ธรรมกาย โกตี๋ วอยซ์ทีวี ภาษีหุ้นชิน ล้วนคนละเรื่องเดียวกัน

เหมือนเสียงปี่กลองของเวทีมวยการเมืองเริ่มโหมโรง

สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการโหมโฆษณาบรรยากาศปรองดอง

ในอีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งทั้งที่ชัดเจนว่าเป็นประเด็นการเมืองโดยตรง และส่อนัยว่าเป็นการเมือง

ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระลอก

Advertisement

ล่าสุดคือกรณีสั่งปิดวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วัน

 

สัปดาห์ที่แล้ว คณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. สั่งให้วอยซ์ทีวีเข้าชี้แจงรายการ “ใบตองแห้ง” ออกอากาศวันที่ 15 มีนาคม กรณีการวิจารณ์ มาตรา 44 ปิดวัดพระธรรมกาย

จู่ๆ ในวันศุกร์ กสทช. ระบุว่า

คสช.ขอให้ดำเนินการสอบสวนรายการของวอยซ์ทีวีเพิ่มขึ้นอีก 3 กรณี

โดย กสทช.ตรวจสอบอีก 2 กรณี

ได้แก่

รายการ “In Her View” ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม หัวข้อไล่เรียงเหตุการณ์โกตี๋กับอาวุธ พร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร

รายการ “Over View” ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม หัวข้อ “กองทัพบกป้องทหาร ยันยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี”

โดยมติของอนุกรรมการในเช้าวันที่ 27 มีนาคม

คือระงับการออกอากาศทั้งสถานี 3 วัน

ด้วยเหตุผลว่า “ทำความผิดซ้ำซาก”

แต่ถึงช่วงบ่ายวันเดียวกัน บอร์ด กสท.ลงมติให้ระงับการออกอากาศทั้งสถานี 7 วัน

ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 28 มีนาคม

 

มติที่ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย

เรียกปฏิกิริยาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไม่ผิดคาดหมาย

แต่ที่นอกเหนือไปจากความคาดหมาย

ก็คือท่าทีที่เปลี่ยนไป

จากที่เคยเลือกจะก้มหน้ารับผลการตัดสินโดยดุษณี

หนนี้วอยซ์ทีวีออกแถลงการณ์ในเย็นวันเดียวกัน

คัดค้านมติดังกล่าว และ

“จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน

และดำเนินการทางแพ่งและปกครองตามความเหมาะสมต่อไป”

สะท้อนภาพเดียวกับสองเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

ประการหนึ่ง คือท่าทีของ ส.ส.เพื่อไทยภายหลังถูกระงับการแถลงข่าวเรื่องหนังสือที่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าว

ประการหนึ่ง คือท่าทีพรรคเพื่อไทยต่อแนวทางปรองดองของรัฐบาล

 

25 มีนาคม ที่สวนสวนรถไฟ เขตจตุจักร

เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสั่งยกเลิกการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา”

ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ของโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยระบุว่าสวนสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนทั่วไปออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ

ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมการเมือง

อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.

ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หนึ่งใน 5 ส.ส.ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ไม่รู้ว่าเนื้อหาของหนังสือมีส่วนใดที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.

เพราะเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของชาวนาโดยตรง

แต่ก็จะนำหนังสือไปจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติต่อไป

เป็นท่าที-หยุดแต่ไม่เลิก

ขณะที่ปลายสัปดาห์ก่อนหน้า พรรคเพื่อไทยก็เพิ่งจะออกแถลงการณ์ แสดงท่าทีต่อแนวทางปรองดองของรัฐบาล

มีเนื้อหาที่แหลมคมกว่าท่าทีประนีประนอมเดิมๆ

อาทิ

สาเหตุส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

“หากฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งใช้กระบวนการในระบบรัฐสภา และเคารพในกติกาประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันทหารวางตนเป็นกลาง ไม่ก่อการรัฐประหาร

ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น”

หรือแนวทางแก้ไขด้วยการ “ปฏิรูป” ก็ควรจะ

“ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม

ไม่มีระบบสองมาตรฐานอีกต่อไป”

 

เมื่อผนวกเข้ากับท่าทีต่อการจัดการวัดพระธรรมกายก่อนหน้า

ที่เน้นการ “สลายการจัดตั้ง” มิให้เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใด

มากกว่ามุ่งหาตัวพระไชยบูลย์ สุทธิผล

หรือการเข้าจู่โจมจับกุมอาวุธในเครือข่าย “โกตี๋” เสื้อแดง ฮาร์ดคอร์ แบบชนิดฉับพลัน

แล้วโยงเข้าไปถึงกรณีวัดพระธรรมกาย

ไปไกลถึงขั้นการเตรียมลอบสังหารผู้นำฝ่ายทหาร

รวมทั้งกรณี “อภินิหาร” ในการจัดเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป จากนายทักษิณ ชินวัตร

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” โดยแท้

และส่งสัญญาณว่าการเมือง 2560 นั้นไม่ธรรมดา

และไม่ปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image