ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
ภาพเก่าเล่าตำนาน : กฎหมายเรื่องการครอบครองปืน…ในมาเลเซีย
แผ่นดินเราอยู่ติดกัน…มาเลเซียมีกฎหมาย “เข้มจัด” เรื่องการครอบครองอาวุธปืน กระสุน…ผลลัพธ์เรื่องความปลอดภัยในสังคมเลยต่างกันลิบลับ
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบางพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ที่กลุ่มผู้ก่อการนับไม่ถ้วน นำเอา “อาวุธสงคราม” ออกมาไล่สังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐมาต่อเนื่องนานราว 20 ปี แถมยังมีระเบิดขนาดหนัก วัตถุอันตรายสารพัดชนิดมาใช้ มาทำร้ายชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์นับครั้งไม่ถ้วน อาวุธสงครามมหาศาลแพร่กระจาย ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ใต้สุดของไทย มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไปแล้วราว 5 พันคน บาดเจ็บราว 1 หมื่นคน หากแต่ในมาเลเซียแทบจะไม่ปรากฏ
ประเด็นนี้…น่าขบคิดนะครับ…
มี “คำเตือนเด็ดขาด” จากบริษัททัวร์ จากหน่วยราชการไทย ย้ำแล้วย้ำอีก สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในมาเลเซีย อย่าได้เผลอพกพาอาวุธ หรือแม้กระทั่งกระสุนเพียงนัดเดียว ที่อาจจะติดค้างอยู่ในกระเป๋าเดินทาง กระสุนนัดนี้มันมาได้ยังไง (วะ) เข้าไปในมาเลเซีย
ถ้าเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียตรวจพบ…มันคือ หายนะ ความลำเค็ญของชีวิต ที่แก้ตัวได้ยากมาก สร้างความกลัวเกรงได้เฉียบขาด
เคยมีเหตุที่คนไทย พลั้งเผลอในกรณีความผิดเช่นนี้หลายครั้ง
มาเลเซีย เพื่อนบ้านของเรา …เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนที่เข้มงวดที่สุด ประชาชนมาเลเซียโดยทั่วไป ไม่มีสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน
หมายความว่ารัฐบาลจะ “จำกัด” การครอบครองอาวุธปืน อย่างไรก็ตาม บุคคลสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างถูกกฎหมายในมาเลเซียหลังจากได้ใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย (RMP)
ปีนัง ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในมาเลเซีย ตามการจัดอันดับล่าสุดของ Numbeo คือ ปีนังได้อันดับที่ 77 ของโลก โดยมีดัชนีอาชญากรรมต่ำที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ 5 แห่งในมาเลเซียที่นำมาจัดอันดับ (ข้อมูลเมื่อ 11 ก.พ. 2568)
โดยทั่วไปแล้วมาเลเซียถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับชาวต่างชาติ โดยจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับที่ 19 ของโลกในปี 2024 ตามการจัดอันดับของ The World Population Review ประเทศนี้มีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำ ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วทุกปีตั้งแต่ปี 2013
นักอาชญาวิทยากล่าวภายหลังเหตุการณ์ยิงกันในห้างสรรพสินค้าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า กฎหมายที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้ และเสริมว่าการบังคับใช้กฎหมายและการศึกษาแก่ประชาชนก็มีความสำคัญเช่นกัน
(8 กุมภาพันธ์ 2568 เกิดเหตุพนักงานทำความสะอาดที่ห้างสรรพสินค้า Setia City Mall ถูกยิงเข้าที่ขา ตำรวจระบุว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชายท้องถิ่นอายุ 30 ปี ที่เคยก่ออาชญากรรมและเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาแล้ว 11 ครั้ง ส่วนเหยื่อซึ่งเป็นชาวต่างชาติอายุ 30 ปี)
เหตุการณ์ยิงกันในห้างสรรพสินค้าครั้งนั้น ดร.เฮซรีนา เบกุม นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัย Malaya อธิบายว่า แม้ว่าประเทศมาเลเซียจะบังคับใช้กฎหมายปืนที่เข้มงวดมายาวนาน รวมถึงพระราชบัญญัติอาวุธปืน (เพิ่มโทษ) แต่อาวุธปืนที่ผิดกฎหมายยังคงสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต่างจากการค้ายาเสพติดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการห้ามก็ตาม
เธอเสริมว่า มาเลเซียยังค่อนข้างปลอดภัยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ “แต่ถึงกระนั้น เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ และตอนนี้เรากำลังเห็นเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น”
การใช้อาวุธปืน (พกพา) ก็ยังคงมีเกิดขึ้นบ้าง
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวย้ำว่า…นี่ไม่ควรหมายถึงการผ่อนปรนกฎหมายอาวุธปืน
ในการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการ…มีการกล่าวถึงไทย
“แม้แต่ในประเทศไทย ฉันอ่านเมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีอาวุธปืนประมาณ 7.9 ล้านกระบอก ในจำนวนนี้ประมาณ 2 ล้านกระบอกไม่มีการลงทะเบียน พวกเขามีกฎหมายปืน แต่การบังคับใช้ยังไม่เข้มงวด”
รมว.มท.ของมาเลเซียกล่าวว่า การขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนถูกกฎหมายนั้นต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยมีอัตราการอนุมัติเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
ดร.เฮซรีนากล่าวว่า อาชญากรแสวงหาอาวุธอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมักลักลอบนำเข้ามาจากประเทศไทยผ่านเส้นทางบกและทางทะเล
“แม้จะมีกฎหมายดังกล่าว อาวุธปืนยังสามารถเข้ามาจากประเทศไทยได้โดยเฉพาะ นั่นเป็นแหล่งหลัก”
“ถ้าถามเจ้าหน้าที่การเดินเรือ การลักลอบขนอาวุธปืนทางทะเลเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นทางบกด้วย”
กัมพูชา ก็เป็นประเทศที่ห้ามครอบครองอาวุธโดยเด็ดขาด
หลังจากสงครามกลางเมืองในกัมพูชาราว 30 ปี การครอบครองอาวุธปืน โดยเฉพาะปืนไรเฟิลจู่โจม AK-47 (อาก้า) กลายเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่บ้าน เมือง และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ จนกระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1990 รัฐบาลจึงได้ดำเนินการในที่สุด เพื่อขอให้ประชาชนนำอาวุธมามอบคืน เพื่อตัดทำลาย…
6 ก.ย.2559 สภาของกัมพูชาผ่านกฎหมาย…การครอบครองอาวุธปืนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
การติดตั้ง การครอบครอง การพกพา การใช้ การซื้อ การขาย การแลกเปลี่ยน การกู้ยืม การโอน การเช่า การผลิต การประดิษฐ์ การซ่อมแซม การขนส่ง การผ่าน การนำเข้า การส่งออก และการกักตุนอาวุธ วัตถุระเบิด และกระสุนปืนทุกรูปแบบโดยประชาชนทั่วไป ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในราชอาณาจักรกัมพูชา
หลายประเทศ…มีกฎหมายควบคุมการครอบครองปืน บางประเทศถึงกับห้ามมีปืนไปเลย ปัจจุบันมี 14 ประเทศในโลกที่มีกฎหมาย ห้ามมีปืนโดยสิ้นเชิง : บรูไน กัมพูชา คอโมโรส ติมอร์-เลสเต
เอริเทรีย
กินี-บิสเซา มัลดีฟส์ หมู่เกาะมาร์แชลล์ นาอูรู เกาหลีเหนือ ปาเลา
หมู่เกาะโซโลมอน โซมาเลีย นครรัฐวาติกัน
อัตราการครอบครองปืนของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป ในบางประเทศ ปืนมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์หรือการเมือง ส่งผลให้ประชาชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อปืน
กฎหมายควบคุมการครอบครองปืนของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลให้อัตราการครอบครองปืน ลดลง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายห้ามครอบครองอาวุธปืนก็มีข้อเสียเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทำงานได้ยากขึ้น
ย้อนกลับมาคุยกันเรื่องของปืนชายแดนไทย-มาเลเซียครับ…
27 มิถุนายน 2566 อธิบดีตำรวจรัฐกลันตันแถลงว่า…
“…เป็นห่วงสถานการณ์ปืนเถื่อนลักลอบขนจากไทยเข้ามาเลย์ ชี้นับตั้งแต่ปีที่แล้วจับได้ 18 กระบอก แม้จำนวนน้อยแต่น่ากังวล ขณะตำรวจสุไหงโก-ลก แจงปืนกล็อก-ลูกโม่ยอดนิยม ราคาแค่กระบอกละหมื่นบาท มีดีลเลอร์อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ
อธิบดีตำรวจรัฐกลันตันกล่าวอีกว่า ไม่นานมานี้ มีแถลงการณ์จากทางตำรวจไทยระบุว่าหน่วยงานทั้งสองประเทศกำลังดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อจะรับมือกับขบวนการขนอาวุธข้ามพรมแดน
“เราจะดำเนินการความร่วมมือระหว่างกันต่อไป” อธิบดีกรมตำรวจรัฐกลันตันกล่าว
ตำรวจไทยได้ระบุว่า มีปืนอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ยี่ห้อกล็อก และปืนลูกโม่ .38 เป็นปืนที่ถูกใช้งานมากที่สุดทั้งในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และในประเทศมาเลเซีย
พ.ต.อ.ปรัชญา ไบเตะ ผู้กำกับการ สภ.สุไหงโก-ลก (ในเวลานั้น) ได้ออกมากล่าวว่า ปืนถูกลักลอบนําเข้าจากต่างประเทศและส่วนใหญ่ใช้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งปืนส่วนมากที่ไม่ได้มาจากประเทศไทยนั้น จะถูกลักลอบนำเข้ามาโดยอาชญากรท้องถิ่น และยังพบอีกว่ามีปืนบางรายการนั้นถูกจัดหาโดยผู้ขายที่อยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ในจังหวัดปริมณฑลนอกกรุงเทพฯ และปืนแต่ละกระบอกจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาทเท่านั้น
ตํารวจสุไหงโก-ลกได้จับกุมผู้ต้องสงสัยที่พบพร้อมปืน ผู้ต้องสงสัยให้การรับสารภาพว่าจะส่งอาวุธดังกล่าวไปยังผู้ซื้อในมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐกลันตัน
ปืนจะถูกลักลอบนําออกจากสุไหงโก-ลกผ่านท่าเทียบเรือผิดกฎหมายที่มีพรมแดนติดกับรัฐกลันตัน อย่างไรก็ตามผู้ลักลอบมักจะเปลี่ยนรูปแบบการขนอาวุธอยู่เสมอ
พื้นที่แถบชายแดนไทย-มาเลเซียที่ติดกับรัฐกลันตันและทางตอนเหนือของรัฐปะลิส รัฐเกดะห์ (หรือไทรบุรี) และรัฐเประ เป็นทางผ่านแดนผู้ลักลอบขนอาวุธและยาเสพติดนิยมใช้แห่งหนึ่ง
แถมท้ายอีก 1 ประเทศเพื่อนบ้านครับ…สิงคโปร์ อาจเป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดที่สุดในโลก หากต้องการเป็นเจ้าของปืน คุณต้องเป็นสมาชิกของชมรมยิงปืนและจะต้องฝากปืนไว้ที่ชมรม ประชาชนทั่วไปห้ามมีปืนไว้ที่บ้าน ใบอนุญาตจะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น คุณต้องกรอกแบบฟอร์มเหล่านี้ทุกปี
ประเทศที่ยังมีอาวุธสงครามในมือคนร้าย ก็จะยังคงมีสงครามต่อไป ในอาเซียนมีประเทศใดบ้างที่ยังคงมีอยู่…?