เศรษฐศาสตร์ (ฉบับทางเลือก) หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ทุกคนต้องอ่าน

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ฮาจุน ชาง ผู้ได้รับรางวัลเด่นระดับโลก เช่น Myrdal Prize และ Wassily Leontief Prize อันหลังนี้ได้รับเพราะงานเขียนของเขา ได้มีบทบาทขยายองค์ความรู้ของความคิดด้านเศรษฐศาสตร์ออกไป เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยกริปส์ที่โตเกียว แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย เขาทำได้ดีเยี่ยม ให้ความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย กระชับ สนุก อ่านแล้ววางไม่ลง

มีนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยไม่กี่คน ที่เขียนหนังสือขายดิบขายดีขนาดเป็นหมื่นเป็นแสนเล่ม ณ จุดนี้ ฮาจุน ชาง ได้เรียบเรียงเขียนหนังสือด้วยตนเอง หรือเขียนกับผู้อื่นได้สิบห้าเล่ม ทุกเล่มขายดี โดยขายได้ทั้งหมดสองล้านเล่มด้วยกัน คือเฉลี่ยแล้วแต่ละฉบับขายได้แสนกว่าเล่ม

ทำไมหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ฮาจุน ชาง เขียนจึงขายดี? เขาบอกว่า “เศรษฐศาสตร์สำคัญมากจนไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์”

Advertisement

เขาทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย ชางบอกว่าเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวเราเอง เช่น การหางานทำ การมีรายได้ การเสียภาษี การถ่ายโอนเงินภาษีเป็นสินค้าบริการสาธารณะ ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้หรือเข้าถึง เช่น การศึกษา การสาธารณสุข และการให้เงินอุดหนุน นอกจากนั้นยังมีเรื่องการบริโภค การผลิต การเงิน วิกฤตเศรษฐกิจ บทบาทของบรรษัทยักษ์ใหญ่ ตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ทุกคนควรจะรู้ เพื่อจะได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการอภิปรายนโยบายที่รัฐกระทำได้

เศรษฐศาสตร์จึงเป็นการศึกษาระบบเศรษฐกิจที่จะทำให้ทุกคนมีงานทำ มีการบริโภค มีส่วนร่วมในการอภิปรายนโยบายและส่งผลต่อนโยบาย

ฮาจุน ชาง เสนอด้วยว่าเศรษฐศาสตร์คือ การเมือง หมายความว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ และก็มีข้อสรุปได้ ทำไมสหภาพแรงงานเพิ่มค่าจ้างได้ “ทำไมการเข้าสู่สหภาพยุโรปของประเทศยุโรปตะวันออกมีผลต่อค่าแรงในประเทศยุโรปตะวันออกอย่างมหาศาล”

Advertisement

เขาทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ถกเถียงกันได้ เขาท้าทายนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มที่พยายามจะบอกว่า เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก คือ สำนักเศรษฐศาสตร์หนึ่งเดียวในวิชานี้ เศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีแนวคิดเดียว เขาวิเคราะห์และแจกแจงให้เห็นในบทที่ 4 ว่า มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยตั้ง 9 สำนัก ได้แก่ สำนักคลาสสิก นีโอคลาสสิก มาร์กซิสต์ พัฒนานิยม ออสเตรีย นีโอชุมเพเทอร์ เคนส์ สถาบันนิยม (เก่าและใหม่) และสำนักพฤติกรรมนิยม ที่สามารถนำมาใช้อธิบายระบบเศรษฐกิจในกาลเทศะต่างๆ เพราะในแต่ละสถานการณ์ย่อมมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ชุดหนึ่งที่ดีกว่าชุดอื่นๆ เช่นแนวทางของสำนักเคนส์เหมาะกับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจกว่านีโอคลาสสิก สำนักคิดเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ต่างกัน

ดังนั้นการรู้จักเศรษฐศาสตร์หลายแบบจึงเหมือนมี “มีดพับสวิส” เป็นเครื่องมือติดตัวไว้

นอกจากนั้น “การท้าทายนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย…หากเราไม่ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมของเราถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ (ที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา) เราควรเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ และเริ่มท้าทายเหล่านักเศรษฐศาสตร์ได้แล้ว”

หนังสือเล่มนี้มี 13 บท รวมบทส่งท้ายด้วย แต่ฮาจุนชาง ก็ไม่ได้ดึงดันว่าผู้อ่านจะต้องอ่านทั้ง 13 บท เขาได้แนะนำวิธีการอ่านไว้ด้วย โดยจำแนกตามเวลาที่มี หากผู้อ่านมีเวลาน้อย เช่น 10 นาทีให้อ่านชื่อบทและหน้าแรกของแต่ละบท

หากมีเวลา 2-3 ชั่วโมง ควรอ่านบทที่หนึ่ง สอง และบทสุดท้าย แล้วให้พลิกดูส่วนที่เหลือคร่าวๆ

หากมีเวลาครึ่งวัน ให้อ่านหัวเรื่องในแต่ละบท และข้อความสรุปที่เป็นตัวเอียง

แต่หากมีเวลาพอที่จะอ่านทั้งเล่มก็ให้อ่านไป เพราะจะได้ผลดีที่สุด สำหรับบางตอนที่ไม่สนใจก็อาจข้ามไป โดยอ่านแต่หัวเรื่องเท่านั้น

ถ้าอ่านได้ทั้งเล่ม โลกเศรษฐศาสตร์ของคุณจะเปิดกว้างขึ้น นอกจากจะรู้ว่า เศรษฐศาสตร์คืออะไร แบบที่มีความหมายกับชีวิตความเป็นอยู่ของคุณ และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ 9 สำนักมีเนื้อหาอะไรบ้างแบบย่อเข้าใจง่ายแล้ว ผู้อ่านยังจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วฉบับย่อ ประวัติของทุนนิยม ความเป็นมาของระบบการเงินโลก การวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ในอีกมุมมองหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำและความยากจน งานและการว่างงาน บทบาทรัฐ การค้าระหว่างประเทศ และคำตอบต่อคำถามที่ว่า เราจะใช้เศรษฐศาสตร์ทำให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้นได้อย่างไร?

จงหาอ่านโดยพลัน ท่านจะไม่ผิดหวังแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image