พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : พ้นจากมาตรฐานตึก-รำลึกการสูญเสียใต้ซากอาคาร : การฟื้นและสร้างเมืองหลังภัยพิบัติครั้งล่าสุด

กรุงเทพฯในปี พ.ศ.2568 เพิ่งผ่านสถานการณ์แผ่นดินไหวไปได้หนึ่งสัปดาห์กว่าๆ ยังมีเรื่องราวชวนขบคิดอีกหลายประการ

ภายหลังการตรวจอาคารเบื้องต้นของ กทม.และภาคีเครือข่ายอย่างวิศวะอาสา ทำให้ความกังวลในการกลับเข้าที่พักและอาคารสำนักงานผ่อนคลายลง และเงื่อนไขทางกฎหมายที่ประกาศเขตภัยพิบัติก็ถูกลดระดับลงเพื่อไม่ให้มีผลต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนตามที่ตัวแทนรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวแสดงความกังวล

เมื่อ “กรุงเทพฯ โอเค” แล้วในระดับหนึ่ง สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อก็คือการทบทวนว่าเราหลงลืมอะไรไป หรืออะไรคือบทเรียนที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในสัปดาห์ก่อน/สัปดาห์แรกของภัยพิบัติในครั้งนี้

และช่วยกันตั้งคำถามเรื่องอื่นๆ ที่พ้นไปจากเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง และเรื่องของข้อสงสัยในความฉ้อฉลต่อการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่มลงมาอย่างไม่มีชิ้นดี

ADVERTISMENT

และจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถประเมินความสูญเสียทางจิตใจต่อผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย และยังรอการกู้ชีวิตและนำร่างออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ

ในสัปดาห์นี้เรื่องราวในหน้าข่าวเริ่มมีความชัดเจนขึ้นอย่างมาก ในกรณีของการเปิดเผยเรื่องราวของผู้ที่ยังสูญหายอยู่ใต้ซากอาคารที่ถล่มลงมา ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากในการกู้ภัย และตัวเลขก็คงจำนวนอยู่ประมาณเจ็ดสิบกว่าราย

ADVERTISMENT

ต่างจากสัปดาห์ที่แล้วที่การพูดถึงจำนวนผู้สูญหายเป็นภาพของการสูญหายในลักษณะของการสูญหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว “ในเขต” กรุงเทพฯมากกว่าจำนวนผู้สูญหายที่คาดว่าเป็นผู้ประสบเหตุขณะที่ทำงานอยู่ในอาคารที่เกิดเหตุ ซึ่งตอนนี้จัดเป็นอาคารที่ทำสถิติโลกใหม่ ที่เป็นอาคารที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากแผ่นดินไหวที่อยู่ไกลศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด

จากข้อมูลที่กล่าวถึงกันจะพบว่าผู้สูญหายส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานที่มาจากอีสาน

ประโยคของ “ก้อง ห้วยไร่” นักร้องชาวอีสานที่มาแสดงดนตรีปลอบใจครอบครัวของผู้ประสบเหตุและสูญหายเป็นประโยคที่จับใจผมมาก

“คนภาคอีสานบ้านผมเป็นคนกลัวความสูงมาก ไม่มีความสูงให้อยู่ ไม่มีตึกสูง เต็มที่ก็ต้นไม้ พอขึ้นมาสูงหน่อยก็กลัว แต่ว่าถ้าไม่ขึ้นก็ไม่ได้ตังค์ มันรู้ว่าเป็นความจำใจที่ต้องขึ้นไป แต่ก็ช่างมันเถอะ เดี๋ยวกลับมาก็ได้เงิน เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัว ยิ่งช่วงนี้ปิดเทอมเด็กๆ นักศึกษาก็ไม่รู้จะไปไหน อาจจะต้องไปทำนา อย่างพวกผมก็เลือกที่จะลงมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อจะได้เอาเงินไปเรียนต่อ” (Facebook ไทยรัฐบันเทิง 3 เมษายน 2568, 20.07 น.)

ที่อยากเน้นย้ำคือคำพูดนี้ถูกตีพิมพ์ในข่าวบันเทิง ไม่ใช่ข่าวการเมือง ข่าวคอร์รัปชั่น และการทุจริต

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมพูดถึงความเปราะบางของคนชั้นกลาง เจนเนอเรชั่นเดียวกับทั่นผู้นำประเทศ ที่ปากกัดตีนถีบ ซื้อ ผ่อน เช่า อาคารสูงใกล้รถไฟฟ้า ตามจริตของการพัฒนาเมืองแบบอิงกับระบบขนส่งขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Transit Oriented Development-TOD) ที่เป็นหนึ่งในตัวแบบของการพัฒนาเมืองที่หลายคนสมาทาน

หรือไม่ได้สมาทานก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว พวกเขาพบปัญหาที่เปิดให้เห็นความเปราะบางของพวกเขาอย่างไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือสภาวะที่ไปไหนไม่ได้ ขึ้นกลับที่ทำงานก็ไม่ได้เพราะเพิ่งหนีลงมาจากตึกสูง จะกลับอาคารชุดก็ไม่ได้เพราะเป็นตึกสูง จะเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่แบบรถไฟฟ้าก็ถูกปิด จะขับรถ รถก็เอาลงมาไม่ได้ หรือติดอยู่บนถนน รถเมล์รถขนส่งแบบอื่นก็ขยับไม่ได้ ยังไม่นับว่าทางลงทางด่วนดินแดนคือเส้นเลือดใหญ่นั้นถูกปิดลง

สภาพการเดินกลับบ้านไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงถึง 5 ชั่วโมง หรือการพักคอยในสวนสาธารณะ ทำให้พวกเขาเริ่มเห็นและกังวลว่าอนาคตที่มีกับเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร

ผมไม่ซื้อคำอธิบายที่ว่าแผ่นดินไหวเป็นข้อยกเว้น และมันจะไม่เกิดอีก

เพราะต่อให้มันไม่เกิดอีก สิ่งที่เราต้องสนใจก็คือ เมืองของเรามันไม่พร้อมจะสู้กับภัยพิบัติอะไรทั้งสิ้นทั้งปวง

อย่าลืมว่าภัยพิบัติมันมักจะเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง และมันมาถึงเราจากภายนอก

เรายังไม่รู้จะมีอะไรเกิดขึ้นอีก

มีแต่ธุรกิจและกระแสการลงทุนของโลกที่ไม่ต้องให้เราคิดนอกกรอบเดิมหรือเปล่า ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องเปลี่ยนอะไร

คราวที่แล้วก็คือภัยพิบัติจากโควิด ที่ตอนแรกก็ตื่นเต้นกับคำว่า “ความปกติใหม่”

จนถึงวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาคารสูง การให้ความสนใจกับความหนาแน่นของพื้นที่เมือง และการขนส่งขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นอีก

ใครหรือพลังอะไรกันแน่ที่ไม่ต้องการให้เราเปลี่ยน ไม่ต้องการให้เมืองเปลี่ยน

มีแต่จะพยายามบอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันก็ต้องเป็นไปแบบนี้ อย่าไปคิดถึงทางเลือกอื่น

บางครั้งก็มีเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างความเชื่อมั่น กับความจำนนต่อการคิดถึงเรื่องใหม่ๆ

ย้อนกลับมาสู่โลกของแรงงานในเมืองที่เป็นแรงงานก่อสร้าง ซึ่งเรื่องราวของเขาทั้งที่ติดอยู่ในซากตึก และที่ยังต้องออกไปทำงานในไซต์งานอื่นๆ ยังไม่ได้พูดถึง

ช่องข่าวที่เน้นตลาดชาวบ้านระดับประเทศจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวในเชิงสัมผัสอารมณ์กับความรู้สึกของคนที่ยังอยู่ ยังรออยู่ที่ศูนย์พักคอย

หรือข่าวที่เดินทางกลับไปที่ต้นกำเนิด ที่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา รายงานข่าวด้วยความสะเทือนใจ โดยเฉพาะความสูญเสียยกครอบครัว และเรื่องของความเสียสละของพวกเขาอีกหลายคน

พวกเขาคือประชาชนที่ก้มหน้าทำงานในเมือง แบกเมืองให้กับความมั่งคั่ง งดงามดังเทพสร้างของเมืองแห่งนี้

พวกเขาคือคนที่ไม่ถูกเห็น ไม่ถูกนับอีกมากมายมหาศาล

มีข่าวหรือรายงานกี่ช่องที่กล่าวถึงสภาพชีวิตของคนเหล่านี้ กล่าวถึงชีวิตประจำวันของพวกเขา ว่าเขามาอยู่อย่างไร ทำงานอย่างไร สภาพการทำงานของพวกเขาดีไหม ปลอดภัยไหม

บางส่วนอาจได้ยินจากเสียงขับขานในบทเพลงลูกทุ่ง บทเพลงเพื่อชีวิต

แต่เราไม่เคยรู้ว่าพวกเขามาจากไหน ไปพักที่ไหน ใช้ชีวิตนอกไซต์งานอย่างไร

เราเห็นพวกเขาในตอนเช้า ขึ้นรถหกล้อที่ปิดด้วยกรงเหล็กในเครื่องแบบเดียวกัน ใส่หมวกก้มหน้าก้มตาทำงาน หรือนั่งรถอยู่ข้างหน้าเราเมื่อเลิกงาน

เราเห็นพวกเขาเดินออกมาจากซอกอาคาร อาจจะเช่าอยู่ในชุมชนโดยรอบของบริเวณก่อสร้าง

หรือบางทีพวกเขาก็อยู่ในแคมป์คนงานในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ภาวะ “ชั่วคราว” ในการดำรงชีพที่ละเอียดลออกับการทำงานตามมาตรฐานการก่อสร้างอาคารหลักร้อยล้านพันล้าน ช่างต่างกับการตามติดชีวิตเขาว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน กินอะไร และมีเรื่องราวอะไรบ้างในแต่ละวัน

พวกเขาเชื่อมโยงเมืองกับชนบทเข้าด้วยชีวิตและหยาดเหงื่อของพวกเขาอย่างไร ทั้งการเดินทาง พรากจาก ส่งเงิน ฝากคนที่รักให้พ่อแม่ ตายายเลี้ยงดู

มาตรฐานสิ่งที่พวกเขาสร้าง ที่งดงาม เป็นที่ชื่นชม เมื่อสำเร็จแล้วเขาก็ก้มหน้าไปอยู่ที่ไซต์งานใหม่ ต่างจากมาตรฐานการใช้ชีวิตในเมืองของพวกเขา

นี่ยังไม่นับแรงงานต่างด้าวที่เรื่องราวซับซ้อน และหนักอึ้งกว่าพี่น้องชาวอีสานและจังหวัดอื่นๆ อีก

พวกเขาเป็นคนจนเมืองกลุ่มหนึ่งที่เปราะบาง เคลื่อนไหว เคลื่อนที่ และมีชีวิตที่อยู่ในภาวะชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่

อาจกล่าวได้ว่า ภาวะความไม่มั่นคงของพวกเขาคือภาวะปกติที่เขาต้องอยู่ให้ได้ด้วยความจำเป็น เป็นยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้ ที่แตกต่างราวฟ้ากับดินกับถ้อยคำอันหรูหราในภาษาของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและพัฒนาเมือง

มาตรฐานการใช้ชีวิตในแคมป์คนงาน ในบ้าน หรือห้องที่ขอแบ่งเช่า หรือในหอพักที่บริษัทจัดหาให้ ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของผังเมืองและมาตรฐานการก่อสร้างใดๆ เลย (มาตรฐานของแคมป์คนงานไม่ได้อยู่ในแบบเดียวกับที่พักอาศัยปกติ และห้องเช่าที่ไม่เป็นทางการ ไม่เคยมีการตรวจสอบใดๆ)

ทั้งหมดนี้เพื่อให้เมืองมันเติบโต งดงาม นำมาซึ่งความมั่งคั่ง ดึงดูดการท่องเที่ยวและลงทุน

การกินดีอยู่ดีของเมืองที่จะต้องดำเนินต่อไปจำต้องคำนึงถึงคนเหล่านี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่มีทะเบียนบ้านในเมือง มีทรัพย์สินในเมือง

นี่คือรากฐานประการหนึ่งของสิทธิที่จะมีชีวิตในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (Rights to the City) ที่เป็นฐานคิดที่สำคัญในการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive City) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ นอกเหนือจากเมืองยั่งยืน และเมืองพร้อมฟื้นสภาพ

ที่ทำให้เห็นว่าเมืองนั้นจะต้องเป็นของทุกคน (city for all) ไม่ใช่เฉพาะลูกหลานของคนมีทรัพย์สินในเมืองหรือไม่ใช่เมืองที่ใช้ข้ออ้างในการสู้ภัยพิบัติในการไล่คนบางกลุ่มออกจากเมืองเพราะกีดขวางการวางระบบป้องกันภัยพิบัติ เช่น กีดขวางทางน้ำและคูคลอง ตลิ่ง

การพูดถึงเมืองสำหรับทุกคนเป็นรากฐานการเข้าใจเรื่องการสร้างความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองในระดับเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของที่อยู่อาศัยและรากฐานเรื่องของสวัสดิการอื่นๆ ของทุกคนในเมือง

อีกเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามก็คือ นอกเหนือจากการตรวจตึกและการกู้ภัยแล้ว สิ่งที่จะสามารถมองว่าเป็นโอกาสให้กับการฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติในครั้งนี้ก็คือเรื่องของการสร้างเสริมชุมชนให้แข็งแรง

ซึ่งในสิ่งที่เราต้องคิดในตอนนี้ก็คือการสร้างความเป็นชุมชนในระดับเขต ให้เกิดแผนการพัฒนาเขตที่มากกว่าเรื่องแค่จะระบายสีว่าเขตหนึ่งๆ จะมีการใช้ที่ดินตามมาตรฐานผังเมืองอย่างไร ในความหมายของส่วนพาณิชยกรรม ที่พักอาศัยตามความหนาแน่น และพื้นที่สีเขียว

มาสู่การเข้าใจการวางผังเมืองในแบบยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ คือกำหนดในแต่ละเขตว่าจะมีส่วนใดเป็นพื้นที่ที่รองรับภัยพิบัติได้บ้าง ทุกเขตมีโครงสร้างในการรับมือภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ อย่างไร เช่น น้ำท่วม ฝุ่น ฝน โรคระบาด หรือแผ่นดินไหว เราจะมีอะไรได้มากกว่าสวนสาธารณะ เช่น โรงเรียน วัด หรืออาคารใด และระบบการสนับสนุนชีวิตในยามฉุกเฉินอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถออกความเห็นและอาสาเข้ามาร่วมงาน และฝึกซ้อมการรับมือเรื่องเหล่านี้ได้ด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญแต่กับการจัดซื้อเทคโนโลยีราคาแพงเท่านั้น

สิ่งที่พูดถึงนี้คือการสร้างการเปลี่ยนผ่านจากช่วงการฟื้นสภาพและการฟื้นฟูไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่ที่ต้องคิดอย่างจริงจัง เพราะเอาเข้าจริงคนไทย คนกรุงเทพฯ มีสำนึกสาธารณะสูงมาก สนใจติดตามข่าวและอยากจะมาบริจาคช่วยเหลือโดยตลอด เพียงแต่ยังหาช่องทางการเปิดโอกาสสิ่งเหล่านี้ได้ไม่มากพอ (เราเป็นประเทศและเมืองที่ต้องขอเปิดรับบริจาคต่อผู้ประสบภัยตลอดเวลา)

อีกบทสนทนาทางแนวคิดและการปฏิบัติที่น่าสนใจหลังภัยพิบัติก็คือ การปะทะคัดง้างกันระหว่าง “ทุนนิยมภัยพิบัติ” (disaster capitalism) กับ “การรวมตัวช่วยเหลือกันเอง สู้และสร้างชีวิตใหม่หลังภัยพิบัติ” (disaster cooperativism)

ทุนนิยมภัยพิบัติ คือการทำมาหากินสร้างความมั่งคั่งผ่านงบประมาณการฟื้นฟูเมืองขององค์กรรัฐ และจากนักพัฒนาที่ดินที่จะฉวยโอกาสอวดสรรพคุณของโครงการของตนเอง และอาจจะขึ้นราคาโครงการเพื่อชี้ว่าสิ่งที่เขามอบให้คือความมั่นคงปลอดภัยกว่าโครงการอื่น หรือรับซื้อโครงการที่มีปัญหาในราคาถูกเพื่อนำมาปรับปรุงและตั้งราคาที่แพง หรือเพิ่มสินเชื่อปรับปรุงสภาพอาคาร การประกันภัยในราคาสูงลิ่ว

ขณะที่การรวมตัวช่วยเหลือกันเอง สู้และสร้างชีวิตใหม่หลังภัยพิบัติ อาจทำงานด้านอื่นได้ เช่น ริเริ่มโครงการอาสาสมัครต่างๆ แบ่งปันสิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องใช้จำเป็นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการพัฒนาระบบการให้เงินกู้กับชุมชนและผู้พักอาศัยแบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้คนสามารถซ่อมแซมบ้านและอาคาร หรือธุรกิจได้ หรือการสร้างระบบพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดต้นทุนพลังงานลง รวมถึงการสร้างโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องรอให้รัฐสร้างเป็นโครงการขนาดใหญ่ (ดูรายละเอียดใน O. Abello. 2024. Resilience and Regeneration, Disaster after Disaster. Nextcity.org. 22/10/2024 และ K. Dombroski and A. Yates. 2022. What a post-quake city teaches us about urban recovery and transformation. Nextcity.org. 26/09/22.)

เรื่องเหล่านี้ทำให้เราต้องคิดว่า ในกรณีของความร่วมมือในการสู้กับภัยพิบัติ (disaster cooperativism) ในบ้านเราในระดับเขตและในระดับนครจะทำอะไรได้บ้าง บางทีอาจจะเริ่มง่ายๆ ถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงาน และการพักอาศัยของแรงงานสร้างอาคารการเตรียมพื้นที่สำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงกับผู้พักอาศัยในอาคารสูง รวมถึงระบบรองรับชีวิตและสวัสดิการให้กับพวกเขาเหล่านั้น

บทบาทของทนายอาสาที่ช่วยประเมินสถานการณ์ในการฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหาย แทนที่จะพูดแต่ค่าชดเชยจากภาครัฐ (รัฐเองควรพูดถึงว่าจะเป็นเจ้าภาพที่จะฟ้องร้องค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยในหลากหลายรูปแบบด้วย)

นี่คืออีกส่วนหนึ่งที่จะพาเราไปสู่การเปลี่ยนผ่านเมืองหลังภัยพิบัติที่ไม่ได้พึ่งผู้นำสถานการณ์ไม่กี่คนมาสู่การช่วยกันคิดอีกหลายๆ มุมในเรื่องที่เรากำลังเผชิญในวันนี้จนถึงวันข้างหน้า มากกว่าจะเถียงกันว่าแผ่นดินไหวมันจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image