ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
ในอดีตกาล…มนุษย์เคยใช้สุนัขทำงาน ช่วยล่าสัตว์ ช่วยปกป้องชีวิต แม้กระทั่งช่วย “ล่าสังหาร” เอาชีวิตศัตรู
28 มีนาคม 2568 เหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่า ห่างออกไปกว่า 1 พันกิโลเมตร หากแต่ตึก สตง. สูง 30 ชั้นถล่มใน กทม. คอนกรีตและวัสดุก่อสร้างนับหมื่นตันทลายลงมาทับคนงานก่อสร้างเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดถูกระดมนำมาใช้กู้ภัยเพื่อนำคนออกจากซากตึก ตามด้วยนำซากตึกออกจากตัวคน
สุนัขที่ถูกฝึกมาจำนวนหนึ่งเป็นพระเอกตัวจริง ได้ปรากฏตัวพร้อมกับ “ผู้บังคับสุนัข” มีทั้งราชการ ภาคเอกชน กลุ่มจิตอาสา การทำงานของสุนัขกู้ภัย เป็นที่น่าประทับใจ เชื่อถือได้ ซื่อสัตย์ อดทน
สุนัขกู้ภัย ค้นหา พิสูจน์ทราบ ร่างผู้รอดชีวิต ผู้เสียชีวิตได้รวดเร็ว แม่นยำ เป็นเป้าความสนใจของสังคมไทย
ไม่ว่าในยามทุกข์ หรือสร้างสุขให้กับมนุษย์ สุนัขหลายสายพันธุ์ คือ ตัวเลือกที่ไม่มีสัตว์ชนิดใดจะมาทดแทนได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำเขาไปไว้ตรงไหน เวลาใด ใช้ทำอะไร
ที่สำคัญ คือ เราต้องมีความรู้ว่า สายพันธุ์อะไร เก่งในด้านใด
ต้องขอชี้แจงเป็นเบื้องต้นว่า ดั้งเดิมสุนัขที่นำมาใช้งานของตำรวจ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Canine (อ่านว่า เคไนน์) ซึ่งแปลว่า “DOG” หรือสุนัข เมื่อต้องเอ่ยถึงบ่อยๆ ฝรั่งที่ไม่ชอบเขียนอะไรยุ่งยาก ไม่ชอบมากเรื่อง เลยพร้อมใจกันเปลี่ยนเป็น K9 เพราะเขียนง่ายเรียกง่ายและเท่ดี
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6)สุนัขกว่า 1 ล้านตัวได้ทำหน้าที่รับใช้กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายอย่างน่าประทับใจในยุโรป โดยทำหน้าที่ “นำสาร-ส่งคำสั่ง” ไปให้หน่วยทหารตามสนามเพลาะในสนามรบ ที่หน่วยทหารประจำอยู่
สงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพยังใช้สุนัขในบทบาทของสัตว์น่ารักแสนรู้ ซื่อสัตย์ เป็นเพื่อนร่วมชีวิตในยามยาก คอยปลอบโยนทหารนับแสนนาย ที่ต้องจำเจเบื่อหน่าย ท้อแท้ ในสนามเพลาะที่หนาวจัด ทรมาน ด้วยความเปียกชื้นของหิมะ
สุนัขที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ปรากฏตัวในสงครามคือ ริน ติน ติน สุนัขสงครามของทหารเยอรมันที่ถูกทิ้ง ซึ่งพบในฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2461 และถูกนำกลับไปยังสหรัฐอเมริกา
ปี พ.ศ.2465 ริน ติน ติน สุนัขที่เคยถูกทิ้งในสนามรบ กลายเป็นดาราภาพยนตร์ในอเมริกา ซึ่งได้แสดงในภาพยนตร์เป็นครั้งแรก สร้างรายได้มหาศาล รวมถึงภาพยนตร์โทรทัศน์เป็นตอนๆ ที่เข้ามาฉายในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งยุคทีวีขาว-ดำ
เมื่อจะต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพบกสหรัฐไม่เคยลืมบทบาท หน้าที่ ความซื่อสัตย์ของสุนัขสงคราม จึงตัดสินใจจัดตั้งหน่วย “สุนัขทหาร” จากบทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 1
13 มีนาคม เป็น “วันทหารผ่านศึก K9 แห่งชาติ”
ภาพยนตร์เงียบเรื่อง The Man from Hell’s River ในฐานะดาราภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ตัวแรก เจ้า ริน ติน ติน ได้ทำให้สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนี้โด่งดังไปทั่วประเทศ รวมถึงประเทศไทย
(การฝึกสุนัขเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารในกองทัพสหรัฐ เคยถูกยกเลิกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1)
“ภารกิจ” ที่จะต้องฝึก และมอบให้สุนัขสงครามมี 4 ประเภท คือ การตรวจจับทุ่นระเบิด สุนัขเฝ้ายาม สุนัขนำสาร และสุนัขลาดตระเวน
7 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีกองทัพเรือสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ มลรัฐฮาวาย อเมริกา กระโจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
American Kennel Association และกลุ่มที่เรียกว่า Dogs for Defense เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อระดมเจ้าของสุนัขให้บริจาคสุนัขที่แข็งแรงและมีความสามารถให้กับ Quartermaster Corps (หน่วยพลาธิการ)ของกองทัพบกสหรัฐ
13 มีนาคม พ.ศ.2485 เป็นวันจัดตั้งกองกำลังสุนัข K9 ของกองทัพบกสหรัฐ การฝึกสุนัขทหารจึงเริ่มขึ้น และต่อมาในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น หน่วยพลาธิการได้รับมอบหมายให้ฝึกสุนัขให้กับกองทัพเรือ นาวิกโยธิน และหน่วยยามฝั่งสหรัฐเช่นกัน
หน่วยสุนัข K9 ในช่วงแรก รับสุนัขมากกว่า 30 สายพันธุ์มาฝึกหัด แต่ไม่นานก็ลดจำนวนลงเหลือเพียง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เยอรมันเชพเพิร์ด สุนัขต้อนแกะเบลเยียม สุนัขโดเบอร์แมนพินสเชอร์ สุนัขคอลลี่ สุนัขไซบีเรียนฮัสกี้ สุนัขมาลามิวต์ และสุนัขเอสกิโม
สมาชิกของกองพันสุนัข K9 ได้รับการฝึกรวม 8-12 สัปดาห์ หลังจากฝึกรับคำสั่งพื้นฐานแล้ว สุนัขจะถูกส่งไปเข้าสู่สนามรบ ทำหน้าที่ 1 ใน 4 ภารกิจคือ หน้าที่เป็นสุนัขเฝ้ายาม สุนัขลาดตระเวน สุนัขส่งสาร หรือสุนัขตรวจจับทุ่นระเบิด
ในสนามรบ สุนัขลาดตระเวนได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยแจ้งเตือนหน่วยลาดตระเวนถึงการเข้าใกล้ของศัตรูและป้องกันการถูกซุ่มโจมตี
ฮีโร่สุนัขอันดับ 1 ของสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ชิปส์ สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดที่เคยประจำการในกองพลทหารราบที่ 3
ชิปส์ได้รับการฝึกให้เป็นสุนัขเฝ้ายาม และแยกตัวจากผู้ฝึกและโจมตีรังปืนกลของศัตรูในอิตาลี ทำให้ลูกเรือทั้งหมดต้องยอมจำนน
ชิปส์เคยได้รับบาดเจ็บ เคยได้รับรางวัล Distinguished Service Cross, Silver Star และ Purple Heart ซึ่งต่อมาถูกเพิกถอนทั้งหมดเนื่องจากนโยบายของกองทัพที่ห้ามไม่ให้ยกย่องสัตว์อย่างเป็นทางการ
ขอย้อนกลับไปนิดนะครับ ในปี พ.ศ.2442 เมืองเกนท์ ในประเทศเบลเยียม ได้สร้างศูนย์ฝึกสุนัข K9 ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยส่วนใหญ่จะเป็นสุนัขต้อนแกะและสุนัขพันธุ์วูล์ฟฮาวด์ของเบลเยียม ศูนย์ฝึกสุนัขแห่งนี้กลายเป็น “ผู้นำระดับโลก” ในการฝึกสุนัข
พ.ศ.2450 ผบ.ตำรวจนิวยอร์กได้ส่งผู้ตรวจการไปศึกษาการฝึกของสุนัข ณ เมืองเกนท์ เมื่อสิ้นสุดการเยี่ยมชม ศูนย์ฝึกได้เสนอสุนัขต้อนแกะเบลเยียมจำนวน 5 ตัวให้กับตำรวจนิวยอร์ก เพื่อใช้และเพาะพันธุ์ในปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย
ต่อมาไม่นาน…ตำรวจนิวยอร์กเริ่มใช้ “สุนัขตำรวจ” หรือที่เรียกว่า K9 เป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนให้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
หน้าที่ของสุนัข คือ การค้นหายาเสพติดและวัตถุระเบิด การค้นหาผู้สูญหาย การค้นหาหลักฐานที่เกิดเหตุการปกป้องเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นๆ และการโจมตีผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีจากเจ้าหน้าที่
ในช่วงไม่กี่ปี สุนัขพันธุ์เบลเยียมมาลินอยส์ (Belgian Malinois) ได้กลายเป็นตัวเลือกชั้นนำสำหรับงานตำรวจและทหาร เนื่องจากแรงขับที่เข้มข้น สมาธิ ความคล่องตัว และขนาดที่เล็กกว่า แม้ว่า German Shepherd ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด
เมื่อเข้าประจำการ ก็มีปลดประจำการ
สุนัขตำรวจ จะถูกปลดระวางหากได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งครรภ์ หรือเลี้ยงลูกสุนัข หรือแก่เกินไป หรือป่วยจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ สุนัขมีอายุการทำงาน 6-9 ปี
ภารกิจของสุนัขกู้ภัยแห่งชาติของไทย
7 เมษายน 2568 นายสุทธิเกียรติ โสภณิก ผู้อำนวยการองค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ (USAR : Urban Search And Rescue) หัวหน้าชุด K9 เปิดเผยถึงกรณีการยุติปฏิบัติการค้นหาร่างผู้สูญหายจากเหตุอาคาร สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวว่า ได้ดำเนินการครบ 10 วันแล้ว ซึ่งได้ทำงานเต็มที่ ถึงเวลาต้องยุติลงการทำงานต่อไปอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุนัขได้ รวมทั้งกำลังพลก็อ่อนล้าแล้ว
หัวหน้าชุดขอนำหน่วยเคลื่อนย้ายกำลังกลับสู่ที่ตั้งและมีการส่งมอบพื้นที่ ไม่ใช่การถอนหรือยกเลิกภารกิจเป็นการดำเนินการตามปกติของ USAR ซึ่งจะดำเนินภารกิจประมาณ 7-10 วัน ทีม USAR ได้ดำเนินการในเรื่องเร่งด่วน เช่น การค้นหาและกู้ภัยและให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นหลัก
ขอแถมเป็นข้อมูลสำหรับสังคมไทยครับ… (วีรบุรุษเอ็กซ์ จาก FB The Earth)
สุนัขตำรวจตรีเอ็กซ์ เป็นสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษสุนัขตำรวจของประเทศไทย เนื่องจากความกล้าหาญและการเสียสละชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี พ.ศ.2513 เอ็กซ์เข้าประจำการเป็นสุนัขตำรวจ โดยมีผู้ควบคุมคือ ส.ต.ท.ศักดา มาลา และได้ร่วมปฏิบัติภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้
ปี พ.ศ.2517 เอ็กซ์ได้ร่วมปฏิบัติการลาดตระเวนและช่วยเจ้าหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้ก่อการร้าย แต่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เอ็กซ์ถูกยิงเสียชีวิตขณะปกป้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกนายรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
วีรกรรมของเอ็กซ์แสดงให้เห็นถึงความภักดีและความกล้าหาญของสุนัขตำรวจที่พร้อมเสียสละเพื่อปกป้องประเทศชาติ ทำให้เอ็กซ์ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติ
6 เมษายน 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานเงินให้หน่วย K9 เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลและอาหารเสริม จำนวน 200,000 บาท ให้กับสุนัข K9 ขององค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ หรือ K9 USAR Thailand กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงมหาดไทย เป็นค่ารักษาพยาบาลและอาหารเสริม จากการที่ได้รับบาดเจ็บในการเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยพิบัติที่ติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร สตง.
10 เมษายน 2568 เพจกรุงเทพมหานครเผยแพร่ข้อความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือตรี สกาย เภกะนันทน์ เป็นผู้เชิญสิ่งของพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย เงินจำนวน 300,000 บาทพร้อมตะกร้าสิ่งของผลิตภัณฑ์อาหารและบำรุงสุขภาพสำหรับสุนัข เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่สุนัขค้นหาและกู้ภัย (K9) จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สุนัขตำรวจ สุนัขทหาร และสุนัขทีม USAR Thailand
โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. ผอ.เขตจตุจักร และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เขตจตุจักร
สังคมไทย…เชื่อมั่น ไว้ใจ รัก ศรัทธาหน่วย K9 ตลอดมาและตลอดไปครับ…