ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
---|
ในสังคมไทยมีการพูดถึงการเปรียบเปรยว่า “มีช้างอยู่ในห้อง” กันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคำคำนี้เป็น “คำสแลงที่แสลง” พอสมควร ซึ่งความหมายของคำนี้เมื่อแปลจากภาษาต่างประเทศก็มาจากคำว่า “elephant in the room” โดยทั่วไปหมายถึง ปัญหา หรือประเด็นที่ทุกคนก็รู้/ตระหนักถึง แต่เลือกที่จะไม่พูดถึง
การใช้คำนี้ในทางหลักภาษาหมายถึงการอธิบายสถานการณ์ที่มีประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ความอึดอัด หรือตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้ทุกคนหลีกเลี่ยงอย่างจงใจที่จะไม่พูดถึง เพราะอาจนำไปสู่ความไม่สบายใจ ความอับอาย หรือความเดือดร้อน
ส่วนคำดังกล่าวจะลื่นไหลไปสู่การตีความ หรือนำมาใช้ในการ “พูดถึงสถานการณ์ที่ไม่ (ควร/กล้า) พูดถึง” เรื่องอะไร ระดับไหน ก็เป็นเรื่องที่ต้องลองทบทวนดูว่ามีใครใช้คำนี้ในเรื่องไหนมาแล้วบ้าง หรือกำลังจะใช้ในเรื่องไหน
ผมมาสะดุด หรือนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพูดถึงเรื่องช้างในห้องที่ผ่านมาในสังคมไทย (อย่างน้อย 2 เรื่อง) และไม่ได้อยากจะไปอยู่ในประเด็นว่าการใช้คำเปรียบเปรยนี้มันถูกต้องหรือไม่
เพราะคำเปรียบเปรยนั้นมีไว้เพื่อสร้างความแจ่มชัด/สีสัน (illuminate) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าถกเถียงกันว่ามันแปลอย่างตรงไปตรงมามากน้อยแค่ไหน
หมายถึงว่ามันไม่ได้หมายถึงคำจำกัดความ แต่มันเป็นคำเปรียบเปรยเพียงเท่านั้น (เปรียบเสมือน ไม่ใช่เท่ากับ อย่างตรงไปตรงมา)
ช้างเชือกที่สามที่ผมอยากจะกล่าวถึงเรียกว่า “ช้างเกเรที่ฟาดงวงฟาดงา” อยู่ตรงหน้าเรา คือช้างเห็นเรา และเราก็เห็นช้างนั่นแหละครับ
บางทีคำว่า “เกเร” อาจเป็นภาวะชั่วคราว มาจากการเลี้ยงดู (เช่น ช้างโทน ไม่เข้ากลุ่ม) จึงทำให้ช้างมีทัศนคติที่ไม่เป็นคุณกับการบริหารบ้านเมือง หรืออาจจะเป็นอาการโรคภัยไข้เจ็บคือเข้าขั้นตกมัน ซึ่งในระดับหนึ่งการตกมันของช้างมันอาจเป็นภาวะชั่วคราว หาสาเหตุเบื้องหลังไม่ได้
ผมเข้าใจเรื่องนี้มาจากการค้นหาความสัมพันธ์ของมิติทางการเมือง 3 เรื่องคือ ความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤต หรือความถดถอยของภาวะผู้นำ (ทางการเมือง) ความชอบธรรมทางการเมือง การบริหาร และสภาวะรัฐที่ล้มเหลว (failed state)
เรื่องนี้อาจไม่ใช่ว่าเราฟันธงว่าสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นจากบ้านเราถึงขั้นไหนแล้ว แต่ถ้าพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้จะพบว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญต่อความชอบธรรมของรัฐบาล และความชอบธรรมของระบอบการเมือง และถ้ามันลดลง ถดถอย หรือเปราะบาง มันก็มีผลต่อความล้มเหลวของรัฐได้
เมื่อพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้นำที่ขาดภาวะผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ไม่มีความสามารถ หรือไม่เก่ง
งานหลายชิ้นและในหลายสถานการณ์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ภาวะผู้นำทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งที่ไม่พาให้รัฐบาลและระบอบการเมืองมีความชอบธรรมที่ถดถอยลงมาจากเรื่องของ “ทัศนคติของตัวผู้นำเอง”
ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความสามารถ
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผู้นำจะต้องมีทัศนคติที่นำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง/เปลี่ยนผ่านที่ดีขึ้น (transformative attitude) ไม่ใช่การปะฉะดะตลอดเวลา หรือมองความเห็นต่างๆมาจากฝั่งตรงข้าม
กล่าวอีกอย่างหนึ่งเรื่องของทัศนคติเหล่านี้มันจะแสดงออกจากการสื่อสารเป็นเบื้องแรก มากกว่าเรื่องของนโยบาย โครงการ หรือแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในความเป็นจริงเราย่อมละเลยไม่ได้หรอกว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับผู้นำทางการเมืองก็อาจจะไม่ได้มีทัศนคติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก หรือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน
แต่กระนั้นก็ตาม ภาระสำคัญของการเป็นผู้นำทางการเมืองที่จะไม่นำสังคมการเมืองไปสู่ภาวะถดถอย และสุดท้ายเกิดสภาวะรัฐล้มเหลวมันก็อยู่บนบ่าของผู้นำรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย
วิกฤตของภาวะผู้นำในเรื่องนี้บ่อยครั้งเกิดจากการปะทะกับศัตรูทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง และความล้มเหลวของการสื่อสารกับประชาชน (บางครั้งก็เกิดจากการช่วยสื่อสารมากจนเกินไปของฝ่ายเดียวกัน)
บ่อยครั้งการแก้ปัญหาจากวิกฤต หรือปัญหา หรือความท้าทายทางการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลจึงกลายเป็นเรื่องของการหันไปใช้แทคติคที่ใช้อำนาจนิยมมากกว่าใช้การสร้างฉันทามติ เช่น เสียงฉันมากกว่า หรือตีความกฎหมายจากมุมว่าฉันมีอำนาจใช้กฎหมาย เพราะฉันมาจากเสียงข้างมาก (ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางในเรื่องความชอบธรรมได้ ถ้าไม่ตรงกับความเห็นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงข้างมาก แต่อาจเป็นเสียงข้างน้อยที่เข้มข้น และมีเครือข่ายที่หนาแน่น ทรงพลัง)
รวมไปถึงการตัดสินใจของรัฐบาลในหลายเรื่องเริ่มเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ทบท่วมทวีมากขึ้น บางกรณีพวกเดียวกันมาก่อนก็ลดลง ถอยออกมาหรืออาจจะถูกผลักออกมา และยิ่งถ้าตามด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจากการทำงานตามนโยบาย โครงการและแผนลดลง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน
วิกฤตภาวะผู้นำก็จะเข้าสู่สภาวะของการถดถอยลงของความชอบธรรมของรัฐบาล และอาจไปสู่การถดถอยลงของระบอบการเมือง
ตรงนี้ต้องขยายความเพิ่มในความหมายที่ว่า หลายเรื่องวิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาลเพียงอยู่ในระดับที่เปลี่ยนตัวผู้นำ แต่ยังอยู่ในระบอบเดิม เช่น ปรับ ครม. เปลี่ยนตัวนายกฯ หรือกระทั่งเลือกตั้งใหม่
แต่ถ้ามันลามไปถึงวิกฤตของความถดถอยทางการเมืองขั้นระบอบการเมือง หมายถึงว่า การเมืองพร้อมจะเปลี่ยนระบอบคือ ยืนดูการฉีกรัฐธรรมนูญหน้าตาเฉย และเปลี่ยนคนนอกเกม นอกกติกามาเล่นแทนเลย จากประชาธิปไตยเลือกตั้งไปเป็นรัฐประหาร
ลามไปกว่านั้น มันเคยไปถึงขั้นเปลี่ยนรูปแบบรัฐที่มากกว่าการผลัดกันระหว่างการเลือกตั้งกับทหาร ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบอื่นๆ หรือไปถึงขั้นประเทศถูกยึดครอง หรือหายไปเลยในท้ายที่สุด
กระบวนการถดถอย (หมายถึงมากกว่าลดลงเล็กน้อยในแต่ละปี แต่ลดลงในระยะยาว และมีผลต่อโครงสร้างและคุณภาพ) หมายถึงตัวผู้นำ รัฐบาล สถาบันทางการเมือง และระบอบการเมืองโดยรวมถูกมองว่าไม่มีเครดิตเหลือ คือไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งมาจากเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น การทำนโยบายที่สัญญาไว้ไม่สำเร็จ ผลงานการแก้ปัญหาไม่เป็นชิ้นเป็นอัน กระบวนการตัดสินใจที่เชื่อมโยงกับความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เริ่มไม่ได้รับการยอมรับว่ายุติธรรม (ต่างจากถูกกฎหมาย) นำไปสู่การลดลงของความไว้วางใจต่อรัฐบาล และระบอบการเมือง
หรือกรณีที่ประชาชนเชื่อว่าการตัดสินใจต่างๆ เอื้อคนบางกลุ่มมากกว่าคนกลุ่มอื่น หรือคนกลุ่มใหญ่ และมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาล
ความถดถอยในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้ประชาชนถอยห่าง หรือลดการยอมรับ ปฏิบัติตามรัฐบาล หรือเชื่อมั่นรัฐบาลน้อยลง หันไปเชื่อตัวแสดงทางการเมืองอื่นเพิ่มขึ้น หรือไม่เชื่ออะไรเลย และไม่พร้อมจะร่วมมือร่วมใจในการอดทน หรือแก้ปัญหาอะไรกับรัฐบาล และระบอบการเมือง
ความล้มเหลวของรัฐซึ่งอาจจะมองว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การที่สถาบันทางการเมืองหลายสถาบันเริ่มไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน หรือมีผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ระบบราชการ ระบบความยุติธรรม ประชาชนเริ่มรู้สึกพึ่งไม่ได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนลดลง (บางทีไม่ใช่รัฐทำไม่ได้ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งเครือข่ายอาชญากรรมเสียเอง) และเกิดความถดถอย หรืออัมพาตทางเศรษฐกิจจากการคอร์รัปชั่น หรือความถดถอยในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมกัน และความเสื่อมถอยของคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มากกว่าถนนและเทคโนโลยี แต่อาจหมายถึงทุนมนุษย์
ความล้มเหลวของรัฐทำให้ยากต่อการจะรื้อฟื้นให้วันชื่นคืนสุขกลับมาอีกครั้ง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ไม่ได้ง่ายๆ แค่เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาที่เดิม แต่อาจจะแย่ลงเรื่อยๆ ตกอันดับโลก ถูกลืม หรือโอกาสของคนข้างล่างยากขึ้น ส่วนคนรวยมากก็เอาตัวรอดได้ คนชั้นกลางๆ ก็ตกอยู่ในกับดักหนี้ (เรื่องนี้อาจจะใหญ่กว่าเรื่องกับดักรายได้ปานกลางในระดับประเทศ)
และทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจลามไปถึงขั้นสงครามกลางเมืองได้เมื่อมีหลายเงื่อนไขบรรจบกัน
เรื่องที่เขียนมาไม่ได้อยากจะกระทบกระเทียบอะไร แต่อยากจะเปิดเผยเบื้องหลังนิดนึงว่า แนวคิดเรื่องช้างที่ฟาดงวงฟาดงาไปเรื่อยนี่ มันมาจากการอ่านงานเกี่ยวกับรัฐล้มเหลวในการเมืองไนจีเรียเมื่อทศวรรษที่แล้ว ที่ผู้นำและชนชั้นนำใช้เงื่อนไขการเลือกตั้งเข้ามาละเมิดอำนาจประชาชน และส่งผลระยะยาวให้กับความชอบธรรมของรัฐบาล และระบบการเมืองจนทำให้รัฐไนจีเรียเข้าข่ายรัฐที่ล้มเหลว
มีการพูดกันว่าการเมืองไนจีเรียเหมือนโรงละครแห่งการเกเรและความพาลที่มีเงื่อนไขพันธสัญญา (theatre of indentured roguery) คือพวกพาล พวกคนเกเร พวกโกงนั้น ใช้เงื่อนไขการเลือกตั้งเข้ามาอ้างว่ามาจากประชาชน และก็มองว่านี่คือระยะเวลาที่จะทำอะไรก็ได้ แล้วก็กลับไปเลือกตั้งใหม่ แล้วเป็นการเลือกตั้งที่ตนได้เปรียบอีก และทำลายภาพรวมของประชาธิปไตย
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การโกง แต่ประเด็นอยู่ที่ทัศนคติว่าสิ่งนี้ทำได้ และมองว่าประชาชนเป็นฐานให้กับพวกเขาในการเข้ามาได้ และทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากสาธารณะมันลดลงเรื่อยๆ (ดูที่ U.I. Agbor 2012. Leadership Behaviour And The Crises Of State Failure In Nigeria:Towards A Transformational Leadership Attitude for Addressing Nigeria’s Failing State. Public Policy and Administration Research. 2(4): 24-37)
ประเด็นที่มองว่ามันเกี่ยวกับช้างก็คือ ในการแปลคำว่า roguery มันมีคำที่มาจากคำว่าช้างโทน หรือช้างเกเร (rogue elephant) แต่คำว่า indentured มันหมายถึงมีพันธะ สัญญา คือแปลตรงๆ คือ คน หรือพฤติกรรมเกเร พาล ที่อ้างว่าทำได้ตามพันธสัญญาที่ได้รับมา (จากประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง)
เขียนไปถอนหายใจไป และการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เข้าวันที่ 2 แล้วครับ
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์