ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
แผ่นดินไหว – แม้ว่าจะเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่าภัยพิบัติอย่าง “แผ่นดินไหว”นั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ยากต่อการแจ้งเตือนได้ในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ไม่เคยมีเหตุแผ่นดินไหวระดับร้ายแรงถึงขนาดสิ่งก่อสร้างเสียหายเช่นประเทศไทย
การเตือนเหตุแผ่นดินไหวหลังเหตุการณ์เกิดไปแล้วนานเท่าไร ประโยชน์และความจำเป็นย่อมน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นการเตือนอย่างเป็นทางการจากทางภาครัฐก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ว่าเหตุภัยพิบัติเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับนั้นอยู่ในความรู้เห็นและการจัดการของภาครัฐแล้ว
ถึงอย่างนั้น รัฐบาลก็พยายามแจ้งเตือนโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้ว ปรากฏหลักฐานตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. (กปภก) 0610/52 ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2568 เรียน เลขาธิการ กสทช. เรื่อง ขอส่งข้อความสั้น (SMS) เตือนประชาชน ลงนามโดย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมข้อความแจ้งเตือนที่ขอความร่วมมือให้ส่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายส่งให้ประชาชน ประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เขียนด้วย “เลขไทย” ตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ในขณะนั้น) ทั้งนี้ “…เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของประชาชนชาวไทยในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติ เพื่อมิให้วัฒนธรรมต่างชาติครอบงำ…”
เฉพาะการจะส่ง SMS ต้องมีหนังสือราชการลงนามโดยอธิบดี แถมให้ข้อมูลสำคัญและรีบด่วนด้วยเลขไทย ก็สร้างความอิหยังวะให้แก่ประชาชนพอสมควรแล้ว แต่ปัญหาของจริงที่ตามมาก็คือ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้มีข้อความใดๆ จากทางภาครัฐแจ้งส่งไปยังโทรศัพท์ของประชาชนตามหนังสือที่ว่าแต่อย่างใด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22-23 นาฬิกา ซึ่งเหลืออีกราวชั่วโมงกว่าๆ จะล่วงเข้าวันใหม่ จึงเริ่มมีผู้โชคดีได้รับข้อความที่ส่งมากันบ้าง แต่ก็เป็นข้อความที่นอกจากจะหมดความจำเป็นแล้วยังชวนเจ็บใจอีกต่างหาก
นำมาซึ่งเสียงก่นด่าของประชาชนเรื่องการขาดไร้และความล่าช้าในการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติจากทางภาครัฐ ที่แม้แต่ “นายกรัฐมนตรี” เองก็ออกมาแสดงความไม่พอใจจนถึงกับกล่าวว่า ตนสั่งการไปตั้งแต่บ่ายสองว่าให้ SMS แจ้งเตือนประชาชนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถส่งได้ตามระบบจนไม่ทราบว่ามันต้องทำตรงไหนเพิ่มเติมอีก เพราะขนาดมีการสั่งจากมหาดไทยและนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดในฝ่ายบริหารและปกครอง ก็ยังไม่สามารถทำได้ แล้วอย่างนี้จะต้องทำอย่างไรอีก
มีการตัดพ้อจากกรรมการ กสทช. ท่านหนึ่งทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตัวเองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเคยมีหนังสือสั่งการว่า หากกรรมการจะให้สำนักงานดำเนินการใด ต้องรอให้ “ประธาน กสทช.” มอบหมายเสียก่อน หาไม่แล้ว พนักงานผู้ฝ่าฝืนจะถือว่าผิดวินัย พร้อมด้วยภาพหนังสือบันทึกสั่งการภายในอีก 3-4 ฉบับ
เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจึงเหมือนการกะเทาะปูนให้เห็นรอยร้าวของ “ระบบราชการ” หรือที่บางคนเรียกว่า “รัฐราชการ” ที่แม้อาจจะทำให้ระบบทั้งหมดถึงกับพังลงมา แต่มันก็เป็นปัญหาจริงๆ
ในฐานะที่ทำงานราชการมานานก็ “พอจะเข้าใจ” ได้อยู่แหละว่าทำไมการส่งข้อความเตือนภัยถึงต้องมีหนังสือราชการลงนามโดยผู้มีอำนาจสั่งการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็เข้าใจ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ก็ได้ว่า ที่ติดนี่นั่นทำไม่ได้ก็เพราะต้องให้เป็นไปตามระเบียบเกี่ยวกับอำนาจบังคับบัญชา รวมถึงแน่นอนว่าเข้าใจถึงหลักกฎหมายมหาชนแม่บทที่สุดเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐที่ว่า “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ (รัฐ) ไว้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการที่เป็นการใช้อำนาจรัฐนั้นไม่ได้”
แต่การที่ต้องมี “กฎหมาย” ให้อำนาจไว้ ก็เป็นเรื่องที่แยกออกมาได้จาก “แบบพิธี” ในการใช้อำนาจนั้นได้ อีกทั้งหลัก “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ย่อมทำไม่ได้” มันก็ยังมีหลักย่อยของมันลงไปอีกด้วยว่า ในกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ในเรื่องใดอย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้าการที่จะกระทำการเพื่อให้บรรลุซึ่งการใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายนั้นได้สมประโยชน์โดยที่ไม่มีกฎหมายห้ามก็ย่อมทำได้
ดังนั้นหากเกิดเหตุภัยพิบัติใดๆ ที่จะต้องแจ้งเตือนในครั้งหน้า (โดยหวังว่าจะไม่มาถึงโดยเร็วจนเกินไป) ก็ขอให้การตัดสินใจแจ้งส่งข้อความนั้นอยู่ในรูปแบบที่กระชับและรวดเร็วที่สุดเท่าที่ยังชอบด้วยกฎหมาย โดยให้คนที่มีอำนาจในการขอออกข้อความแจ้งเตือนนั้นเป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดเหตุวิกฤตหรือภัยพิบัตินั้นเบื้องต้นที่สุดจะได้หรือไม่ อย่าให้ต้องถึงขนาดนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการเองหรือต้องทำหนังสือราชการเสนออธิบดีลงนามกันอีกเลย
อย่าลืมว่าในปัจจุบันแม้แต่การฟ้องคดีก็ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทุกศาลแล้ว เรื่องแค่การส่งข้อความนี้ก็น่าจะมีวิธีที่ทำได้ง่ายดายกว่าการสื่อสารผ่านทางหนังสือราชการ
อีกแห่งที่แรงแผ่นดินไหวได้กะเทาะปูนให้เห็นโครงสร้างอันแตกร้าวบิดเบี้ยว อยู่ที่จุดซึ่งความสูญเสียรุนแรงที่สุดในเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ คืออาคารซึ่งกำลังก่อสร้างเป็นที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ความสูง 29 ชั้น ได้ทรุดถล่มลงมาทั้งอาคาร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต สูญหาย และติดอยู่ใต้ซากอาคารหลายสิบคน
แน่นอนว่านี่เป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่น่าสลดโดยแท้ แต่เรื่องก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมาเนื่องจากว่า ตึกที่ถล่มลงมานั้นเป็นตึกของ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐแทบทุกหน่วย โดยเฉพาะหน่วยราชการระดับท้องถิ่น
เหตุที่ “สตง.” เป็นไม้เบื่อไม้เมากับหน่วยราชการต่างๆ อาจจะดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เมื่อฝ่ายที่เป็น “ผู้ตรวจสอบ” ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของ “ผู้รับตรวจสอบ” โดยธรรมดาอยู่แล้ว แต่เรื่องมันก็มีอะไรมากกว่านั้น เพราะถ้าใครว่างพอที่จะเข้าไปอ่านโพสต์ที่เพจของทาง สตง.เอง หรือสำนักข่าวที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็จะพบว่าบรรดาความเห็นที่ไป “ทัวร์ลง” ในโพสต์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว บางส่วนเป็นความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ผู้เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “สตง.” ในฐานะของผู้รับตรวจนั้นเกินระดับ “ไม่เป็นที่ชอบใจ” ไปแล้ว แต่อาจถึงขนาด “ดูหมิ่นเกลียดชัง” กันเลยทีเดียว
มันไม่ใช่เพราะว่าผู้มีประสบการณ์เหล่านั้นกระทำความผิดอะไรประเภททุจริตยักยอกเงินแผ่นดินหรือใช้เงินแผ่นดินไปในทางที่มิชอบ ก็เลย “ดูหมิ่นเกลียดชัง” สตง.ที่มาตรวจพบเปิดโปงก็หาไม่ แต่เป็นเพราะ “วัฒนธรรม” และ “แนวนโยบาย” ในการตรวจเงินแผ่นดินของ สตง.ที่หลายคนที่เคยมีประสบการณ์ลงความเห็นกันว่า เป็นไปโดยขาดความพยายามทำความเข้าใจและมุทิตาจิตหรือ Empathy กับฝ่ายผู้รับตรวจ มุ่งเน้นแต่ “ความคุ้มค่า” (ที่เป็นนามธรรมและอัตวิสัย) และ “ระเบียบที่เคร่งครัด” เกินไปจนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ตั้งใจทำงานโดยสุจริต แต่อาจจะ “ผิดวินัยการเงิน” อันเป็นเรื่องเชิงเทคนิคทางการเงินและกฎหมายไปบ้างนั้นต้องท้อถอยหรือรบกวนการปฏิบัติหน้าที่
บางกรณีการตรวจสอบของ สตง. เป็นการจับผิดหยุมหยิมกับระเบียบขั้นตอนเกินสมควร เช่นการดำเนินการไม่ตรงตามกรอบเวลา (ซึ่งกรอบเวลาของกฎหมายการใช้จ่ายภาครัฐนั้นมีระยะเวลาค่อนข้างสั้นระดับ 3 วัน 7 วัน ก็มี) หรือการไม่ได้ทำตามขั้นตอนบางอย่างที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญและไม่ปรากฏการทุจริตแต่ก็ถูกจี้ชี้ว่าผิด แม้แต่ที่ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง แต่เนื้อหาสาระของการใช้จ่ายเงินนั้นถูกฝ่าย สตง. “ตีความ” ว่าไม่ตรงกับเรื่องที่ของบประมาณไว้ หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะถูกมองว่าเป็นการใช้จ่ายเงินผิดประเภท ผู้ที่มีส่วนร่วมในการสั่งจ่ายเงินหรือได้รับเงินนั้นไปก็ต้องชดใช้เงินก้อนนั้นคืนให้ทางรัฐ
ในะยะหลัง สตง.ยังถูกครหาว่าก้าวล่วงเข้าไปในแดนการ “ตัดสินใจ” ในการใช้เงินงบประมาณแทนหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐผ่านการชี้ว่า การใช้จ่ายเงินหรือทำโครงการบางเรื่องนั้น เป็น “การใช้จ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่า” ทั้งที่การจะตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณดำเนินโครงการใดก็ควรเป็นอำนาจการตัดสินใจของหน่วยงานเจ้าของเรื่องหรือพื้นที่ รวมถึงการใช้เงินบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นได้หาเสียงไว้กับประชาชนว่าจะทำโครงการดังกล่าว จึงไม่ควรที่ สตง.จะสอดมือเข้ามาบอกว่ามันคุ้มค่าที่จะทำหรือใช้เงินนั้นหรือไม่ หากการใช้เงินนั้นยังเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะแม้แต่การใช้ “อำนาจตุลาการ” ของศาลก็ยังมีหลักการให้ฝ่ายตุลาการระวังอย่าทำตัวเป็น “ฝ่ายปกครอง” เสียเองด้วยการชี้ว่าฝ่ายหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นควรทำหรือไม่ควรทำอะไร นอกเหนือไปจากการพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ จะเห็นว่าศาลผู้ใช้อำนาจตุลาการเองยังจำกัดอำนาจตนเองในการตรวจสอบความเหมาะสมของการทำหรือไม่ทำอะไรของฝ่ายปกครอง แล้ว “อำนาจ สตง.” ที่เป็นอำนาจปกครองในทางตรวจสอบนั้นยิ่งใหญ่กว่าอำนาจตุลาการที่ว่านั้นเชียวหรือ
อีกทั้งหากไล่อ่านความเห็นชาวทัวร์ในข่าวเกี่ยวกับ สตง.ที่ว่า ก็จะพบว่าหลายคนประสบชะตากรรมจากการทำงานใน “ระบอบผู้ตรวจ” ของ สตง. จนบางคนเกือบป่วยจิตเวช มีที่เกือบลาออกจากราชการทั้งๆ ที่พวกเขาก็ไม่ได้ทำทุจริตประพฤติมิชอบหรือทำหน้าที่บกพร่องอะไรเลย แค่ทำผิดระเบียบขั้นตอนบางอย่างหรือตีความข้อกฎหมายไม่ตรงกับ สตง.ก็เท่านั้น บางรายถูกทักท้วงว่าจ้างก่อสร้างสูงไป ทั้งที่มีคำอธิบายว่าจะปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า ก็ได้รับการตอกกลับจากทัศนคติแบบ “ระบอบผู้ตรวจ” ของท่านว่าไม่รู้แหละ ต้องคำนึงถึงราคาต่ำสุดเป็นสำคัญ ประโยชน์ของรัฐต้องมาก่อน
มีตลกร้ายว่าหากในเหตุแผ่นดินไหวนี้ มีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐใดแจ้งสั่งให้ดำเนินการทำอะไรสักอย่างเพื่อแจ้งเตือนหรือบรรเทาความสูญเสียให้ประชาชนโดยข้ามขั้นตอนบางเรื่องไปบ้าง หากในภายหลัง สตง.มาพบว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นข้ามขั้นตอน สั่งและกระทำโดยผู้ไม่มีอำนาจโดยยังไม่มีการมอบอำนาจ เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการนั้นก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้แจ้งเตือนหรือบรรเทาความเสียหายในภาวะภัยพิบัตินั้นเองก็ได้
ทั้งหมดนี่แหละ ทำให้เมื่อผู้คนโดยเฉพาะคนในแวดวงราชการระดับผู้ปฏิบัติการไปถึงผู้บริหารอาจจะเศร้าสลดกับผู้สูญเสียที่เป็นแรงงานคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ก็น่าจะมีคนแอบใจร้ายและยิ้มที่มุมปากกันบ้างเมื่อนึกถึงเจ้าของอาคารผู้ว่าจ้าง
ยิ่งเมื่อข่าวเริ่มปรากฏถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างที่เป็นบริษัทจากประเทศจีนซึ่งถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง ซ้ำยังมีพฤติกรรมพิรุธ บริษัทรับงานระดับสองพันล้านแต่มีที่ทำงานอยู่ในห้องแถวที่ดีกว่าเพิงหมาแหงนนิดหนึ่ง แถมยังถูกจดว่าเป็นที่ตั้งของบริษัทในกระดาษอื่นๆ ที่มีผู้ถือหุ้นไขว้กันไปกันมา อีกทั้งมีการมารีบร้อนเก็บเอกสารบางอย่างยกหีบหนีไปอย่างมีพิรุธ ไปจนถึงการไล่ลบร่องรอยทางดิจิทัลของตัวเองในแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ทำให้เราได้แต่หวังว่า เรื่องอาคารที่ทำการใหม่ของ สตง.นี้คงไม่น่าจะจบลงได้ง่ายๆ นัก
ถ้าพวกท่านรู้สึกว่าทำไมเราก็เป็นเหยื่อ เพราะเรื่องการออกแบบ ควบคุมงาน และก่อสร้าง ก็เป็นเรื่องที่จ้างเอกชนทำทั้งสิ้น คนทำงาน สตง. เรียนมาด้านการตรวจสอบ การเงิน การบัญชี กฎหมาย ไม่ใช่วิศวกรเสียหน่อย ไม่ได้ไปสั่งให้ทำโน่นทำนี่ แล้วตามสัญญาผู้รับจ้างก็ต้องสร้างตึกใหม่คืนโดยใช้เงินของฝ่ายผู้รับจ้างเองรัฐไม่ได้เสียหายเสียประโยชน์ ทำไมเราต้องตกเป็นจำเลยสังคมด้วย ฯลฯ ก็ขอให้ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องกระตุกเตือน “มุทิตาจิต” ในเวลาที่ท่านไปไล่บี้เอากับฝ่ายหน่วยงานของรัฐผู้รับตรวจบ้าง