คุณภาพกับความปลอดภัย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ว่าไปแล้ว คุณภาพกับความปลอดภัย เป็นของคู่กัน
เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ (รวมทั้งสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพด้วย) ก็มักจะไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานก็ได้ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตราย จนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือตายได้

เรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กรที่มองข้ามไม่ได้เลย

แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่มองข้าม เรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย เพราะให้ความสำคัญแต่เรื่องของ “การลดต้นทุน” จนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น

อุปสรรคที่หลายๆ องค์กรไม่สามารถ (ไม่ยอม) ทำให้ “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” หรือไม่สามารถสร้าง “สภาพหรือเงื่อนไขที่ปลอดภัย” ในที่ทำงาน ได้แก่ ปัญหาด้านการควบคุมที่แหล่งอันตราย การควบคุมระยะห่างและการป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงานเอง

Advertisement

การควบคุมที่แหล่งอันตราย อาจเป็นเพราะว่าการจัดซื้อเครื่องจักรกลการผลิต มักไม่ค่อยคำนึงถึงอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เครื่องจักรกลที่ซื้อมาเป็นรุ่นเก่า และขาดการปรับปรุงเครื่องจักรกลให้ปลอดภัย ตัวอาคารเองมักมีสภาพไม่แข็งแรง ไม่มีระบบ sprinkler ไม่ทนต่อไฟไหม้ได้แม้ช่วงเวลาสั้นๆ และขาดทางออกฉุกเฉิน ทางหนีไฟ หรือไม่มีไฟฟ้าฉุกเฉิน การเปลี่ยนวัสดุ ที่ปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อม (เช่น เปลี่ยนจากทินเนอร์เป็นระบบน้ำ) ซึ่งทำได้ยากเพราะต้นทุนจะสูง ทำให้แข่งขันไม่ได้ และสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย แต่ก็ไม่มีการแก้ไข (งบไม่มีบ้าง กำลังพิจารณาบ้าง เป็นต้น)

การควบคุมระยะห่างหรือเส้นทางของอันตราย อาจเป็นเพราะว่าข้อจำกัดด้านพื้นที่โรงงาน ซึ่งคับแคบ มีการต่อเติมมาเป็นระยะ จน layout เดิมเสียไปหมด การปกปิดแหล่งอันตราย การครอบกั้นส่วนอันตรายของเครื่องจักร ระบบเตือนภัยมักไม่มี หรือมี แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ทางหนีภัยไม่มี หรือมีแต่ไม่เพียงพอ หรือมี แต่เวลาเกิดเหตุไฟไหม้พนักงาน รปภ.ต้องรอคำสั่งจากผู้บริหารก่อนจึงค่อยเปิดประตูหนีไฟได้ เป็นต้น

การป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงานเอง อาจเป็นเพราะว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) มีไม่ครบ หรือไม่ถูกชนิดกับลักษณะอันตราย แจก PPE ให้พนักงานไปแล้วก็ไม่ใส่กัน (เพราะไม่สะดวก ร้อน อึดอัด ฯลฯ และหัวหน้าเองก็ไม่ใส่) มีการสลับเปลี่ยนหน้าที่งานแบบเร่งด่วน ไม่มีการอบรม หรือทดสอบความสามารถ และความเหมาะสม แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ใหม่ทันที เลยเกิดอุบัติเหตุ งานบางอย่างต้องมี buddy แต่คนไม่พอ และงานเร่งด่วน เลยให้เสี่ยงทำเองแต่ลำพัง และพนักงานที่ขาดการฝึกอบรม และกระทำงานผิดพลาดจนเป็นอันตราย มักถูกสรุปว่าทำงานโดยประมาท ทั้งๆ ที่ เขาอาจกระทำการที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) เพราะความไม่รู้ก็ได้

Advertisement

ทุกวันนี้ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเรื่อง “คุณภาพ” และ “ความปลอดภัย” ให้กลมกลืนอยู่ในกระบวนการผลิตเลย โดยไม่แยกส่วนตัดตอนเพียงเพราะเรื่องของ “ต้นทุน” ครับผม !

 

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image