ผู้เขียน | โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ |
---|
หากจะกล่าวถึงหลักประกันที่สำคัญที่สุดของสันติภาพระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 20 และ 21 ไม่มีหลักการใดโดดเด่นเท่ากับ “มาตรา 2.4 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ” ซึ่งเป็นรากฐานของระเบียบโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาตรานี้ระบุไว้อย่างหนักแน่นว่า
“รัฐสมาชิกทั้งหลายจะต้องงดเว้นจากการขู่เข็ญด้วยกำลัง หรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใด หรือในลักษณะอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของสหประชาชาติ”
ประโยคสั้นๆ นี้คือกำแพงขวางกั้นการก่อสงครามเพื่อยึดครองดินแดนโดยอ้างสิทธิแห่งจักรวรรดินิยมเช่นในยุคก่อนสงครามโลก การห้ามการรุกรานโดยรัฐหนึ่งต่ออีกรัฐหนึ่งกลายเป็นหลักการสากลที่ไม่มีใครกล้าละเมิดอย่างเปิดเผยตลอด 80 ปีที่ผ่านมา แม้โลกจะมิได้สงบอย่างไร้เสียงปืน แต่ความพยายามยึดครองดินแดนของประเทศหนึ่งโดยอีกประเทศหนึ่งได้กลายเป็นข้อห้ามขั้นพื้นฐานในระเบียบโลก และในกรณีที่มีการฝ่าฝืน เช่น อิรักรุกรานคูเวตใน พ.ศ.2533 ประชาคมโลกก็ตอบโต้ด้วยความเป็นเอกภาพในการผลักดันให้อิรักต้องถอนกำลัง
ทว่า ในศตวรรษที่ 21 ระเบียบโลกนี้เริ่มเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อสหพันธรัฐรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน ได้รุกรานยูเครนใน พ.ศ.2557 และอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบใน พ.ศ.2565 โดยเฉพาะในกรณีของไครเมียและดอนบาส ซึ่งรัสเซียได้พยายามผนวกดินแดนอย่างโจ่งแจ้งนับเป็นการละเมิดมาตรา 2.4 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดแจ้งที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
และบัดนี้ อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งต่อการคงไว้ซึ่งหลักการนี้ก็คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับแนวคิดที่ว่า การเจรจาสันติภาพ คือการให้ยูเครนยอมเสียดินแดนแก่รัสเซียเพื่อแลกกับการยุติสงคราม
นี่อาจเป็นการบ่อนทำลายมาตรา 2.4 อย่างถึงรากถึงแก่น และอาจนำโลกกลับสู่ยุคแห่งอภิมหาอำนาจที่ถือว่าอาวุธกำหนดเขตแดนได้
หากใครเคยอ่านกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ.2488 แล้วนึกว่าเป็นเพียงวรรณกรรมเพื่อศีลธรรมโลกคงเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะในความจริงแล้วมันคือสัญญาเลือดระหว่างประเทศที่เอียนกับความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในมาตรา 2.4 ที่กล่าวไว้ชัดเจนถึงการห้ามใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงเขตแดนของรัฐอื่น มันไม่ใช่เพียงคำสวยหรู แต่มันคือ “หลักการอารยธรรมของยุคหลังสงครามโลก” ที่ห้ามโลกย้อนกลับไปสู่ยุคที่ใครมีกำลังก็ลากเส้นแผนที่ใหม่ได้ตามอำเภอใจ
แต่น่าเศร้า โลกใน พ.ศ.2568 กำลังย้อนกลับไปสู่ยุคอนาธิปไตยภายใต้คำว่าข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งแปลตามภาษาชาวบ้านได้ว่า “ยอมเสียดินแดนให้ผู้รุกรานเถอะ จะได้จบๆ ไป”
ใครคือต้นทางของแนวคิดนี้เล่า คนผู้นั้นก็คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง
สิ่งที่อันตรายที่สุดไม่ใช่ปืนหรืออาวุธของปูติน แต่คือแนวคิดของทรัมป์ ที่เชื่อว่าสันติภาพมาจากการประนีประนอมกับคนที่เอาปืนจี้หัวคุณ ในเมื่อยูเครนถูกรัสเซียยึดไครเมียไปแล้วใน พ.ศ.2557 และรุกรานเต็มรูปแบบใน พ.ศ.2565 พร้อมผนวกดินแดนอย่างหน้าด้าน แต่ทรัมป์กลับบอกว่า
“ให้ยูเครนยอมเสียดินแดนซะ จะได้หยุดสงคราม”
ฟังดูคล้ายสนธิสัญญามิวนิก พ.ศ.2483 ที่อังกฤษกับฝรั่งเศสยอมยกเช็กโกสโลวาเกียให้ฮิตเลอร์เพื่อแลกกับสันติภาพ
ผลลัพธ์คืออะไร? ฮิตเลอร์ยึดโปแลนด์ถัดมาไม่ถึงปี โลกเข้าสู่สงครามครั้งใหม่ และผู้เขียนก็เชื่อว่าถ้ายูเครนยอมเสียดินแดนวันนี้ ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์จะเป็นรายต่อไป
สันติภาพที่แลกมาด้วยการยอมศิโรราบ คือการฆ่ากฎหมายระหว่างประเทศ
มาตรา 2.4 คือหัวใจของกฎหมายระหว่างประเทศยุคใหม่ เพราะมันปิดประตูให้กับการรุกรานอธิปไตยของชาติอื่นผ่านกำลังอาวุธ หากหลักการนี้พัง โลกทั้งใบก็จะกลับไปอยู่ใต้ระเบียบแบบจักรวรรดินิยมแบบใหม่ (neoimperialism) ที่มีหน้ากากประชาธิปไตยปิดบังไว้
เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สหรัฐอเมริกา กลับลำสนับสนุนข้อตกลงยกดินแดนให้รัสเซีย โลกจะได้บทเรียนอะไร?
นับแต่ พ.ศ.2488 เป็นต้นมา มีไม่กี่ครั้งที่ประเทศหนึ่งจะพยายามเปลี่ยนเขตแดนของอีกประเทศหนึ่งผ่านการรุกรานแบบเปิดเผย หนล่าสุดที่โลกตบโต๊ะร่วมกันคือกรณีอิรักบุกคูเวตใน พ.ศ.2533 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในการขับไล่อิรักออกจากคูเวต แต่เหตุการณ์ในยูเครนกลับตรงกันข้ามเพราะไม่ใช่แค่ไม่มีใครขับรัสเซียออกจากไครเมีย ยังมีผู้นำบางคนเสนอว่า ให้ยูเครนยกไครเมียให้เลยหากรัสเซียรุกรานสำเร็จด้วยการเจรจาแบบทรัมป์ โลกนี้จะไม่มีรัฐเล็กใดปลอดภัยอีกต่อไป อย่าลืมว่าทรัมป์ไม่ได้สนใจหลักการสากลใดๆ เขาสนใจเพียงคะแนนนิยมในประเทศ และความโชว์แมนของการเป็นผู้หยุดสงคราม
แต่การหยุดสงครามแบบขายศักดิ์ศรีของชาติเล็กให้มหาอำนาจ ย่อมไม่ใช่สันติภาพ แต่มันคือยาพิษที่เคลือบน้ำตาล และนั่นคือความอันตรายของผู้นำที่ไม่รู้จักคุณค่าของระเบียบโลก แต่สนใจเพียงการโชว์ว่าตนเองสามารถทำข้อตกลงได้
ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในสมรภูมิยูเครน แต่ถ้ามาตรา 2.4 ถูกทำให้เสื่อมถอยด้วยน้ำมือของทรัมป์ แล้วในวันหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านมีรัฐบาลสายแข็งต้องการฟื้นอาณาเขตทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา เราจะไปอ้างกฎอะไรได้เล่า
ระเบียบโลกมันไม่ได้มีไว้เพราะโลกดี แต่มันมีไว้เพราะโลกชั่ว และเราต้องการหลักการไว้คานความชั่วนั้น หากเราเผากฎนั้นทิ้งเอง แล้วใครจะเป็นหลักประกันให้ชาติเล็กอยู่อย่างปลอดภัย
ทรัมป์กลับมาพร้อมแนวคิด “ยอมเพื่อจบ” โลกจะไม่ได้สงบขึ้นหรอกครับ แต่มันจะร้อนระอุด้วยผู้รุกรานใหม่ๆ ที่มองเห็นสัญญาณว่า “การใช้กำลังแล้วได้ผล” คือกลยุทธ์ที่ได้ผล มาตรา 2.4 ต้องเป็นหลักการที่เราไม่มีวันยอมถอย เพราะถ้าโลกถอยจากตรงนี้ ต่อไปอาจไม่มีโลกให้ถอยอีกแล้ว