จุฬาฯกับหนังสือพิมพ์

การเล่าเรียนระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยเป็นทางการเริ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 100 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นไล่มาติดๆ คือมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ สถาปนาถึงปีนี้ขึ้นปีที่ 83 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวนปีเท่ากันคือ 74 ปีนี้

อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งคือมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มจากการเรียนการสอนแพทย์แผนปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ.2432 ถึงปีนี้ 108 ปี มีการเรียนการสอนวิชาแพทย์เป็นหลัก

เมื่อแรกเริ่มแต่ละมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนเพียงไม่กี่คณะวิชา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นมีทั้งสิ้น 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แรกเริ่มเปิดสอนวิชากฎหมายเป็นหลัก โดยเป็นมหาวิทยาลัยเปิด หรือตลาดวิชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนเกี่ยวกับการเกษตร การป่าไม้ และศิลปากรเปิดสอนวิชาศิลปกรรม เมื่อมหาวิทยาลัยเติบโตขึ้น จึงขยายการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น มีคณะวิชาเกิดขึ้นมากมาย แม้จะเป็นวิชาเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยยังเพิ่มการเรียนการสอน เช่น วิชาแพทยศาสตร์ เภสัชกรรม วิศวกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยตามสากลอย่างแท้จริง

Advertisement

วิชาหนึ่งที่เมื่อแรกเริ่มยังไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดสอน คือวิชาการหนังสือพิมพ์

“หลวงเมือง” เขียนเรื่อง “พระคุณของแหล่งเรียนมา…” ลงในนิตยสารรายเดือน ศิลปวัฒนธรรม เดือนมีนาคม 2560 เริ่มต้นไว้ว่า

เดือนหนึ่งเดือนใดของต้นปี 2495 หนังสือพิมพ์รายวัน “พิมพ์ไทย” ลงข่าวว่า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (สมัยนั้นชื่อมหาวิทยาลัยเขียนเช่นนี้) เปิดรับสมัครนักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ หลักสูตร 2 ปี พื้นความรู้ไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ 6 ไม่จำกัดอายุ ค่าสมัครเรียน 100 บาท ข้าพเจ้ารีบไปที่ตึกเลขาฯ การสมัครนั้นง่ายมาก สถานที่เรียนคือตึกฟิสิกส์ ซึ่งบนดาดฟ้าเป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ นักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ได้รับโอกาสให้ขึ้นไปดูดวงจันทร์ ข้าพเจ้าตื่นเต้นและได้ประโยชน์ในการงานของข้าพเจ้าอีกเป็นอันมาก

Advertisement

วิชาการหนังสือพิมพ์นี้เป็นแผนกหนึ่งในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ไม่ใช่คณะ แต่หลักสูตรและอาจารย์ที่สอนให้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นพื้นฐานที่จะหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป…

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจุฬาฯเปิดสอนวิชาการหนังสือพิมพ์มากี่รุ่นแล้ว แต่เมื่อเข้าไปเรียนก็พบว่ามีรุ่นปีที่ 2 อยู่ก่อน เป็นรุ่นอาวุโสของเรา คนหนึ่งคือ คุณสาทิส อินทรกำแหง ส่วนพวกปีหนึ่งด้วยกันที่ข้าพเจ้ารู้จักชื่อเสียงของเขาคือคุณสมบูรณ์ วรพงษ์ เพราะเขาเป็นนักประพันธ์ก่อนจะเข้าเรียน…

ผู้จะมีชื่อเสียงต่อมาในภายหลัง เป็นพวกปีเดียวกับข้าพเจ้า คือ คุณโชติ ทัศนียะเวช ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้ว เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ส่วนคุณสมบูรณ์ วรพงษ์ อยู่ “พิมพ์ไทย” ข้าพเจ้าซึ่งเรียนได้เพียงปีเดียว ได้ทำงานในนิตยสาร “กระดึงทอง” รายเดือน ซึ่งคุณสาทิศ อินทรกำแหง เป็นบรรณาธิการ

การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นักหนังสือพิมพ์เข้าเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก เท่ากับว่าต้องการให้นักหนังสือพิมพ์มีความรู้กว้างขวางในหลากหลายวิชา ด้วยมีอาจารย์ในหลายสาขาวิชามาบรรยายให้ฟัง

ไม่ทราบว่าขณะนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดให้มีการเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ด้วยหรือไม่

แต่ในปี 2510 ประมาณนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดการเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์หลักสูตรประกาศนียบัตร 3 ปีขึ้น โดยผู้เข้าเรียนไม่ต้องสอบเข้าเรียน ขอให้เป็นผู้มีอาชีพหนังสือพิมพ์หรือการประชาสัมพันธ์ก็เข้าเรียนได้ เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตั้งแผนกสื่อสารมวลชนขึ้น แต่ต้องสอบเข้า มีหลักสูตร 3 ปี เช่นเดียวกัน ทั้งยังให้โอกาสขึ้นเรียนระดับปริญญาตรี หากมีพื้นความรู้มัธยมศึกษาตอนปลาย

นับว่า จุฬาฯเห็นความสำคัญกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มานานแล้ว แต่มีผู้ทราบน้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image