สุจิตต์ วงษ์เทศ : การเมืองเรื่องพระพุทธรูปในประวัติศาสตร์ศิลปะมีการเมือง

ศาสนา เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของทั้งโลกมานานมาก นับไม่ได้

ศาสนาผี เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของหมอผีหัวหน้าเผ่าในชุมชนดึกดำบรรพ์ (หรือยุคหิน) หลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว ก่อนมีศาสนาพุทธ-พราหมณ์

ศาสนาพุทธ เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองตั้งแต่แรกเริ่มยุคพระเจ้าอโศกในอินเดีย-ลังกา แล้วแผ่จากลังกาถึงสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000

พระพุทธรูป เป็นเครื่องมือทางการเมืองตั้งแต่ยุคแรกทำพระพุทธรูป ด้วยฝีมือช่างกรีก (ที่เรียกแบบคันธารราฐ) กระทั่งถึงฝีมือช่างในไทยทำเลียนแบบพระพุทธรูปอินเดีย-ลังกา

Advertisement

การเมืองเรื่องพระพุทธรูป ของ วิราวรรณ นฤปิติ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 ราคา 195 บาท) เป็นหนังสือว่าด้วยการเมืองและสังคมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมองผ่านพระพุทธรูปโบราณก่อนยุคกรุงเทพฯ และที่สร้างใหม่ ซึ่งต้องยกย่องเป็นหนังสือสำคัญมากสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยา

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ที่ปฏิเสธการเมืองและสังคมอย่างรุนแรงแข็งขันมาตลอดตั้งแต่มีวิชานี้จนปัจจุบัน ตามแนวอนุรักษนิยมแบบอาณานิคม และผมก็ยืนยันขันแข็งอย่างเสรีนิยมตามไปด้วยติดๆ ว่าเป็นวิชาเกี่ยวข้องการเมือง ไม่ว่าโดยอ้อมหรือโดยตรง

ดังมีในหนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยของ วิราวรรณ ผู้จบการศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) แล้วไปเรียนต่อปริญญาโททางประวัติศาสตร์ (ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับ—-

Advertisement

“การเก็บรวบรวมและอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยสร้างกรุงเทพฯ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นอกเหนือจากเหตุผลทางด้านศาสนาแล้ว ยังมีอุดมคติทางการเมืองแฝงอยู่อย่างแยกไม่ออก

โดยเฉพาะเรื่องการแสดงสถานะทางการเมืองที่เหนือกว่าของชนชั้นนำสมัยสร้างกรุงเทพฯ ต่อหัวเมืองที่อยู่ในการปกครอง”

การเมืองเรื่องพระพุทธรูป ผมอ่านรวดเดียวจบเล่ม อย่างตาสว่างโพลงโจ่งแจ้งจางปาง เพราะไม่ใช่หนังสือคู่มือพระพุทธรูป “ซื้อพระ ส่องพระ ไม่เห็นพระ” (ผมจำจากวรรคแรกกวีนิพนธ์ของ อารักษ์ คคะนาท) แต่เป็นหนังสือการเมืองเรื่องสังคมต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของคนชั้นนำ ผ่านพระพุทธรูปจำนวนมากนับไม่ถ้วน

พระพุทธรูปเป็นแก่นของเนื้อหาหนังสือ ควรขยายรูปพระพุทธรูปเต็มหน้าทุกรูป (หรือเกือบทุกรูป) แต่ทำรูปประกอบเล็กๆ เหมือนแสตมป์ หนังสือดีๆ ก็กลายเป็นของเล่นๆ ไม่เป็นแก่นสารใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image