สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อ ‘หมาป่า’ ไม่ใช่ ‘หมาป่า’

หมาป่า
Colossal Biosciences

เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โคลอสซัล ไบโอไซนซ์ (Colossal Biosciences) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐอเมริกา จัดงานแถลงข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยการอ้างว่าพวกเขาสามารถนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก พร้อมกับนำภาพลูกสุนัขสีขาวน่ารัก 3 ตัว ออกมาอวดว่าคือพยานของความสำเร็จที่ว่านั้น

เบน แลมม์ ซีอีโอของบริษัท อ้างว่า ภาพดังกล่าวคือ ไดเออร์ วูลฟ์ (Dire wolves) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aenocyon dirus ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้วในยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด ที่บริษัทประสบผลสำเร็จในการนำกลับมาใหม่ได้นั่นเอง

ตามข้อมูลของบริษัท ทีมนักวิทยาศาสตร์สกัดดีเอ็นเอของไดเออร์ วูล์ฟ มาจากฟอสซิลยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นฟัน อายุ 13,000 ปี ซึ่งพบในพื้นที่ขุดค้นที่เรียกว่า เชอริแดน พิท ในโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา อีกชิ้นคือ ฟอสซิลกระดูกหูส่วนใน อายุ 72,000 ปี ขุดพบที่บริเวณอเมริกัน ฟอลส์ ในรัฐไอดาโฮ

จากดีเอ็นเอที่ได้ ทีมวิจัยของบริษัทสามารถจัดทำแผนที่พันธุกรรม (จีโนม) ของไดเออร์ วูล์ฟ ขึ้นมาได้เป็นบางส่วน และนำเอาจีโนมดังกล่าวนี้มาเปรียบเทียบกับบรรดาสัตว์ที่เชื่อกันว่าใกล้เคียงกับที่วิวัฒนาการสืบต่อกันมา และยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน อาทิ สุนัขป่า(wolves) หมาใน (jackals) และสุนัขจิ้งจอก (foxes) แล้วเลือกเอาสุนัขป่าสีเทา (gray wolf ชื่อวิทยาศาสตร์ Canis lupus) เป็นผู้บริจาคไข่อ่อนเพื่อใช้ในกระบวนการทดลองครั้งนี้ โดยให้ทำหน้าที่เป็นตัวรองรับสารพันธุกรรมที่ทีมวิจัยใส่เข้าไปและบ่มเพาะให้เจริญเติบโตนั่นเอง

ADVERTISMENT

ขั้นตอนถัดมา ทีมวิจัยนำเอาเซลล์ที่ได้จากตัวอย่างเลือดของสุนัขป่าสีเทานำมาผ่านกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมโดยใช้เทคโนโลยี คริสเพอร์ (CRISPR) โดยระบุว่า ได้ตัดแต่งพันธุกรรมไป 20 จุดใน 14 ยีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนที่แสดงคุณลักษณะที่สำคัญของไดเออร์วูล์ฟ ออกมา จากนั้นจึงนำเอาสารพันธุกรรมผ่านการตัดแต่งที่ได้นี้ไปใส่ไว้ในไข่อ่อนที่ได้จากสุนัขป่าสีเทา ซึ่งถูกนำเอาหน่วยพันธุกรรมเดิมออกไป ทำให้ไข่ที่ผ่านกรรมวิธีนี้คงเหลือแต่ข้อมูลพันธุกรรมที่เชื่อว่าเป็นของไดเออร์ วูล์ฟ เท่านั้น เมื่อแล้วเสร็จจึงปล่อยให้เติบโตในห้องทดลอง ก่อนไปฝากไว้ในท้องสุนัขเลี้ยง จนในที่สุดได้ลูกสุนัข 3 ตัวดังกล่าวออกมานั่นเอง

ข่าวนี้ไม่เพียงสร้างความฮือฮาให้เกิดขึ้น ยังก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นมากมายตามมา นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งแสดงความยินดีและยกย่องความสำเร็จครั้งนี้ แต่อีกหลายคน รวมทั้ง นิค รอว์เลนซ์ ผู้อำนวยการประจำศูนย์ปฏิบัติการทดลองบรรพชีวินวิทยาโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ แสดงความกังขาและโจมตีว่า คำกล่าวอ้างของบริษัทก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เพราะเชื่อว่าผลลัพธ์ที่บริษัทผลิตออกมาได้นั้นไม่ใช่ไดเออร์ วูล์ฟ แต่เป็นสุนัขป่าสีเทา ที่ถูกทำให้มีคุณลักษณะภายนอกดูแล้วเหมือนไดเออร์ วูลฟ์ เท่านั้นเอง ดังนั้น ความสำเร็จของการศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงไม่ใช่การนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมา เป็นแต่เพียงการผลิต “ลูกผสม” ออกมาได้เท่านั้นเอง

ADVERTISMENT

เดวิด เมช ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและระบบนิเวศของสุนัขป่าจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา บอกว่า ข้อมูลทางวิชาการล่าสุดนั้นชี้ให้เห็นว่า ไดเออร์ วูล์ฟ จริงๆ แล้วไม่ใช่สุนัขป่า เพราะตามสายวิวัฒนาการแล้วพบว่าไดเออร์ วูล์ฟ แยกวิวัฒนาการออกจากบรรพบุรุษของสุนัขป่าสีเทาในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อราว 6 ล้านปีก่อน และกลายเป็นสัตว์อีกกลุ่มที่แตกต่างออกไปจากสุนัขป่าสีเทาโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ ฟิลิป เซดดอน ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาของมหาวิทยาลัยโอตาโก เห็นพ้องด้วยอย่างเต็มที่ เขาชี้ว่าไดเออร์ วูล์ฟ ถือเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์ หรือคนละชนิดกับเกรย์ วูล์ฟ หรือสุนัขป่าสีเทา และมีความแตกต่างกันสูงมาก เซดดอนระบุว่า หากยึดถือตามลำดับวิวัฒนาการแล้ว แอฟริกัน แจ็คกัล หรือหมาในแอฟริกา กลับใกล้ชิดกับไดเออร์ วูล์ฟ มากกว่าด้วยซ้ำไป

แม้จะยืนยันว่าไดเออร์ วูล์ฟ ไม่ใช่สุนัขป่า และข่าวครั้งนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าเราสามารถนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาได้ก็ตาม เซดดอนชื่นชมว่า กรรมวิธีที่บริษัทใช้ครั้งนี้ทำให้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรมก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง และอาจนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ในเวลานี้ได้ในอนาคตครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image