ที่มา | คอลัมน์ : ไทยพบพม่า |
---|---|
ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
แผ่นดินไหวที่ไทย และพม่าเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ในไทย
แม้จะมีอาคารสูงเพียงแห่งเดียวที่ถล่มลงมาเพราะ “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” แต่อาคารบ้านเรือนอื่นๆ โดยเฉพาะอาคารสูงต่างพบรอยร้าว เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่เราเห็น กทม.ระดมสรรพกำลังด้านวิศวกรรมโครงสร้างเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารสูงทั่วกรุง เรายังได้เห็นการทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่ออพยพคนกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่เสี่ยง และการช่วยเหลืออีกหลายมิติ ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐของไทยได้รับเสียงชมเรื่องการจัดการภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว ที่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับไทย
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน แต่เกิดความสูญเสียอีกระดับ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันที่ 4 เมษายน จาก Myanmar Emergency Coordination Unit แผ่นดินไหวในพม่ากระทบกับ 3 ภาค (มัณฑะเลย์ สะกาย และพะโค) 1 เขต (เนปยีดอ) และ 3 รัฐ (ฉาน คะเรนนี และกะเหรี่ยง) มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 3,911 คน ในจำนวนนี้ 2,504 คนมาจากภาคมัณฑะเลย์
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์มาจากที่ตั้ง ที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ที่พาดผ่านใจกลางพม่าจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ ซึ่งถือว่าหากเลื่อนขึ้นมาเมื่อใด จะเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่มีพลัง ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนผู้ประสบเหตุที่มีหลายพันคน ไม่ได้สะท้อนระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวขนาด 7.7 และ 6.4 ที่ทำให้อาคารใหญ่น้อยและศาสนสถานหลายพันแห่งได้รับความเสียหายหรือพังทลายลงมาเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลพม่า ที่ไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติในสเกลใหญ่แบบนี้ได้
แน่นอน คงมีคนพูดว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไร ก็คงรับมือกับแผ่นดินไหวที่รุนแรงระดับนี้ยาก อาจจะยกเว้นญี่ปุ่นไว้ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างและ “มายด์เซต” ที่รองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ แต่เรื่องนี้ให้บทเรียนกับเราว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องทำยังไง ภาพแรกๆ ที่ออกมาคือพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เดินทางไปตรวจดูความเสียหายและเยี่ยมประชาชนในเนปยีดอ ผู้เขียนมองว่าแผ่นดินไหวก็ช็อกความรู้สึกของผู้นำรัฐบาลทหารพม่าไม่ต่างจากคนทั่วโลก เพราะคนพม่ามีความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างมาก สำหรับคนพม่า แผ่นดินไหวเป็นเหมือนลางบอกเหตุร้าย และเป็นเหมือนสัญญาณไปถึงพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ว่าบ้านเมืองมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว
ที่ผ่านมาพม่าเคยมีแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่ใกล้กับยุคของเรามากที่สุด คือแผ่นดินไหวที่พะโค (หงสาวดี) ในปี 1930 ที่ก็ตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนสะกายเช่นเดียวกัน เมื่อไปเยือนพม่า เรามักเห็นร่องรอยของแผ่นดินไหวอยู่ตามวัดวาอาราม ทั้งยอดเจดีย์ที่พังลงมา ซึ่งหลายวัดยังคงเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พม่าไม่ได้ประสบแผ่นดินไหวเป็นครั้งแรก แต่การรับมือภัยพิบัติในพม่ายุคนี้ยากเป็นพิเศษ ในไทย เมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น หน่วยงานราชการในไทยยัง “เอาอยู่” แต่สำหรับประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามอย่างพม่า รัฐบาลไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในทุกๆ ด้าน บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน หรือ CDM ไปตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การปิดประเทศกลายๆ และการปิดรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ (เว้นไว้แต่ชาติที่รัฐบาล SAC ไว้วางใจ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ไทย และอาเซียน) ทำให้การบรรเทาสาธารณภัยทุลักทุเล
ในส่วนภาคประชาสังคมของพม่าเองก็ไม่ไว้วางใจรัฐบาลทหาร และหน่วยงานทั้งหมดที่อยู่ภายใต้รัฐบาล SAC จึงต้องเรี่ยไรเงินบริจาคและช่วยเหลือกันเอง เพราะหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยในระดับนานาชาติ ไม่สามารถเข้าไปในพม่าได้ ความไม่ไว้วางใจชาวต่างชาตินี้เป็นหนึ่งในคติพจน์ของกองทัพพม่ามาหลายสิบปี เพราะเขาเชื่อว่าหากปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามา พม่าก็จะถูกแทรกแซงจากภายนอก
เ มื่อแนวคิดนี้เป็นกระแสหลักของกองทัพพม่า ทำให้การจัดการภัยพิบัติในพม่าเต็มไปด้วยข้อจำกัด เมื่อเกิดพายุไซโคลนนาร์กิสขึ้นในปี 2008 พม่าเข้าสู่ยุคปฏิรูปทางการเมืองแล้ว แต่ด้วย “มายด์เซต” เดิมๆ ทำให้รัฐบาลทหารภายใต้ SPDC ยังปิดกั้นไม่ให้ทีมช่วยเหลือจากนอกประเทศเข้าไป การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนเป็นไปโดยช้าและมีข้อจำกัด เพราะที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรของเกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำในพม่าตอนล่างได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด และมีประชาชนเสียชีวิตจากไซโคลนนาร์กิสไปมากถึง 1.3 แสนคน พม่าใช้เวลานานหลายปีเพื่อฟื้นฟูประเทศ ถึงแม้ว่าความเสียหายทางกายภาพจะพอกลับมาได้บ้าง แต่บาดแผลในใจและความไม่ไว้วางใจรัฐยังมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
การฟื้นฟูประเทศไม่ได้มีเพียงการบูรณะอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง แต่การบูรณะพม่าอย่างถาวรนั้น เราต้องหยุดภาวะสงครามและภาวะรัฐล้มเหลวแบบนี้ให้ได้ มิเช่นนั้น หากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีก ก็จะเกิดความสูญเสียเช่นนี้อีกไม่จบสิ้น ในส่วนของไทยเอง สังคมเราก็ต้องตระหนักรู้ว่าในมิติของวัฒนธรรมและผู้คน ไม่มีประเทศใดที่จะใกล้ชิดกับพม่ามากเท่ากับไทยอีกแล้ว จริงอยู่ว่ารัฐบาลทหารพม่าเลือกเข้าหาพันธมิตรทางทหารอย่างจีนและรัสเซียเป็นหลัก แต่ไทยเองก็ต้องทำให้เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของเราเห็นว่าเราคือเพื่อนบ้านที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง ไทยมีแรงงานพม่าในทุกระดับอยู่หลายล้านคน เงินจากแรงงานพม่าที่ส่งกลับไปให้ครอบครัวที่พม่ามีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ดังนั้นความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมในไทยนี่แหละที่จะช่วยให้พม่ากลับเข้าสู่ความปกติอีกครั้ง
นอกจากนี้ หากรัฐบาลไทยมีความกล้าหาญด้านความมั่นคงและการทูต รัฐบาลของเราก็ต้องช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความสงบและสันติภาพที่ถาวรในพม่า เพราะความมั่นคงของพม่าย่อมสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ปัญหาทั้งเรื่องของยาเสพติด สแกมเซ็นเตอร์ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม รุนแรงจนเกินไป เพราะรัฐพม่าที่เข้มแข็ง ย่อมเติบโตไปพร้อมกับเราอย่างมั่นคง