
ในบรรดาทวีปทั้ง 7 ของโลก ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากทวีปเอเชียโดยมีพื้นที่ประมาณ 30.3 ล้านตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญเชื่อมต่อกับโลกใหม่คือทวีปอเมริกาและทวีปเอเชีย จึงเป็นที่หมายปองของบรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปที่จะแย่งกันเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมเพื่อครอบครองทรัพยากรจำนวนมหาศาลนั่นเอง
ในที่สุด ประเทศเยอรมนีโดยการนำของนายกรัฐมนตรีออตโต ฟอน บิสมาร์ค ได้จัดให้มีการประชุมในกรุงเบอร์ลินว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้าครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกาของประเทศต่างๆ ของยุโรปและสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2428 โดยที่ประชุมตกลงกันว่าชาติใดที่มีดินแดนอยู่ตามชายฝั่งสามารถยึดครองพื้นที่ที่ลึกเข้าไปได้ โดยการส่งคนไปปกครองดูแลและประกาศการเข้ายึดครองอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาดินแดนในทวีปแอฟริกาก็ถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ โดยการเข้าไปใช้กำลังทหารครอบครองของ 7 ประเทศยุโรป ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี และอิตาลี
แม้ว่าปัจจุบันนี้ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาจะมีเอกราชปกครองตัวเองแทบทั้งหมดแล้วก็ตาม รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ว่ารายได้ประชากรต่อหัวของทวีปกลับต่ำที่สุดในโลก เนื่องจากอุปสรรคเชิงภูมิศาสตร์ทำให้การติดต่อคมนาคมระหว่างประเทศยากลำบาก ผลกระทบจากลัทธิล่าอาณานิคมที่ขีดเส้นพรมแดนเอาตามอำเภอใจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเนืองๆ สงครามเย็นส่งเสริมความไม่เป็นประชาธิปไตย นโยบายที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความมั่งคั่งของทวีปจะต่ำ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจพร้อมกับจำนวนประชากรอายุน้อยจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้แอฟริกาเป็นตลาดเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกอยู่นั่นเอง
ในที่นี้จะกล่าวถึงประเทศที่ถูกสาปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือคองโกใหญ่ ที่เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกากลางที่มีประชากรถึง 115 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของทวีป สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีอาณาเขตจรดสาธารณรัฐแอฟริกากลางและซูดานใต้ทางทิศเหนือ จรดยูกันดา รวันดา บุรุนดี และแทนซาเนียทางทิศตะวันออก จรดแซมเบียและแองโกลาทางทิศใต้ และจรดสาธารณรัฐคองโกทางทิศตะวันตก โดยมีทางออกสู่ทะเลตามแม่น้ำคองโกไปสู่อ่าวกินี
ในอดีตสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเคยตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียม โดยมีชื่อว่า เบลเจียนคองโก เมื่อได้รับเอกราชใน พ.ศ.2503 ก็ตั้งชื่อประเทศว่า “คองโก-กินชาซา” (ใส่ชื่อเมืองหลวงไว้ข้างหลัง เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างประเทศนี้กับสาธารณรัฐคองโก หรือคองโก-บราซาวีล ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตก) ต่อมาใน พ.ศ.2514 ก็ได้เป็นสาธารณรัฐซาอีร์ จนถึง พ.ศ.2540 จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก” ในปัจจุบัน
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นประเทศที่ได้ชื่อมาแต่เริ่มแรกว่าเป็นดินแดนแห่งทองคำ งาช้าง และยางพารา แต่แทนที่ความอุดมสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและศิวิไลซ์ กลับกลายเป็นต้นเหตุให้ผู้คนในแผ่นดินนี้ต้องตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ทรมานนับร้อยปี เพราะเมื่อพระเจ้าเลียวโปลด์ที่ 2 กษัตริย์แห่งเบลเยียม ได้เข้ายึดครองคองโกเมื่อ พ.ศ.2428 เป็นสมบัติส่วนตัวของพระองค์เอง พระองค์ใช้คองโกเป็นแหล่งหากำไรจากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะงาช้างและยางพารา ชาวพื้นเมืองถูกบังคับให้เก็บน้ำยางพารา หากเก็บได้น้อยกว่ากำหนด บรรดาผู้คุมชาวยุโรปก็จะตัดแขนหรือนิ้วของพวกเขาเป็นการลงโทษ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการกดขี่นี้มีนับสิบล้านคน คองโกจึงกลายเป็นตัวอย่างของจักรวรรดินิยม ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสชาตินิยมในแอฟริกาเริ่มเบ่งบาน คองโกจึงได้รับเอกราชจากเบลเยียมใน พ.ศ.2503 แต่ความเป็นเอกราชของประเทศมิได้มาพร้อมกับความมั่นคงเพราะนายปาทริซ ลูมุมบา นายกรัฐมนตรีคนแรกของคองโก ถูกลอบสังหารโดยการสนับสนุนของซีไอเอและรัฐบาลเบลเยียม จากนั้นประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของนายโจเซฟ โมบูตู หรือที่เรียกกันว่า โมบูตู เซเซ เซโก ผู้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมานานกว่า 30 ปี เขากอบโกยความมั่งคั่งเข้าให้กับตัวเอง และนายโจเซฟ โมบูตู นี้เองที่จัดการชกมวยอันลือลั่นเมื่อ พ.ศ.2517 ที่เรียกว่า Rumble in the Jungle ระหว่างมูฮัมหมัด อาลี กับ จอร์จ โฟร์แมน ซึ่งเป็นการผลาญเงินของประเทศอย่างเปล่าประโยชน์ ขณะที่ประชาชนตกอยู่ในความอดอยาก
เมื่อระบอบโมบูตูล่มสลายใน พ.ศ.2540 คองโกก็เข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อ กลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากรวันดาและยูกันดาเข้าต่อสู้กับรัฐบาล ความขัดแย้งนี้ถูกขนานนามว่า “สงครามคองโกครั้งที่ 1” และ “สงครามคองโกครั้งที่ 2” ซึ่งจัดเป็นสงครามใหญ่มากเพราะมีประเทศแอฟริกากว่า 10 ประเทศ ร่วมอยู่ในความขัดแย้งนี้ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ล้านคน
แม้สงครามอันโหดร้ายจะสงบลงบ้าง แต่คองโกก็ยังเผชิญกับปัญหาความรุนแรง การทุจริต และการแย่งชิงทรัพยากรโดยบรรษัทข้ามชาติ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2562 ที่ได้นายเฟลิกซ์ ชิเซเคดี ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ความหวังว่าคองโกจะก้าวสู่ความมั่นคงก็ยังเป็นเรื่องที่ยากที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากคองโกต้องเผชิญกับการรุกรานเพื่อครอบครองดินแดนผืนใหญ่ทางตะวันออกของคองโกอันเป็นแหล่งขุดแร่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแร่โคลแทน (โคลแทนเป็นแร่ที่ต้องใช้ในสมาร์ทโฟน และในเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิด ซึ่งในคองโกมีแร่โคลแทนสำรองอยู่ถึง 60% ของแร่ชนิดนี้ในโลก) ทองคำ และโคบอลต์ แร่เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก ประเทศรวันดาเป็นตัวการสำคัญในการขนทรัพยากรแร่ที่มีค่าจากคองโกไปขายในตลาดโลก โดยผู้นำรวันดาในปัจจุบันคือ นายพอล คากาเม ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2543 ผู้เป็นอดีตผู้นำกองกำลังแนวร่วมรักชาติรวันดา (RPF) ซึ่งเป็นฝ่ายที่ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวตุตซีในรวันดาเมื่อ พ.ศ.2535 โดยนายพอล คากาเม ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกในฐานะผู้นำที่ทำให้รวันดาพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในคองโกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ M23 ซึ่งกลุ่มกบฏ M23 ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2555 โดยอดีตทหารของกองทัพคองโกที่มีเชื้อสายตุตซี กลุ่มนี้อ้างว่าต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวตุตซีในคองโก และมีความเกี่ยวพันกับชาวตุตซีในรวันดาอย่างแน่นแฟ้น กองกำลังของ M23 เคยยึดเมืองโกมา เมืองใหญ่ทางตะวันออกของคองโก ในปี พ.ศ.2555 แต่ถูกกองทัพคองโกและกองกำลังสหประชาชาติขับไล่ออกไป อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2564 กลุ่ม M23 ได้กลับมาปฏิบัติการอีกครั้ง และยึดพื้นที่หลายแห่งในจังหวัดคิวูเหนือกองทัพรวันดาเข้าควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง
ทำให้รัฐบาลคองโกต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ต้องทนทุกข์กับการถูกบังคับให้อพยพ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การปล้นและขนส่งทรัพยากรแร่อันมีค่านี้ดูเหมือนจะเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบของคองโก ประเทศที่มีทรัพยากรล้ำค่าแต่ไม่เคยได้รับประโยชน์จากมันอย่างแท้จริง ในขณะที่รัฐบาลคองโกเองก็อ่อนแอเกินกว่าจะรับมือกับภัยคุกคามจากรวันดานี้ได้