ที่เห็นและเป็นไป : ราคา ‘อำนาจประชาชน’

ที่เห็นและเป็นไป : ราคา‘อำนาจประชาชน’

ท่ามกลางเจตนาทำลาย “ระเบียบโลก” ที่เคยใช้ร่วมกันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอเมริกาเปิดฉากปฏิเสธที่จะเอื้ออำนวยให้ประเทศต่างๆ อยู่กันอย่างปกติในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น “สงครามการค้า-การดูแลสิ่งแวดล้อม-การส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และพัฒนาโลกาภิวัตน์ไปในทางลดความเหลื่อมล้ำ ก่อความเท่าเทียมให้ประชาชนโลก”

การโจมตีทุกด้านของสหรัฐในยุคสมัยที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีขณะนี้ ยากที่ใครจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศได้ถูกต้อง

สงครามทางการค้าจะพัฒนาไปสู่การใช้กำลังกันเพื่ออาศัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นโอกาสและเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของมหาอำนาจให้พ้นวิกฤตหรือไม่

ADVERTISMENT

ทั้งโลกคงทำได้แค่ตั้งหลักหาวิธีการรับมือ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีบารมี หรืออำนาจต่อรองมากได้นัก แต่หาทางที่จะทำให้ผลกระทบไม่สร้างความเสียหายรุนแรงมากนัก

แต่แม้จะมีโอกาสตั้งความหวังเพียงเท่านี้ จะทำได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถบริหารจัดการประเทศว่ามีความเฉลียวฉลาด สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการเพื่อรับมือได้ถูกทางอย่างทันท่วงทีได้หรือไม่

ADVERTISMENT

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีศักยภาพในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รับมือสถานการณ์โลกที่วิกฤตเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นประเทศที่มีโครงสร้างอำนาจเอื้อต่อการใช้ความฉลาดเฉลียวและความรู้ความสามารถของคนในชาติได้เต็มที่ ไม่เพียงไม่มีปัจจัยอะไรมาเหนี่ยวรั้งเป็นอุปสรรคขัดขวางเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสนอตัว แสดงบทบาทอย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับการขัดขวางอย่างไม่เป็นธรรม

ความน่าสนใจอยู่ที่ประเทศไทยเรามีสภาวะที่เอื้อต่อโอกาสรับมือกับวิกฤตโลกอย่างมีประสิทธิภาพเท่าทันหรือไม่

หากตั้งหลักกันที่ระบอบการปกครองที่เลือกใช้ มาเป็นหลักในการบริหารจัดการประเทศคือ “ประชาธิปไตย” และหาคำตอบเอาจากประสิทธิภาพของ 3 อำนาจหลักที่ค้ำยัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างหวังได้ในประสิทธิผล คือ “บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ” จะพบว่า 3 อำนาจที่เป็นเสาหลักประชาธิปไตยของไทยถูกทำให้แปลกออกไปจากรูปแบบและประสิทธิภาพของประชาธิปไตยสากล

ดูเหมือนว่าทั้ง 3 สถาบันจะมีอำนาจที่ผสมปนเป ถูกออกแบบให้มุ่งเน้นไปในทางที่เป็นอุปสรรคของกันและกันมากกว่า

“อำนาจบริหาร” ที่รับรู้กันอยู่คือในโครงสร้างมี “รัฐพันลึก” ซ่อนซ้อนอยู่ในโครงสร้างที่มีกติกาและองค์กรปฏิบัติการที่มีอำนาจและบทบาทแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลในรูปของความเป็นอุปสรรคให้รับรู้กันอย่างไม่ปิดบัง ว่าทำให้รัฐบาลจัดการตามนโยบายประเทศที่ให้ไว้กับประชาชนไม่ได้ หากไม่ผ่านความเห็นชอบของกลไกอำนาจที่ซ่อนซ้อนอยู่เบื้องหลัง เห็นได้ชัดว่าหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและบริหารประเทศต้องถูกยกเลิกไป ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามด้วย

เป็นประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถใช้ “อำนาจบริหาร” ได้จริง

“อำนาจนิติบัญญัติ” ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงกับการจัดการกฎหมาย เป็นที่รับรู้กันว่าเรามีกฎหมายล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่เงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องศึกษาเพื่อยกเลิก และเขียนขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมและส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่า “สมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีบทบาทในหน้าที่นี้กลับมีพฤติกรรมค่อนข้างโกลาหล ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ที่เหมือนไม่มีความรู้ว่าหน้าที่หลักของตัวเองคืออะไร

ควรจะให้ความสำคัญเร่งด่วนกับงานแบบไหน เพื่อเร่งรัดการแก้ไขอุปสรรคการพัฒนาประเทศชาติ

สำหรับ “อำนาจตุลาการ” ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของกลไกต่างๆ ให้ดำเนินไปตาม “หลักนิติธรรม” แต่ที่ผ่านมาสำหรับผู้คนที่มีความหวังกับการใช้อำนาจที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้อยู่กับร่องกับรอย กลับได้แต่หันมามองหน้ากันตาปริบๆ แบบพูดไม่ออกบอกไม่ถูกกันโดยทั่วไป

เราอยู่กันด้วยโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศแบบนี้

ไม่ใช่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึก ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไขด้วยความหวังว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วผ่านการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้ง ด้วยความปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

แต่การตัดสินใจของอำนาจประชาชนต้องไร้ความหมาย เมื่อถึงขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการที่ออกแบบไว้ให้ขบวนการสืบทอดอำนาจมีบทบาทมากกว่า

ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือ ถึงวันนี้มีปรากฏการณ์ที่น่ากังวลมากกว่าคือ การพยายามที่จะจัดการและทำให้เกิด “ค่านิยม” ในความคิดความเชื่อของประชาชน ให้ยอมรับ “อำนาจนอกระบบว่ามีพลังเหนือ และเป็นของจริงมากกว่าอำนาจในระบบ”

“อำนาจที่ซ่อนตัวที่ควบคุมรัฐบาลได้-คนที่ควบคุมพรรคโดยไม่ต้องมีตำแหน่งหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อพรรค-คนที่ชี้ทิศตั้งธงความยุติธรรมได้”

ประชาชนถูกทำให้ค่อยๆ ซึมซาบการยอมรับอำนาจเช่นนี้ว่าอยู่เหนือกว่า “อำนาจในระบบ” ที่ “เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีแนวโน้มว่าความเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งวิกฤตรุนแรงต่อประเทศต่างๆ

ความโกลาหลในอำนาจ ที่สะท้อนถึงการทำให้ยอมรับ “ค่านิยม” ว่า “ควบคุมชะตากรรมของประเทศได้โดยไม่ต้องอาศัยการพึ่งพิงอำนาจประชาชน” เช่นนี้

จะนำพาประเทศไปต่อรองกับเกมของโลก ในทิศทางเพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติกลุ่มไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image