ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
---|
แผ่นดินไหว – เรื่องเมืองทนแผ่นดินไหวอาจเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ
ก่อนที่จะบอกว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทยครั้งนี้รุนแรงแค่ไหน
ทำไมพูดเรื่องนี้ง่ายๆ ไม่ได้
ถ้าไม่นับกรณีแบบว่าธรณีสูบกันจริงๆ มักจะมีคำกล่าวว่า “ไม่มีใครเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว”
แต่มักเสียชีวิตจากการตกจากอาคาร หรือโดนทับ-โดนกระแทกจากวัสดุที่มักจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเสียเป็นส่วนใหญ่
พูดแบบนี้ก็คือต้องการให้มีความหวังกำลังใจสักนิด ไม่ใช่แค่เถียงกันว่าระบบเตือนภัยก่อนแผ่นดินไหวทำได้ไหม
ระบบเตือนภัย “ก่อน” แผ่นดินไหวมันไม่ใช่ทุกอย่างของเรื่อง และแม้จะเตือนภัยก่อนแผ่นดินไหวไม่ได้ แต่ยังสามารถเตือนภัยต่อเนื่องได้ เช่นแจ้งความเสียหาย สื่อสารว่าต้องระวังอะไร ติดต่อหน่วยงานอะไรบ้าง
เรื่องแผ่นดินไหวนี้สิ่งที่เราสนใจมีแค่ว่าใครสั่งการ แต่คำถามคือบริษัทเอกชนเองก็สามารถริเริ่มส่งเองก็ได้นะครับ เหมือนส่งโฆษณา หรือเหมือนค่าใช้จ่ายเรื่องประชาสัมพันธ์ และกิจการที่มีความรับผิดชอบทางสังคม (Corporate Social Responsibility)
ความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยนี้ เราสามารถเห็นว่าบริษัทที่ให้บริการสัญญาณมือถือเขาสามารถจับสัญญาณได้ว่าบริเวณต่างๆ มีประชากรอยู่เท่าไหร่
ดังนั้นในการส่งสัญญาณไม่ใช่ทำไม่ได้ ถ้าริเริ่มเองจากเอกชนเช่นกัน
แต่ต้องดูแลเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและละเอียดอ่อนครับ เอกชนไม่ได้ผิด แต่เขาจะเข้าร่วมแบบไม่ต้องรอสั่งการได้อย่างไร
เรื่องนี้เราไม่ได้ไปไหนเลย เพราะยังวุ่นวายแต่การสั่งการ ตั้งกรรมการ แบบรัฐบาล (government) ในกรอบคิดการบริหารราชการแบบเดิม
ไม่ใช่การร่วมกันปกครองที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” ที่ต้องการความร่วมมือกันทุกฝ่าย (governance) เพราะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ร่วมกันรับผิดชอบ ไม่มีใครตีตั๋วฟรีในการทำงานร่วมกัน
นั่งดูการแถลงการณ์ของรัฐ เรื่องสำคัญคือการยกระดับสถานการณ์ ซึ่งหมายถึงการอิงอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่วนเวียนแต่เรื่องการแบ่งงานกันทำในส่วนของระบบราชการ และอำนาจในการเบิกจ่าย
มันสะท้อนจริงๆ ว่าความยุ่งเหยิงของปัญหาไม่ใช่โครงสร้างตึกเท่านั้น แต่เป็นโครงสร้างของระบบราชการนั่นแหละ
ที่สำคัญมันแก้ปัญหาประชาชนและสร้างความร่วมมือ และความพึงใจของประชาชนแทบจะไม่ได้
ยิ่งแถลงยิ่งชี้ว่าระบบราชการมีปัญหา ระบบราชการอยู่รอด ทนทาน ฟื้นสภาพ
แต่เมือง สังคม เศรษฐกิจ ประชาชน ชุมชนพังทลายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องรอ
จุดนี้แหละครับ เราถึงได้ดูความช่วยเหลือของคนทั่วไป แอพพลิเคชั่น ร้านค้า บริษัท ห้างร้าน จิตอาสา หมา แมว หมอดู นักข่าว ชาวบ้าน เพื่อนบ้าน อินฟลู ทั้งวิจารณ์ ทั้งหาทางออก ให้ความรู้กันเอง
ตามมีตามเกิดกันไป
เรื่องการสร้างเมืองให้ทนทานต่อแผ่นดินไหว ไม่ใช่ทำไม่ได้ ที่เขียนให้ซับซ้อนก็คือ แผ่นดินไหวมันวัดที่ตัวเลขแรงสะเทือนและอาฟเตอร์ช็อกไม่ได้ครับ มันขึ้นอยู่กับสภาวะการดำรงอยู่ของชุมชนด้วย
แรงสะเทือนครั้งนี้ของไทย ที่ชอบพูดว่าเราโชคดีไม่มีรอยเลื่อนในประเทศ เอาจริงเราก็ได้รับผลกระทบได้เสมอ
แต่ถ้าประเทศไม่มีเมือง ผลก็อาจไม่เป็นแบบนี้
และถ้าไม่มีเมืองแบบนี้ โดยเฉพาะเมืองแบบกรุงเทพฯ ความเสียหายก็อาจจะไม่เท่านี้
และถ้าไม่ใช่ประเทศที่บริหารกันแบบนี้
ปัญหาก็ไม่ใช่แบบนี้ เพราะหลายประเทศและหลายเมืองที่แรงสะเทือนแบบนี้ ก็อาจจะไม่เจอความเสียหาย และความไม่มั่นใจต่อชีวิตขนาดนี้
ดังนั้นถ้าแก้ที่การเตือนภัยคาดการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้ ก็ยังมีอีกทางคือบริหารจัดการเมืองให้มันทนทานและพร้อมฟื้นสภาพจากภัยพิบัติได้ครับ
ทีนี้จะทำอย่างไร
ประการแรก ต้องเข้าใจเรื่องเมืองที่มีความทนทานและพร้อมฟื้นสภาพ (resilient city) ซึ่งเขาพูดกันมานานแล้ว แต่สิ่งที่ต้องย้ำเพิ่มคือ มันเป็นแกนสำคัญในสี่เรื่องที่อยู่ในแนวทางการพัฒนาเมืองที่อยู่ในประเด็นที่ 11 ของเป้าหมายการพัฒนาโลก และมีการขยายความในหน่วยงาน UN-Habitat หรือหน่วยงานที่ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของสหประชาชาติ โดยเฉพาะในเอกสารสำคัญล่าสุดของหน่วยงาน คือ Urban Agenda (วาระทางนโยบายในระดับเมือง)
อธิบายง่ายๆ คือ สาระสำคัญของการพัฒนาเมืองที่มีไว้ต่อรองหรือบทสนทนากับแนวทางการพัฒนาเมืองตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่แทบจะเป็นลมหายใจทางเศรษฐกิจหลักของโลกและเมืองคือเสรีนิยมใหม่ ก็คือการพัฒนาเมืองให้มีมิติที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปลอดภัย ยั่งยืน และทนทาน-พร้อมฟื้นสภาพ (inclusive, safe, sustainable and resilient)
ความทนทานและพร้อมฟื้นสภาพถ้าเข้าใจง่ายๆ เป็นความแข็งแรงแบบยืดหยุ่น ไม่พังทลาย ถ้าพังแล้วกลับมาได้เร็ว
มันต่างจากเรื่องความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ แล้วมาเติมเต็มความยั่งยืน ตรงที่ความยั่งยืนมักมองในเรื่องการดำเนินต่อไปจนถึงอนาคตในแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปเสียประโยชน์จากที่พวกเขาพึงจะได้ คือเราต้องไม่ใช้มันจนหมด เหมือนพวกปลูกต้นไม้เพื่อลูกเพื่อหลาน
แต่ความทนทานพร้อมฟื้นสภาพนั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดจากความคาดไม่ถึง โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก เหมือนที่เราเริ่มเห็นบ่อยขึ้นจากภัยพิบัติ จากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อสมัยใหม่
ปัจจัยภายนอกที่มาอย่างไม่ได้คาดหมายมักเป็นฐานคิดของการตั้งรับว่าเราจะทนทานต่อแรงกระแทกได้ไหม และถ้าพังทลายเราจะฟื้นคืนสภาพได้ในวันพรุ่งนี้หรืออนาคตอันใกล้ได้อย่างไร ซึ่งเราก็เรียนรู้มาตั้งแต่สึนามิ (ซึ่งยังพอเตือนภัยทัน) น้ำท่วม น้ำป่า ฝุ่น อุบัติเหตุขนาดใหญ่ โรคระบาดข้ามแดน และล่าสุดคือแผ่นดินไหว
การวางผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวางไม่ทันแล้วก็ยังคิดต่อได้อีก คือ ระบุพื้นที่ที่อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (earthquake-prone area) และจะต้องมีการประกาศให้ประชาชนรู้
เรื่องนี้ต้องคำนึงไปพร้อมกันทั้งมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร และผังการใช้ที่ดิน รวมทั้งสภาพทางธรณีวิทยา และเทคโนโลยีการก่อสร้าง
แต่สิ่งที่สำคัญมันไปอยู่ที่ว่า เวลาที่เราจะกำหนดการใช้ที่ดินแบบในบ้านเรา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่หมายถึงพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) และสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) มันเปิดให้การพัฒนาที่ดินทำได้มากขึ้น และส่วนหนึ่งก็คือการสร้างอาคารสูงได้ ตั้งแต่ที่พักอาศัย ไปจนถึงอาคารพาณิชยกรรม
จากเดิมที่คำนึงแต่เรื่องว่าถ้าไฟไหม้เมืองจะจัดการได้ไหม ถ้าอาคารสูงมาก
มาจนถึงเรื่องของความคงทนต่อแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว
เรื่องต่อมาก็คือการตรวจสอบอาคาร ซึ่งในวันนี้ต้องย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสภาวะชั่วคราวเท่านั้นในการใช้เครือข่ายสถาปนิกอาสา
เรื่องที่ต้องทำจริงๆ คือการตรวจสอบเป็นระยะว่าอาคารเหล่านั้นเป็นอาคารที่ทนต่อแผ่นดินไหวได้แค่ไหน ซึ่งในความเป็นจริงมันทนได้ในระดับที่ต่างกัน จากที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมา อาทิ รอยแตกบางแบบมันอาจส่งสัญญาณให้เราสามารถปรับซ่อมแซมได้ และอาจจะดีกว่าเดิม เพราะมันไม่ได้มีปัญหาในระดับโครงสร้าง แต่เป็นเรื่องผนังและการฉาบ
ขณะที่การไปตื่นเต้นกับอาคารที่ไม่เป็นอะไรเลย บางทีถ้าเกิดแรงสะเทือนหนักกว่านี้อาจจะพังลงมาเลยก็เป็นได้ เพราะเทคโนโลยีการก่อสร้าง มันคนละยุคสมัยกัน
ในอีกมุมนึง ถ้าเชื่อว่ากฎหมายของบ้านเราศักดิ์สิทธิ์จริง เขาว่ากันว่า ตั้งแต่ปี 2550 มาแล้ว อาคารที่สร้างใหม่จะมีมาตรฐานที่ทนแรงสะเทือนได้ถึง 8.2 ซึ่งมากกว่าแรงสะเทือนจริงในครั้งนี้
ภารกิจก็คือการไปตรวจอาคารเก่าด้วย
และตรวจอาคารสูงทั้งหมดนั่นแหละครับว่าทนต่อแรงสะเทือนได้ไหม (seismic proof)
รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบันว่าหลังจากมีแผ่นดินไหวแล้ว สภาพการณ์เป็นอย่างไร
คงไม่ต่างจากการเช็กความปลอดภัยของลิฟต์ที่ต้องทำเป็นระยะ และเรื่องเหล่านี้ผู้ใช้อาคารควรจะรู้ และเช็กได้ว่าอาคารของเขาทนแรงสะเทือนได้เท่าไหร่ และ เช็กครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และมีกำหนดการในการเช็กครั้งต่อไปเมื่อไหร่
ต่อมาในเรื่องของอาคารก็คือ หากเจออาคารที่เกิดปัญหาที่ไม่พร้อมต่อแรงสะเทือนของแผ่นดินไหว จะทำอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงการที่จะต้องทุบทิ้งเสมอไป เพราะในกระบวนการก่อสร้างสมัยใหม่สามารถปรับปรุงอาคารให้ได้มาตรฐานได้ เรื่องเหล่านี้จะต้องมีกระบวนการอย่างไรในการจัดการ (retrofitting) (ดูที่ EIS council. Advancing Earthquake Resilience: Strategic Urban Planning and Global Partnerships. และ Cordis.europa.eu. Towards Earthquake-Resilient Cities)
การสร้างกระบวนการเหล่านี้ให้เป็นระบบภายหลังจากภาวะเร่งด่วนของการแจ้งเหตุไปยังแอพพลิเคชั่นของ กทม. เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ และโปร่งใส ที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ว่าในละแวกบ้านของเขา และในเขตของเขามีอาคารเหล่านี้กี่หลัง กี่แห่ง
รวมถึงสิทธิที่ประชาชนทั้งที่อยู่ใกล้เคียงอาคารเหล่านี้ และอาศัยในอาคารเหล่านี้จะร้องเรียนได้ ไม่ใช่ให้ความสำคัญแต่กับเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นในช่วงขอใบอนุญาตก่อสร้าง และอ้างอิงว่าตรงตามที่ผังเมืองกำหนดให้สร้างได้
เรื่องต่อมาคือการวางแผนรับสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องของแผ่นดินไหว ซึ่งก็ควรคิดรวมไปในเรื่องของภัยพิบัติของเมืองตั้งแต่ อุบัติภัย น้ำท่วม แดด ฝุ่น ฝน โรคระบาดนั่นแหละครับ
การแจ้งเตือนและสร้างช่องทางการสื่อสารกับประชาชน นอกเหนือจากเรื่องของการแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์ เพราะมันมีช่วงเวลาที่การสื่อสารบางอย่างล่มได้ ถ้ามือถือล่ม สัญญาณอินเตอร์เน็ตรอดไหม วิทยุของเมืองมีไหม รายการโทรทัศน์ของเมืองมีไหม ระบบการสื่อสารอื่นๆ จะทำอย่างไร
การซักซ้อม การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เกี่ยวข้อง เรื่องเหล่านี้แน่นอนว่าบางคนอาจจะยืนยันว่าก็ภัยพิบัติมันต้องแปลว่าเราคิดไม่ถึง
แต่ในอีกด้านดึงระบบปัญญาประดิษฐ์ AI สามารถสร้างการคาดคะเนสถานการณ์ต่างกันในภาพอนาคต และทำให้เราเข้าใจเรื่องระดับความรุนแรงได้มากกว่าเรื่องของการเข้าใจระดับความรุนแรงกับภาระรับผิดชอบของหน่วยงาน ซึ่งแทบจะเป็นประเด็นภายในการสั่งการของราชการร้อยปี
มาสู่เรื่องของการคาดคะเนสถานการณ์ว่าทรัพยากรที่จะใช้ โครงสร้างการบริการจะเป็นอย่างไร เช่นในกรณีที่ความเสียหายเป็นวงกว้างขนาดนี้ไม่ใช่รู้ว่าใครสั่งการ แต่เราสามารถคำนวณได้ทันทีว่าความช่วยเหลือจะมาจากไหน โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมีกี่เตียง รถดับเพลิงที่ใกล้ที่สุดมีกี่คัน สถานีตำรวจและกำลังรักษาความสงบจากตำรวจ ทหาร เทศกิจ ชมรมอาสาสมัครจะเข้ามาได้จากตรงไหน จากการคำนวณคาดการณ์ได้ โดยไม่ใช่ใช้แค่เรื่องของการตั้งคณะกรรมการ ตั้งวอร์รูม รอผู้ตัดสินใจมารับรายงาน กว่าจะรายงานจบ ทั้งที่ข้อมูลทุกอย่างมันสามารถขึ้นสู่กระดานการตัดสินใจให้เห็นได้ในทันที
สิ่งที่จะต้องมีไม่ใช่ความชำนาญในเทคนิคและรายละเอียดเท่านั้น แต่การเข้าใจในเรื่องหลายเรื่องที่มันถูกเปิดออกมา
หลังจากที่มันถูก “ฉาบปิด” เอาไว้จนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในครั้งนี้มันกะเทาะสิ่งเหล่านี้ออกมานั่นแหละครับ
ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องของความฉิบหายระดับโลกจากความร่วมมือในการก่อสร้างอาคารตรวจเงินแผ่นดิน ที่ไม่ใช่แค่ถล่ม แต่ยังพรากชีวิตอันมีค่าของพี่น้องผู้สร้างเมืองอีกหลายชีวิตไปแล้ว
สิ่งที่เราต้องเข้าใจในการมองเรื่องของความคงทนและการพร้อมฟื้นสภาพของเมือง ก็คือในเมืองนั้นมีคน
และในคนนั้นมีความเปราะบางไม่เท่ากัน และความเปราะบางไม่เท่ากันบางอย่างเป็นธรรมชาติ บางอย่างเป็นเรื่องของการจงใจเอาเปรียบกันในระดับโครงสร้างเพราะคนมีอำนาจที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงเมืองจากเบื้องบนมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้
นอกเหนือจากเรื่องการพังทลายของอาคาร การเสียชีวิต และความเสียหายของอาคาร สิ่งที่สร้างความตื่นตระหนกที่สุดก็คือวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปแล้ว
เราพบว่าคนจำนวนมากในกรุงเทพฯนั้นอาศัยในอาคารสูง
เราวัดประเมินความสำคัญของปัญหาเพียงแค่ว่าไม่ต้องกังวลเพราะมีตึกเดียวที่พังถล่มลงมาไม่ได้
เราพบว่าสภาพของคนชั้นกลางจำนวนมากที่ทำตามฝันของเขาและของนักพัฒนาเมืองคือการเป็นเจ้าของคอนโดติดรถไฟฟ้า (ที่ผ่อนยังไม่หมด) นี่แหละครับที่แผ่นดินไหวครั้งเดียวนำไปสู่สภาพที่พวกเขาไม่ต่างจากคนไร้บ้าน หรืออาจจะเรียกว่ากลายเป็นคนไร้บ้านอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาทันที
เขาจะกลับบ้านอย่างไร ไม่มีบ้านจะกลับ บ้านจะเข้าได้ไหม ทรัพย์สินของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
กทม.เป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่พยายามดูแลพวกเขา แต่ทำได้เต็มที่แค่เปิดสวนสาธารณะที่พวกเขาดูแล อาจจะมีศูนย์กีฬาอีกแห่งแถวฝั่งธน
เกิดอะไรขึ้นกับรัฐส่วนกลาง ทั้งราชการและหน่วยงานความมั่นคง ที่มีพื้นที่มากมายในกรุงเทพฯ?
สิ่งที่เราเห็นคือมีมูลนิธิไม่กี่แห่งที่เปิดให้ความช่วยเหลือ และมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งที่พยายามช่วย
ข่าวคราวของหน่วยงานส่วนกลางที่พอจะทำได้ และเอกชนห้างร้านไปอยู่ที่ไหน
สุดท้ายเหลือแต่สวนสาธารณะ กับข้าวกล่อง
เรื่องนี้ปัญหาใหญ่คือ เราไม่ได้เอาเรื่องของประเด็นที่อยู่อาศัยมาเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองในแง่ของความมั่นคงในที่อยู่อาศัย นั่นแหละครับ ซึ่งมีมากกว่าเรื่องการเป็นเจ้าของ แต่ต้องหมายถึงความปลอดภัย ทนทาน และพร้อมฟื้นสภาพกลับมาใหม่ให้เราอยู่รอดในเมืองได้
เมื่อวานคือสัญญาณเตือนภัยที่ชัดเจนมากว่าสถานะของคนจำนวนมากที่จะต้องมีชีวิตอยู่ในเมืองอย่างจำเป็นเพราะเป็นแหล่งงานของเขา และไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการอยู่ในชุมชนแออัดใกล้ที่พัก พวกเขาต้องใช้เวลาเดินทางนานแค่ไหนในการกลับบ้าน เมื่อระบบการเดินทางที่เป็นเส้นเลือดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าทุกสายดับลง และอาคารที่พักของเขามีความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย
การคิดเรื่องพื้นที่สีเขียว และสวนสิบห้านาทีจึงยังไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะซึ่งอาจจะต้องเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ทำได้หลายรูปแบบมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นจึงมีความสำคัญ ตั้งแต่โรงพยาบาลสนาม ไปถึงการตั้งเต็นท์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ที่มีความเป็นรูปธรรมกว่าเถียงกันแค่ใครสั่งการ และเบิกงบประมาณได้แค่ไหน
การสร้างความมั่นใจว่าเมืองนี้พร้อมจะเดินหน้าต่อไปจึงไม่ใช่แค่ยืนยันว่างานอีเวนต์ทุกอย่างเดินหน้าต่อ ธุรกิจที่ทำมาเดินหน้าต่อไป นักท่องเที่ยววางใจได้ ระบบขนส่งเปิดแล้ว
คำถามที่สำคัญก็คือ ถ้าคนในเมืองเขาเกิดไม่มีที่อยู่อย่างฉุกเฉิน หน่วยงานไหนจะจัดการดูแลเขาให้เขารู้สึกว่าเขามีส่วนในการสร้างเมือง และจ่ายภาษีให้กับเมืองในหลากหลายรูปแบบ?
นี่คือคำแปลที่ชัดเจนเพื่อเข้าใจคำว่า สิทธิที่จะมีชีวิตและเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city) นั่นแหละครับ
นี่คือยังไม่ได้นับว่า ถ้าวันพรุ่งนี้ชุมชนรอบอาคารสูงได้รับผลกระทบจากความเสียหายของอาคารสูงด้วยแล้ว พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ในเมืองอย่างไร ซึ่งเรายังไม่ได้เข้าไปถึงพวกเขาเลยเมื่อวานนี้ และถ้าไม่ใช่เรื่องของแผ่นดินไหวที่พวกเขาอาจจะทนทานและฟื้นสภาพได้เร็วกว่าคนชั้นกลางอย่างน่าประหลาดใจ
แต่ถ้าเป็นภัยจากเพลิงไหม้ ความร้อน ฝน น้ำท่วม และการแพร่ระบาดของโรคพวกเขาจะต้องเจอกับสภาพอะไรบ้าง
รอยแตกที่เกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้จึงมีมากกว่าเรื่องของการยอมรับในข้อเท็จจริงทางวิศวกรรมว่าอาคารยังอยู่ได้
ถามว่าคนที่ผ่อนคอนโดห้องละสิบล้านเขาจะรับรอยแตกที่ผนังเขาได้ไหม ต่อให้บอกว่าไม่เป็นไรและรอได้
คนที่เพิ่งได้รับอนุมัติให้กู้เงินซื้อคอนโด หรือเพิ่งวางเงินเขาจะคิดยังไงกับชีวิตในอนาคตของเขา
สิทธิที่จะเข้าถึงการคมนาคมขนส่งในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินนั้นอยู่ตรงไหน เราไม่ได้คิดเลยว่าเมื่อวานนี้รถขนส่งสาธารณะจะต้องมีเลนที่ต้องไปก่อนใช่ไหมถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
ยังมีอีกหลายเรื่องที่มันถูกกะเทาะออกมา บางเรื่องเป็นรอยปริร้าวที่แก้ไขได้ไม่ยาก
บางเรื่องเป็นรอยแตกที่เข้าขั้นอันตรายแล้ว
เหลือแต่จะกล้ารับมันได้ไหมว่า นอกเหนือจากความเชื่อมั่นในการลงทุนและท่องเที่ยว
ความเป็นปกติของชีวิตในเมืองมันมีรากฐานมาจากการที่คนต้องอยู่อาศัยในเมืองนี้ได้จริงๆ และรัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนในการดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ นอกเหนือไปจากการให้บริการสาธารณะในเรื่องของการดูแลภัยพิบัติซึ่งมันเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง
แต่เตรียมการรับมือกับมันอย่างมีสติ มีความเห็นอกเห็นใจ
แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าความเห็นอกเห็นใจบนเวทีปาฐกถา และตำราไลฟ์โค้ช อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกับการเข้าใจโครงสร้างอำนาจและการมองไม่เห็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ที่เป็นปัญหาโครงสร้างในเมืองนี้อีกหลายปัญหาที่ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกันว่าจะมองเห็นและจัดวางคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในเมืองนี้อย่างไร เพื่อให้อยู่ในเมืองนี้อย่าง “มีกินมีใช้มีศักดิ์ศรีไปด้วยกัน”
เพราะความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่แค่เรื่องของจิตใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจจากเบื้องบนเท่านั้น
แต่ความเห็นอกเห็นใจมันจะเกิดได้จากมุมนึงด้วย คือมุมที่เข้าใจความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำที่มันเกิดจากกระบวนการผลิตพื้นที่เมืองและการสร้างความมั่งคั่งของเมืองที่มีความเปราะบางของผู้คนที่แตกต่างกันอยู่ในกระบวนการดังกล่าวจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคตด้วยนั่นแหละครับ