ผู้เขียน | ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ |
---|
ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในชั่วชีวิตของคนหลายคนที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครกับอีกหลายจังหวัด เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ช้าไม่นาน วิถีชีวิตปกติสามัญเริ่มคืบคลานกลับมาหาคนไทยอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เร็วจนดูราวกับว่าไม่เคยมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จำหลักอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อยเลย
สำหรับคนกรุง ภาพจำติดตาของหลายคนคงเป็นวินาทีที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่มลงมาพังพาบกับพื้น กองซากปรักหักพังขนาดมหึมาที่เห็นประจักษ์แก่ตา และปฏิบัติการกู้ภัยที่ยังคงดำเนินอยู่ ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ไปโดยปริยาย แม้ว่าในความทรงจำของอีกหลายต่อหลายคนกลับเป็นสภาพโกลาหล ที่ทุกคนพากันกรูลงมาจากอาคารสูงทั่วกรุงพร้อมๆ กันโดยมิได้นัดหมาย ยึดเอาท้องถนนเป็นที่ปักหลักชั่วคราว จนกลายเป็นปรากฏการณ์รถราติดขัดวินาศสันตะโร ผู้คนไม่น้อยต้องใช้เวลาอยู่บนรถ บนถนน ร่วม 5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
คำถามที่ตามมาก็คือ สถานการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สอนบทเรียนอะไรให้เราบ้างหรือไม่? คำตอบของคำถามนี้แตกกระจายออกเป็นหลากเรื่องหลายประเด็น แต่ทุกเรื่อง ทุกประเด็น มีเหตุผลต่อท้ายที่คล้ายคลึงกันอยู่ว่า เหตุการณ์นี้สอนให้เราได้รับรู้ว่า แผ่นดินไหว ไม่ได้ไกลตัวเราอย่างที่เคยคิดกัน และทำให้เราตระหนักรู้ว่า จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันต่อไปในอนาคต
บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอย่างนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องระบบเตือนภัยเอาไว้อย่างจริงจัง เคร่งเครียด ไล่เบี้ยชนิดเอาเป็นเอาตาย ทั้งบีบ ทั้งเค้น จนในที่สุดก็ได้ความว่า ประเทศของเราจะมีระบบเตือนภัยแบบใหม่ ที่เป็นระบบ เซลล์บรอดแคสต์ หรือซีบีเอส ใช้กันในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีถึงได้เลิกพูดถึงเรื่องนี้
คำถามที่ผมอยากถามท่านนายกรัฐมนตรีเอาไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ซีบีเอส ที่จะมีมาให้ใช้กันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จะเอาไว้เตือนอะไร? เหตุเพราะว่า นี่คงไม่ใช่การเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นวิบัติภัยที่คาดการณ์ หรือทำนายทายทักวันเวลากันไม่ได้ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ก็คือ ระบบเตือนภัยของญี่ปุ่น ถึงอย่างนั้น ญี่ปุ่นก็เตือนภัยล่วงหน้าได้เพียงแค่ 4 วินาที ก่อนเกิดแผ่นดินไหวจริงขึ้นมาเท่านั้นเอง
เมื่อไม่ใช่การเตือนภัยล่วงหน้า ก็ต้องถือเป็นเพียงระบบเตือนภัยแจ้งเหตุให้รับทราบ รวมทั้งระบุแนวทางให้ปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอีกเป็นพรวน โดยเฉพาะเมื่อใช้กับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวที่นานๆ ครั้งจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ผมยังคิดไม่ออกว่าการมีระบบซีบีเอสจะช่วยลดความโกลาหล อลหม่านที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ลงได้อย่างไร
การนำเอาระบบเตือนภัยมาใช้กับกรณีการเกิดแผ่นดินไหว จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอีกหลายต่อหลายอย่างประกอบกันไป ไม่เช่นนั้นแล้ว การเตือนภัยก็ไม่มีวันเกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ ญี่ปุ่น ลงทุนเรื่องระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเอาไว้เต็มที่ ด้วยเล็งเห็นว่า 4 วินาทีที่พวกเขาได้มา สามารถก่อประโยชน์ได้ สามารถรักษาชีวิตได้ เช่น ช่วยเตือนให้คนที่อยู่ในอาคารทำตามแนวทางที่ซักซ้อมกันไว้ เพื่อรักษาชีวิต รอจนแผ่นดินหยุดไหว แล้วถึงจะออกจากตัวอาคาร หรือให้คนที่รอรถไฟอยู่ที่สถานีทุกสถานี เร่งเคลื่อนย้ายเข้าสู่ “เซฟโซน” ซึ่งจัดทำไว้ในทุกสถานีที่ญี่ปุ่น
เมื่อคนญี่ปุ่นออกจากตัวอาคาร หลังแผ่นดินไหวผ่านไป พวกเขารู้โดยอัตโนมัติว่าจะไปอยู่ที่ใด ทุกคนมี “ถุงยังชีพ” ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าตามแนวปฏิบัติที่ฝึกซ้อมกันมาติดตัว สำหรับยังชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง 3 วัน จนกว่าอิทธิฤทธิ์ของอาฟเตอร์ช็อกสิ้นสุดลง พวกเขารู้ด้วยซ้ำไปว่า ถ้าต้องการเจอญาติต้องไปยังสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวในท้องที่ เพราะทุกคนจะไปรวมตัวกันอยู่ในที่เดียวกัน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเตรียมตัวพร้อมล่วงหน้า มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีการฝึกซ้อมอย่างเคร่งครัด จริงจัง สม่ำเสมอ มีการกำหนดสถานที่ไว้อย่างชัดเจน รับรู้ทั่วกัน ที่สำคัญก็คือคนญี่ปุ่นแน่ใจได้ว่า อาคารบ้านเรือนที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับที่ไม่ถล่มพังพาบลงมาใส่ตัวพวกเขา หรืออย่างน้อยทางการญี่ปุ่นก็ทำให้พวกเขาเชื่อได้อย่างนั้น
การนำเอาระบบเตือนภัยมาใช้กับเหตุแผ่นดินไหว จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสารพัดปัจจัยหลายอย่างหลายประการ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเซลล์บรอดแคสต์หรือไม่เท่านั้นนะครับ
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์