ภาพเก่าเล่าตำนาน : ย้อนรำลึกถึง…ยุทธการใต้ร่มเย็น

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ย้อนรำลึกถึง…ยุทธการใต้ร่มเย็น

ช่วงนี้…ผู้เขียนต้องเดินทางไปราชการภาคใต้บ่อยครั้ง นั่งเครื่องบินแบบโลว์คอสต์ราว 1 ชั่วโมงเศษๆ ก็ไปถึง “ใต้สุดในสยาม” ได้มีสนามบินหลายจังหวัดในภาคใต้แสนสะดวกสบาย มีเที่ยวบินแทบจะทุกชั่วโมง หลากหลายยี่ห้อ

สนามบินดอนเมืองคราคร่ำไปด้วยรถที่มารับ-ส่ง ในอาคารผู้โดยสารก็หนาตาด้วยผู้คนที่มาใช้บริการ

ที่ประจักษ์ชัดคือ ผู้โดยสารเต็มลำทุกครั้ง ไม่ว่าออกจากกรุงเทพฯ หรือกลับเข้ากรุงเทพฯ (ดอนเมือง)

ADVERTISMENT

อากาศยานทั้งหลาย…เมื่อลงจอด… ผู้โดยสารจะทยอยออกจากเครื่อง ใช้เวลาทำความสะอาดในเครื่องอย่างเร็ว รีบเติมน้ำมัน นำของเสียในห้องน้ำออกทางท่อ พร้อมกับประกาศเรียกผู้โดยสารใหม่เดินเข้าไปแทนที่ ทำงานกันแบบ “นาทีต่อนาที”

การจัดวางที่นั่งบนเครื่องบินแบบไหล่ชนไหล่ เข่าชนพนัก เน้นปริมาณผู้โดยสารต่อเที่ยว ก็พอเข้าใจได้ว่า…ถ้าใช้เงินเท่านี้ ก็นั่งแบบนี้

ADVERTISMENT

หลายทศวรรษที่ผ่านมา…ธุรกิจการบินพาณิชย์ในประเทศไทยรุ่งโรจน์ ร่ำรวย ทำกำไรอย่างน่าปลื้ม เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางที่มาอันดับต้นๆ คนไทย ชาวต่างชาติ ระคนกันไป แต่งตัวกันตามสบาย แฟชั่นยอดนิยมคือชาย-หญิงนุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อยืด ที่น่าจะเป็นชุดเดียวกับชุดนอนที่บ้าน

ที่โดดเด่นคือ ผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยใส่รองเท้าแตะทำให้ดูสบายตา เป็นกันเอง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally friendly)

ก็ไม่บ่อยนัก…สำหรับการเดินทางของผู้เขียนที่ประสบกับความโชคร้าย คือการไปนั่งติดกับคนที่ไอเรื้อรัง คนที่ไอลึก ไอถี่ๆ ที่แสนจะน่ารังเกียจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหลบไปนั่งตรงไหน

ผู้โดยสารจำนวนมาก รัก ห่วง หวงสัมภาระที่พยายามจะนำติดตัวขึ้นมาเก็บไว้ในช่องเก็บของเหนือศีรษะให้มากที่สุด ถึงแม้จะมีระเบียบแต่ก็ขอนำติดตัวแบบเต็มพิกัด เมื่อจะต้องเสียบเข้าไปในช่องเก็บเหนือหัว สิ่งของจึง “ล้น-แน่น”

ผู้เขียนไปเงอะงะ ใช้เวลาพอสมควรกับ “ระบบจำใบหน้า” ในสนามบินที่ทำงานได้ดี ลดเวลาการตรวจด้วยตัวบุคคลได้ไม่น้อย บัตรประชาชนใบเดียวก็ไหลลื่น ทันสมัย

ขอนำเข้าสู่ประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ครับ…

สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีก 4 อำเภอใน จ.สงขลา ในช่วงเดือนถือศีลอด หรือรอมฎอน 2568 (ราว 30 วัน) ถือว่ายังรุนแรง มีการวางระเบิดสังหาร ลอบยิงเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 21 ปี ที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขกันต่อไป…

มีประวัติศาสตร์ช่วงใดที่ถือว่าภาคใต้ร่มเย็น-เป็นสุข

ลองย้อนไปดูนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ของ “พล.อ. หาญ ลีนานนท์” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ครับ

“ผมจะไปแก้ปัญหาภาคใต้ และขอให้ความมั่นใจกับทุกๆ คนว่า เมื่อผมมารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ผมจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เราต้องรวมกันได้ ราษฎรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะต้องหาทางแก้ไข ปัญหาผู้มีอิทธิพลต้องหาข้อมูลว่าอะไรเป็นเงื่อนไขการแตกแยกของคนไทยมุสลิมและไทยพุทธ เราต้องขจัดออกไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและมาเลเซียจะต้องยกระดับอันดีต่อกัน…”

แม่ทัพหาญนับเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นผู้ร่วมร่างคำสั่ง 66/2523 ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ปัญหาภาคใต้นั้นมีมานานแล้ว เกิดขึ้นมาก่อนปี 2547 ในยุคสงครามก่อการร้ายรายวัน โดยในยุคก่อนนั้นเป็นปัญหาผสมกันทั้งเรื่องผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

พล.อ.หาญ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “แม่ทัพหาญ” เข้าดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2524 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2526 และเป็นเจ้าของนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ที่ทำให้ไฟใต้มอดดับลงเกือบจะยั่งยืน

นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เป็นมาตรการที่รัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4 ในยุคนั้นนำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยปราบปรามกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในนามผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน (ขจก.) โจรคอมมิวนิสต์มาลายา และกลุ่มโจรต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ช่วงปี 2524-2527

นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เป็นส่วนหนึ่งของ “นโยบาย 66/2523” (เรียกกันติดปากว่า 66/23) เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ “รุกทางการเมือง” โดยให้งานการทหารสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองจนกลายเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ที่ทำให้ประเทศไทยเอาชนะภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ได้อย่างเด็ดขาด

“ใต้ร่มเย็น” พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้แบบกระชับ มีเอกภาพในการทำงานของแม่ทัพภาคที่ 4 สามารถสลายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ดีขึ้น

นโยบายใต้ร่มเย็น ใครทำอะไร…

1.สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าพี่น้องไทยพุทธหรือมุสลิมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกำลังของรัฐบาลให้ปลอดภัยจากการคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาและกลุ่มโจรต่างๆ

2.ทำพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสถาปนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น และยกระดับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทย-มาเลเซียให้สูงขึ้น

3.กำจัดอำนาจเผด็จการ อิทธิพล และอำนาจมืดที่ครอบงำบรรยากาศอยู่ทั่วไปหมดสิ้นโดยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4.สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองกับราษฎรผู้ถูกปกครอง และขจัดความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรให้หมดสิ้นไป ขณะเดียวกันการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบาย
ใต้ร่มเย็น กองทัพภาคที่ 4 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้ดำเนินการต่างๆ เป็นต้นว่า การสร้างสภาพความชอบธรรม การสร้างความกดดันทางสังคม การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง การระดมพลังประชาชน และการขยายพิสัยแห่งอำนาจ

งานยุทธการเข้มข้น เข้มแข็ง

กองทัพภาคที่ 4 ทำแผนปฏิบัติการทางทหารในการกดดันทำลายฐานที่มั่นและกองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ …อาทิ

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 9 หรือที่เรียกกันว่า ยุทธการช่องช้าง หรือ “แผนยุทธการค่าย 508” เพื่อดำเนินงานปราบปรามและทำลายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์สาขาภาคใต้ ในเขต 508 หรือเขตงานเขาช่องช้าง ที่เป็นป่ารกทึบ

ในอดีตเขาช่องช้างเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน

พ.ศ.2508 ทหาร-ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง-ประชาชน เคยเข้าทำการปราบปราม แต่ยากต่อการเข้าสู่พื้นที่ ทำให้กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเติบโตขึ้นกว่าเดิมมาก

พ.ศ.2514-2516 กองทัพภาคที่ 4 จัดกำลังเข้าปราบปรามอย่างหนักและต่อเนื่อง แต่สภาพพื้นที่เป็นอุปสรรค ทำให้การปราบปรามไม่ได้ผลเต็มที่ทำให้หมู่บ้านช่องช้างกลายเป็นหมู่บ้านปิด เป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่ง อยู่ในอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเหตุการณ์ต่อสู้ที่สำคัญหลายครั้ง

16 กุมภาพันธ์ 2520 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตถูกลอบยิงปลงพระชนม์ขณะประทับอยู่บนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์

เหตุการณ์สังหารรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายสวัสดิ์ พันธ์เกษม)

พ.ศ.2520 เกิดเหตุปล้นรถทัวร์ที่สถานีพุนพิน สุราษฎร์ธานี ทำให้ราษฎรใน จ.สุราษฎร์ ขวัญเสีย หวาดผวา เสี่ยงต่อความตาย

พล.ท.หาญ ลีนานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้ใช้แผนปฏิบัติการ “ใต้ร่มเย็น” เข้าปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใน จ.สุราษฎร์ธานี

16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 กำลังจากกองทัพภาคที่ 4 เข้ากวาดล้างแบบปูพรม ในครั้งนั้นใช้เวลาเพียง 10 วัน ก็เข้ายึดที่มั่นได้หลายแห่ง และใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน ในการเคลียร์พื้นที่และยึดค่ายใหญ่ๆ ได้สำเร็จ อาทิ ค่าย นปถ.508 ค่าย 511 และค่ายบริวารต่างๆ

1 มิถุนายน พ.ศ.2525 ทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนเข้าไปประกอบอาชีพในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเดิมได้ต่อไปตามปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 11 เข้าปราบปรามเพื่อทำลายฐานที่มั่นและกองกำลังของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยในเขตงานตรัง พัทลุง สตูล ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์ มลายา และขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน ซึ่งปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 13 ซึ่งเป็นยุทธการต่อเนื่องจากยุทธการใต้ร่มเย็น 9 ปราบปรามและทำลายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ที่หลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไปเขตรอยต่อของ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช

การดำเนินการ “ใต้ร่มเย็น” ทั้งทางการเมืองและการรุกทางการทหารตามแผนยุทธการต่างๆ สามารถปราบปรามยึดฐานที่มั่นของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสาขาภาคใต้ ขจัดอิทธิพลของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาและกลุ่มโจรก่อการร้ายต่างๆ
ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ผู้หลงผิดจำนวนมากเข้ามอบตัวในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

นี่คือผลงานและความสำเร็จของนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ภายใต้การผลักดัน ขับเคลื่อนของ “แม่ทัพหาญ” ทำให้ พล.อ.หาญ ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนใต้ เกิดที่ จ.สตูล

แถมท้ายครับ…พื้นที่ดังกล่าวปรับเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น มีพื้นที่ประมาณ 133,125 ไร่ ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.บ้านนาสาร อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดของผนังถ้ำต่างๆ และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หน้าผา ถ้ำ น้ำตก ตลอดจนมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์การสู้รบที่เหลืออยู่ เช่น ค่าย บังเกอร์ อุโมงค์ อุทยานแห่งชาติ

นายทหาร นายสิบ พลทหาร ทั้งหลายที่ปฏิบัติการ “ใต้ร่มเย็น” จำนวนมากยังคงมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นบรรพบุรุษของชาติที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สง่างาม

ความสำเร็จเริ่มต้นจาก ผู้นำ…

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image