สะพานแห่งกาลเวลา : กล้ามเนื้อกับแรงโน้มถ่วง

สะพานแห่งกาลเวลา : กล้ามเนื้อกับแรงโน้มถ่วง

ในที่สุด นักบินอวกาศ 2 รายของสหรัฐอเมริกาที่ไปติดค้างอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) อยู่นานถึง 9 เดือน แบบนอกเหนือความคาดหมาย ก็สามารถเดินทางกลับสู่โลกได้อีกครั้ง เมื่อ 19 มีนาคมที่ผ่านมา โดยอาศัยยานดรากอน แคปซูล ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งลงจอดในท้องทะเลนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา โดยสวัสดิภาพ

ซูนิตา วิลเลียมส์ กับ แบร์รี วิลมอร์ สองนักบินอวกาศอเมริกัน ปรากฏตัวออกมาในสภาพอิดโรย เหนื่อยอ่อน วิลเลียมส์ ซึ่งอายุ 59 ปี ยิ้มแย้มให้กับการต้อนรับ ยกมือขวาขึ้นโบกให้กับกล้องและบรรดาผู้ที่มาแสดงความยินดีในการเดินทางกลับบ้าน และแม้ทาง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ไม่ได้แจกแจงอะไรเกี่ยวกับสภาพร่างกายของคนทั้งสอง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่จับตาดูอยู่ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสองคนอาจมีปัญหาสุขภาพจากการติดอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงยาวนานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของวิลเลียมส์ เพราะมือของเธอหลังจากที่ยกขึ้นโบกแล้วนั้น ตกกลับลงสู่ต้นขาขวาอย่างแรง แสดงให้เห็นว่า วิลเลียมส์อาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปมากมายในระหว่างที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่บนไอเอสเอสนานถึง 286 วัน

เหตุผลของบรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็คือ ภายใต้สภาพไร้แรงโน้มถ่วง กล้ามเนื้อของคนเราจะทำงานลดน้อยลง ต่างจากตอนอยู่บนพื้นโลก ที่เราต้องใช้กล้ามเนื้อเพื่อต่อต้านกับแรงโน้มถ่วงทุกครั้งที่เคลื่อนไหว เมื่อการใช้งานกล้ามเนื้อหายไปเป็นเวลานาน มวลของกล้ามเนื้อก็จะหายตามไปด้วย ผลก็คือ ร่างกายจะผ่ายผอม กล้ามเนื้อจะลีบเล็กลง

ADVERTISMENT

นายแพทย์ สแตนตัน เกอร์สัน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นสตรี ดูจะผอมลงมากกว่าเพื่อนนักบินอวกาศที่เป็นผู้ชายอย่าง วิลมอร์ และถ้าให้คาดการณ์ก็คงบอกได้ว่า วิลเลียมส์น่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศครั้งนี้ มากกว่าที่เกิดขึ้นกับวิลมอร์ ด้วยสาเหตุง่ายๆ ก็คือ ผู้ชายโดยทั่วไปมักจะมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง เมื่อเกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปส่วนหนึ่ง จึงยังแข็งแรงกว่าผู้หญิงอยู่ดี เกอร์สัน เชื่อว่า วิลเลียมส์
ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ประคองขึ้นนอนบนเปลเข็นเพื่อนำตัวออกมานั้น แม้จะยืนขึ้นนิ่งๆ คงทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป

เกอร์สันอธิบายว่า การรักษามวลกล้ามเนื้อให้คงที่ขณะใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศที่ไร้แรงโน้มถ่วงนั้นยากลำบากมาก ด้วยเหตุที่ว่า มวลกล้ามเนื้อไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างขณะเคลื่อนไหว แม้ว่าเราจะออกกำลังกายอยู่ก็ตาม เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงคอยดึงคอยต้านให้กล้ามเนื้อยึดเหยียด หรือเหยียดตึงเหมือนตอนออกกำลังกายบนพื้นโลก แต่โดยรวมแล้ว สัดส่วนของมวลกล้ามเนื้อที่สูญหายไปของนักบินอวกาศมักอยู่ในระดับไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และสามารถฟื้นฟูสภาพให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

ADVERTISMENT

สภาพร่างกายของ ซูนิตา วิลเลียมส์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่สุดของนักบินอวกาศที่ออกเดินทางหรือไปใช้ชีวิตในอวกาศเป็นเวลานานต้องเผชิญ ตามข้อมูลของนาซา คือการเสียมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง นักบินอวกาศจำเป็นต้องใช้ชีวิตในสภาพลอยไปมาอยู่ทั้งภายในตัวยานในยามปกติ หรือแม้แต่ในห้วงอวกาศเมื่อต้องออกไปปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศก็ตามที

นอกจากนั้น ในสภาพที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงของโลก กระดูกของคนเราซึ่งเป็นโครงยึดเกาะของกล้ามเนื้อก็จะสูญเสียแร่ธาตุในตัวเองออกไปทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลงจากเดิมราว 1 เปอร์เซ็นต์ ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลของนาซายังระบุเอาไว้ด้วยว่า นักบินอวกาศบางรายอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเร็วกว่ารายอื่นๆ เพราะไม่ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร เพราะทั้งสองอย่างนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นบนพื้นโลก

ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลของนาซายังระบุเอาไว้ด้วยว่า มนุษย์ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการไหลเวียนของเลือดและของเหลวซึ่งสมองและไขสันหลังใช้ร่วมกันที่แพทย์เรียกว่า เซเรโบรสไปนัล ฟลูอิด (cerebrospinal) จากส่วนล่างของร่างกายไปสู่อวัยวะตอนบนของร่างกายอย่าง ศีรษะและดวงตา ผลก็คือ อาจทำให้โครงสร้างของสมองและตาของ มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมทุกครั้งที่นักบินอวกาศเดินทางกลับจากการใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศกลับมาสู่พื้นโลก ทุกคนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินและวิเคราะห์สภาพของร่างกาย สำหรับนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดรูปแบบและวิธีการฟื้นฟูร่างกายของแต่ละคนทุกครั้งไปนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image