย่างจนทำให้คนหันไปพึ่งกฎแห่งกรรมแทน”

ความเห็นของเขาสรุปได้ว่า เพราะกฎแห่งกรรมให้ความรู้สึกว่าใครทำอะไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ที่เป็นตรรกะที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากเห็นคนดีได้รับสิ่งดี และคนที่ทำผิดได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล แตกต่างจาก “กฎแห่งความยุติธรรม” หรือการบังคับใช้กฎหมายที่หลายครั้งผู้ที่ละเมิดกฎหมายไม่ได้รับโทษทางกฎหมายตามสมควรด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ จนกระทั่งผู้คนหมดศรัทธาในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พวกเขาจะหันไปเชื่อในสิ่งที่ให้ความรู้สึก “ยุติธรรม” กว่าคือ “กฎแห่งกรรม” ที่แม้อาจพิสูจน์ไม่ได้ แต่ตอบสนองต่อความรู้สึกของมนุษย์ที่ต้องการเห็นความเป็นธรรมแบบตรงไปตรงมาได้มากกว่า

เขาจึงสรุปในตอนท้ายว่า “ถ้าสังคมอยากลดการพึ่งพากฎแห่งกรรม เราต้องทำให้ความยุติธรรมในโลกความจริงมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้ผู้คนเชื่อว่า ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอผลกรรม”

ADVERTISMENT

ใครแม่นยำจำได้เรื่องวันที่คงนึกออกว่าในวันที่คุณธนกรเขียนโพสต์นั้นมีข่าวใหญ่ฮือฮาเป็นที่สนใจของสังคมตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากการเปิดเผยโดยกรมราชทัณฑ์ว่า “อดีตผู้กำกับโจ้” ผู้ต้องขังคดีดังในอดีตเสียชีวิตที่เรือนจำกลางคลองเปรม โดยข่าวที่ทางกรมราชทัณฑ์แถลงออกมานั้น แจ้งว่าเขาเสียชีวิตโดยการจบชีวิตตัวเองในห้องขังเดี่ยว ซึ่งเหตุผลที่ต้องถูกแยกขังนั้น เป็นเพราะอดีตผู้กำกับโจ้มีอาการป่วยทางจิตเวชและขอแยกขังโดยสมัครใจ

“อดีตผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล เป็นที่รู้จักของสังคมจากข่าวดังเมื่อเกือบสามปีที่แล้ว เมื่อมีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีชายกลุ่มหนึ่งแต่งกายคล้ายตำรวจนำถุงขยะสีดำคลุมศีรษะของผู้ชายที่นั่งอยู่บนเก้าอี้และถูกใส่กุญแจมือไว้ ชายที่ถูกคลุมหัวดิ้นรนจนหมดสติและต่อมาเสียชีวิต จากนั้นข้อเท็จจริงก็ปรากฏเพิ่มขึ้นมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดมา “สอบสวนขยายผล” โดยอดีตผู้กำกับโจ้ จากนั้นก็นำไปสู่การขุดคุ้ยประวัติของอดีตผู้กำกับคนดังว่าเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยระดับที่มีรถซุปเปอร์คาร์ในครอบครองหลายคัน เรื่องนี้ในที่สุดก็ถูกตั้งข้อหาร่ำรวยผิดปกติและมีการอายัดทรัพย์สินหลายรายการ สำหรับคดีอาญานั้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้พิพากษาว่าเขามีความผิดทั้งต่อหน้าที่ราชการและฐานฆ่าคนโดยทารุณโหดร้าย ลงโทษประหารชีวิต แต่มีเหตุบรรเทาโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หลังจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เขาก็ถูกขังไว้ในระหว่างอุทธรณ์คดีจนกระทั่งมีข่าวเสียชีวิตลงเมื่อค่ำวันศุกร์ต่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตามจากการเปิดเผยของครอบครัวของผู้ตาย ความตายของอดีตสารวัตรกลับกลายเป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวเขาได้ร้องเรียนว่าถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายจากนักโทษและผู้คุมรายหนึ่ง รวมถึงเรื่องการแยกขังเดี่ยวก็ไม่ได้เป็นเพราะความสมัครใจ และเขาเองก็ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวชตามที่ทางเรือนจำกล่าวอ้างด้วย ข้อเท็จจริงในทางคดีหลังจากนี้ก็คงจะเป็นข่าวกันต่อไป ในทางกฎหมาย กระบวนการต่อจากนี้ต้องมีการไต่สวนโดยศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคห้า เพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่นี้เกิดจากอะไรหรือใคร

สิ่งที่น่าสนใจคือความเห็นของประชาชนที่มีความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับข่าวนี้แยกไปเป็นสองทางโดยชัดเจน โดยทางหนึ่งนั้นมองว่าต่อให้ผู้ตายจะเคยกระทำความผิดที่ฆ่าคนโดยทารุณโหดร้าย แต่เมื่อเขาถูกดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เขาควรจะได้รับคือโทษตามกฎหมาย ซึ่งถ้าเขาจะต้องตายตกไปตามผู้ที่ถูกเขากระทำจนแก่ชีวิตก็ควรเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลและการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่การใช้วิธีการศาลเตี้ยหรืออำนาจมืดที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ลงโทษตามกฎหมายมาพรากเอาชีวิตไป

ในขณะที่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมองอีกมุมว่าความตายของเขาก็เป็นไปตาม “กฎแห่งกรรม” ที่ยุติธรรมแล้ว เพราะในเมื่อเขาใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบด้วยความทารุณโหดร้ายเอาแก่ผู้ที่ถูกเขาควบคุมตัวมาตามกฎหมายจนเสียชีวิตไปอย่างทารุณ ดังนั้นสิ่งที่พรากชีวิตเขาไปนั้นก็เป็นสิ่งเดียวกันโดยแท้ นั่นคือ “ผู้ใช้อำนาจรัฐ” ที่มีอำนาจควบคุมตัวเขาที่อาจจะเป็นผู้ทำให้เขาต้องจบชีวิต เฉกเช่นที่เขากระทำต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายนั้น สำหรับผู้คนฝั่งนี้จึงไม่มีความเห็นอกเห็นใจหรือคิดว่าการตายของเขาสมควรได้รับการดำเนินการเพื่อความเป็นธรรมอย่างไรอื่นอีก

เหตุผลของผู้คนที่แตกออกไปเป็นสองทางเช่นนี้เองเป็นที่มาของโพสต์คุณเอก ธนกร ที่ยกขึ้นมาเปิดคอลัมน์นั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นไม่ตรงกันใน “ธง” แต่สำหรับท่อน “ข้อเท็จจริง” แล้ว ทั้งสองฝ่ายกลับเหมือนจะเห็นตรงกันว่าการตายของอดีตสารวัตรโจ้ก็คงจะมีเงื่อนงำ จริงๆ นั่นแหละ และผู้ที่น่าจะมีส่วนหรือต้องรับผิดชอบคือเรือนจำกลางคลองเปรมที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง “ยุติธรรม” ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายของเขาตั้งแต่วันแรกถูกขังจนถึงวันที่เสียชีวิต

เรื่องราวความ “ดำมืด” ของเรือนจำนั้นก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีใครอยากเข้าไปพิสูจน์ด้วยตนเอง ถ้าจะมีออกมาสู่สังคมก็จะเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยเป็นผู้ต้องหาหรือเข้าไปรับโทษในเรือนจำ หรือแม้แต่อดีตผู้คุมที่พ้นจากหน้าที่ราชการแล้วเอามาบอกเล่า ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเอาเท่าที่เปิดเผยกันออกมา ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษหรือผู้ต้องขังนั้นแย่เสียยิ่งกว่าที่เขาควรจะได้รับตามกฎหมายหลายเท่า ทั้งเรื่องการต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแออัดระดับที่ต้องนอนสับหว่าง การทำธุระส่วนบุคคลที่ขาดไร้ความเป็นส่วนตัวและสุขอนามัยอย่างสะพรึง รวมถึงปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดและตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ขาใหญ่ของนักโทษหรือผู้ต้องขังบางราย เรียกว่าเรื่องราวจากรั้วเรือนจำอาจจะเป็นเรื่องเล่าที่ยับยั้งชั่งใจผู้คนที่พอมีสติสัมปชัญญะไม่ให้กระทำความผิดทางอาญาโดยไม่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

โดยสาเหตุก็เป็นเพราะเรือนจำไทยมีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับนักโทษล้นคุก นักโทษและผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ นั้นหนาแน่นเกินกว่าความสามารถที่เรือนจำจะดูแลและให้สิทธิหรือเสรีภาพตามสมควรได้ รวมถึงจำนวนคนที่มากทำให้การจัดการ “อย่างอารยะ” หรือเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นก็ลดลงไปตามความขาดแคลน ความยุ่งยากและความอดทนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล ดังนั้นวิธีการแบบ “เทาๆ” ที่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้แบบหลับตาข้างหนึ่ง

สำหรับผู้ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คงพอทราบได้ว่าการรณรงค์หรือการเรียกร้องต่อสังคมเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังหรือนักโทษในเรือนจำของไทยนั้นเป็นประเด็นที่ยากระดับเดียวกับการขอให้ทบทวนเรื่องการมีอยู่ของโทษประหารและแนวทางจัดการกับปัญหายาเสพติด นอกจากข้อจำกัดเรื่องความหนาแน่นของเรือนจำแล้ว ผู้คนก็มองว่าคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้นก็คือผู้กระทำความผิด และความผิดทางอาญาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการกระทำที่ละเมิดต่อผู้อื่นหรือรบกวนความสงบสุขของสังคม หากถูกศาลตัดสินลงโทษก็น่าจะเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทำความผิดจริง และเมื่อกระทำความผิดแล้วก็สมควรรับโทษซึ่งหมายถึงการต้องยอมรับผลร้ายของการกระทำของตัวเองแล้ว เช่นนี้จะมาเรียกร้องเอาสิทธิเสรีภาพอะไรอีกถ้าพิจารณาตามทฤษฎีการลงโทษทางอาญาต่อบุคคลเป็นไปด้วยวัตถุประสงค์สี่ประการ ได้แก่ การกันบุคคลผู้ที่ทำอันตรายและอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นออกไปจากสังคมเป็นการชั่วคราว เพื่อให้รัฐได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดรบกวนต่อสังคมนั้น นอกจากนี้การลงโทษอาญายังเป็นไปเพื่อการ “ข่มขู่” เตือนปรามผู้ที่คิดจะกระทำความผิดให้เห็นว่าการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นมี “ราคา” อย่างไรเพื่อจะได้ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง และสุดท้าย คือเพื่อการแก้แค้นทดแทนเหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย

ในสังคมเอเชียรวมถึงประเทศไทย แม้แต่ประเทศที่ถือว่าเป็นอารยประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่นก็ตาม วัตถุประสงค์การลงโทษทางอาญาเพื่อการแก้แค้นทดแทนนี้เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังเป็นอันดับต้นๆ จากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ โดยเฉพาะกับความผิดเกี่ยวกับร่างกาย เพศ และชีวิต นั่นเป็นเพราะสังคมรู้สึกว่าผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวนั้นเป็นผู้มีจิตใจโหดร้ายหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้คิดถึงจิตใจของคนที่เป็นเหยื่อหรือผู้เสียหาย เช่นนั้นเขาก็ไม่สมควรได้รับในสิ่งที่เขาไม่ให้แก่คนอื่น และการที่เขาถูกลงโทษอย่างสาสมนั้นก็เป็นการใช้ราคาต่อความชั่วร้ายนั้นและบรรเทาความรู้สึกของสังคมว่าถูกละเมิดความเป็นอยู่อย่างสงบสุข หรือไม่ก็อาจจะมาจากแนวคิดเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ที่เชื่อว่าบุคคลทำสิ่งใดแล้วก็สมควรที่จะได้รับผลตอบแทนนั้นจากการกระทำอย่างสาสมเท่าเทียม และก็น่าจะดีถ้ากฎหมายและอำนาจรัฐนั้นจะช่วยเร่งผลของกฎแห่งกรรมนั้นให้เห็นผลทันตาไม่ต้องไปรอชาติใหม่โลกหน้า

หากเราลองเอาวัตถุประสงค์ของการลงโทษทางอาญาทั้งสี่ประการมาชี้วัดกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การบังคับใช้กฎหมาย และการลงโทษโดยกลไกราชทัณฑ์แล้ว ก็จะพบว่ากลไกแห่ง “กฎหมาย” ของไทยนั้นแทบจะไม่ตอบโจทย์ในการลงโทษทางอาญาใดๆ เลย

การกันบุคคลผู้เป็นอันตรายให้พ้นไปจากสังคมชั่วคราวนั้น ก็ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ของไทยนั้นได้รับโทษที่ต่ำเกินไป ด้วยเพราะโทษที่ตั้งตามคำพิพากษาก็ไม่ได้สูงมาก ซึ่งยังไปเจอกลไกของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายจริง ทำให้ผู้กระทำความผิดต่อชีวิตอาจจะถูกจำคุกจริงไม่เกินสิบปี ผู้กระทำความผิดล่วงละเมิดทางเพศแม้จะกระทำต่อเด็กที่จริงๆ แล้วควรได้รับโทษร้ายแรงก็ปรากฏว่าสามารถพ้นโทษได้ภายในสองถึงสี่ปี ระยะเวลาเพียงเท่านี้ไม่ต้องสงสัยรัฐจะสามารถปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดรบกวนต่อสังคมได้หรือไม่

ตัวชี้วัดไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลอื่น เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีการปล่อยตัวนักโทษครั้งใหญ่ อีกไม่นานก็จะมีข่าวประเภทพ้นโทษออกมาได้สองวัน ก็ไปกระทำผิดซ้ำแล้ว ดีไม่ดีทำผิดเรื่องเดิมที่เพิ่งถูกลงโทษไปด้วย ยิ่งกว่านั้น โทษทางอาญาของไทยตามกฎหมายก็ไม่เคยทำให้ใครกลัวเกรง ทั้งจากการบังคับใช้กฎหมาย จากกระบวนการยุติธรรมและจากโทษที่ศาลกำหนดจริง จึงแน่นอนว่าด้วยเหตุดังกล่าว กระบวนการบังคับโทษตามกฎหมายของไทยก็ไม่ได้ช่วยให้เหยื่อ ผู้เสียหายและผู้คนในสังคมได้รู้สึกว่าผู้กระทำความผิดได้ชดใช้ในการกระทำอันโหดร้ายอุกอาจของเขาอย่างสาสมแล้วแต่อย่างใด

เหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ความเห็นเรื่องการตายของอดีตสารวัตรโจ้นี้จึงมีคนเกินครึ่งที่ละวางความเห็นอกเห็นใจ หรือเห็นว่าเขาควรจะได้รับความเป็นธรรมหากการตายของเขาเกิดจากการละเมิดกฎหมาย เพราะมันปลอบใจตัวเองในอีกทางหนึ่งว่าอย่างน้อยกฎแห่งกรรมก็ยังมีจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image