ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
---|
อภิปรายไม่ไว้วางใจ – ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนก่อน แต่ก็มีอันต้องเลื่อนมาถึงสองอาทิตย์ เนื่องจากมีเหตุเรื่องของแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯเสียก่อน
มาบัดนี้เรื่องราวของเรื่องแผ่นดินไหวได้ผ่านไปในระดับหนึ่ง ตอนนี้การค้นหาสาเหตุก็คืบหน้า การค้นหาผู้ที่ยังติดค้างอยู่ใต้ซากตึกก็คืบหน้า และสังคมก็ไม่ถอยออกจากเรื่องนี้
ก็ขอกลับมาเรื่องของการเมืองชาติหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนที่แล้วสักหน่อย
บทสรุปก็คือ ของจริงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเริ่มต้นขึ้นแล้วครับ
ย้ำว่าจาก “อภิปราย” ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
กลายเป็นการก่อตัวของกระแสไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และคุณทักษิณ หลังการอภิปราย
ทั้งในสภาและนอกสภา
เรื่องนี้เอาเข้าจริงฝ่ายค้านไม่ใช่แกนหลักเท่ากับฝ่ายนอกสภา และฝ่ายร่วมรัฐบาลเองอีกต่างหาก
เรื่องสำคัญคือเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นี่แหละครับ
เรื่องนี้โยงไปโยงมาได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ ภายหลังชัยชนะแบบง่ายดายในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เพราะฝ่ายรัฐบาลยกมือกันให้พรึบ และฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ทำคะแนนได้มากไปกว่าความคาดหวังของสังคม
ในความหมายที่ว่าสังคมมีความคาดหวังว่าจะมีเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่มไปจากเรื่องที่ถูกแฉก่อนหน้านี้
และเรื่องส่วนมากก็เป็นเรื่องที่มีการมอบหมายไปสู่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีเองก็สามารถที่จะยืนโต้กระแสอภิปรายไปได้จนหมดเวลา
แถมยังมีฝ่ายค้านบางรายที่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเสียอีก
ภูมิใจกันอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน ความถาโถมของปัญหาหลัก 2 เรื่องก็เข้ามาคือ เรื่องของแผ่นดินไหวที่รัฐบาลต้องไล่เบี้ยกันไปเต็มๆ คือการไม่มีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือน และความล้มเหลวในศรัทธาของประชาชนที่ว่าด้วยเรื่องของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และพรรคเพื่อไทยอาจจะมีบทบาทน้อยไปกว่า กทม.ภายใต้การนำของอาจารย์ชัชชาติ และบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของพรรครวมไทยสร้างชาติ
มาสู่เรื่องของสงครามการค้าขั้นรุนแรงที่สหรัฐอเมริกาประกาศใส่ประเทศต่างๆ ในโลกใบนี้แล้วประเทศไทยก็โดนไปด้วยไม่ใช่น้อย
รัฐบาลกลับพยายามเอาเรื่องของการเสนอให้มีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่แถมกาสิโนร้อยละสิบเข้าสภาให้ได้ด้วยการผลักดันเรื่องให้เข้ามาจนเกือบจะนาทีสุดท้ายของสมัยประชุม ท่ามกลางเสียงทักท้วงของผู้คนจำนวนไม่น้อย
ฝ่ายค้านเองที่เคยหาเสียงเรื่องกาสิโนถูกกฎหมายเองในรอบนี้ยังถอยฉากออกไป
เรื่องนี้แตกต่างไปจากกระแสเมื่อปีที่แล้วที่ผมเขียนบทความในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ที่แทบจะไม่มีใครสนใจต้านเรื่องกาสิโนกันในสภาเป็นเรื่องเป็นราวในรัฐบาลที่แล้ว จนผมเรียกว่าเป็นฉันทามติเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (“ฉันทามติใหม่ในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์?” มติชน 2 เมษายน 2567)
ปีนี้ในท้ายที่สุดรัฐบาลเองก็ถอนเอาเรื่องนี้ออกไปในนาทีสุดท้าย หลังจากฟาดฟันกันโดยตัวรัฐบาลและกองเชียร์ของรัฐบาลกับฝ่ายที่ไม่เอาด้วย
ทั้งในสภาและนอกสภา
รวมทั้งในรัฐบาลด้วย
และวุฒิสภาเองทั้งสายน้ำเงินและสายก้าวหน้าก็ออกมาแถลงดักทางไว้อีก
และยังรวมไปถึงผู้มีบารมีนอกรัฐสภาอย่างครูใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 (แถมยังส่งลูกชายมาพูดในสภาเข้าไปอีก)
ฟันธงง่ายๆ
ไม่ว่ารัฐบาลนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะได้รับความไว้วางใจหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากเกมในสภาอย่างไร
กระแสความไม่ไว้วางใจกลับก่อตัวและแสดงออกอย่างชัดแจ้งจากหลายฝักหลายฝ่ายในสังคมภายหลังจากวิกฤตการณ์หลายเรื่องราวในบ้านในเมืองหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จนรัฐบาลต้องถอนเรื่องการผ่านหลักการกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์วาระแรกในสภาออกไปก่อน
แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องของความไว้วางใจของรัฐบาลโดยเฉพาะตัวผู้นำรัฐบาลและพรรคแกนนำรัฐบาลกระเตื้องขึ้น
หวังใจว่าการเลือกตั้งเทศบาลอาจจะช่วยให้คะแนนเสียงฝั่งเพื่อไทยกระเตื้องขึ้นบ้างก็ยังไม่แน่ใจ เพราะดูสีสันการลงพื้นที่ของเพื่อไทยเองก็ยังไม่เด่นชัดในช่วงนี้ รวมทั้งตัวคุณทักษิณด้วย (อาจจะยกเว้นกรณีอย่างเชียงใหม่)
ที่พูดประเด็นนี้คือ โดยทั่วไปถ้าผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจออกมาเป็นคุณกับรัฐบาล โดยเฉพาะกับพรรคหลัก พรรคหลักก็จะสามารถ “กุมสภาพ” การเมืองได้ และส่งสัญญาณไปสู่เรื่องของการขยับ-ปรับ ครม.ได้ โดยสามารถกดดันรัฐมนตรีจากพรรคต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาออกไปได้ หรืออาจจะดึงทัพเสริมแบบ “งูเห่า” เข้ามาได้เพิ่มอีก (หมายถึงดึงจากฝ่ายค้านเข้ามาเพิ่มได้ โดยทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลง)
หรือถ้ากรณีที่พรรคหลักของรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำในเกมอภิปราย เราก็จะเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็จะกดดันเก้าอี้รัฐมนตรีมาเพิ่มได้อีก
มาตอนนี้ภาพใหญ่คือข่าวลือเรื่องของปรับ ครม. ตั้งแต่ก่อนและหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นที่สนใจกับประชาชนมากนัก สื่อที่พยายามเล่นข่าวเรื่องนี้ก็ดูไม่น่าเชื่อถือขึ้นทุกวัน
ในทางกลับกัน พรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลดูจะไม่เกรงกลัวกับการออกมาคัดค้านเรื่องกาสิโนโดยไม่ได้ฟังหัวหน้าพรรคของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
ราวกับว่าการจะไล่ออกจากรัฐบาลที่ข่าวมักชอบพูดว่าเพื่อไทยไม่ได้ง้อภูมิใจไทยในแง่จำนวนนั้นเกิดขึ้นได้
อย่าลืมว่าการเมืองในรัฐธรรมนูญยุคหลังนี้มันไม่ได้เล่นกันด้วยจำนวน
และไม่ได้เล่นกันด้วยเกมนอกสภาง่ายๆ
การเล่นกันด้วยความวุ่นวาย ซับซ้อน ยุ่งยาก ด้วยเงื่อนไขเชิงเทคนิคของกฎหมาย มีผลที่ทำให้ตัวแสดงทางการเมืองหลายคนเมื่อถูกตัดสินจากองค์กรอิสระต่างๆ จะมีผลให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งทำให้การเมืองเล่นยากขึ้น และทุกฝ่ายต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น
ฝ่ายค้านเองก็เช่นกัน
ดังจะเห็นว่าการจัดการกับคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ รวมทั้งคุณเศรษฐา คุณพิธา คุณธนาธรคุณชัยธวัช คุณพรรณิการ์ และอาจารย์ปิยบุตร นั้นไม่ได้เป็นเรื่องแค่การแพ้ในทางการเมืองง่ายๆ
แต่รวมไปถึงการบีบให้ต้องออกไปอยู่ข้างสนามอีกพักใหญ่ หรือบางรายก็ถึงกับต้องออกไปนอกเกมตลอดชีวิต
การเมืองระบบรัฐสภาไทยจึงไม่ได้มีแค่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนอกสภาบนถนน หรือฝ่ายอื่นๆ เช่น กองทัพ ที่มักมีคนกล่าวถึง
แต่องค์กรอิสระต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการกำกับพฤติกรรมทางการเมืองในระดับที่ไม่ใช่การตัดสิน
แต่เป็นการสร้างข้อจำกัดในพฤติกรรมบางประการที่ยากจะคาดเดาว่าจะมีผลอย่างไรหากการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมากในสภานั้น อย่าว่าแต่ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเลยครับ
แค่เอาตัวเองให้รอดในกระบวนการนี้ก็ยากเข็ญ
จะว่าไปแล้วเมื่อพิจารณาถึงการรัฐประหารจะพบว่าบางครั้งผลกระทบอาจจะไม่เท่ากับการโดนตัดสิทธิทางการเมืองในระยะยาวจากองค์กรอิสระด้วยซ้ำ ถ้าต่อรองและทนอยู่กับระบอบรัฐประหารได้สักพักใหญ่ เหมือนที่พรรคการเมืองส่วนมากได้ทำมาโดยตลอด
การเมืองในวันนี้อย่าไปพูดเรื่องหลักนิติรัฐนิติธรรมอะไรมาก แค่ทุกคนเจอกฎหมายที่จัดการคุณสมบัติก็หนักหนาเอาการ
นักวิชาการก็โดนเพ่งเล็งมากขึ้นจากหน่วยงานความมั่นคง ดังที่เปิดให้เห็นผังในสภา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง
การเมืองแบบนี้ไม่ใช่หลักการอะไรสูงส่งเลยครับ ไม่ใช่การหาเหตุผลมาสู้กันด้วยซ้ำ
แต่เป็นการสร้างความระแวงไปมา และบีบให้เราต้องปกป้องความอยู่รอดของตัวเองเป็นเบื้องแรก
นี่คือสิ่งที่ทุกคนเผชิญอยู่
ถ้าการเมืองจะเปลี่ยนไปจากนี้ ต้องออกจากเกมนี้ให้ได้
ทิ้งจบไว้อย่างนี้ครับ
กับเกมเป่ายิงฉุบภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว
และความไม่ไว้วางใจของทุกฝ่าย
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์