ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
ช่วงต้นสงกรานต์ ประมาณวันที่ 12 มี “กระแส” ทางสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่น ด้วย
แฮชแท็ก “#ลุงตู่หนูมาง้อ” ด้วยคลิปวิดิโอสั้นที่วัยรุ่นแต่งตัวทรงพร้อมเล่นสงกรานต์ออกมาชูนิ้วก้อย
ต่อหน้าภาพของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” บนแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน
เมื่อตั้งใจว่าคอลัมน์สัปดาห์นี้จะหยิบประเด็นนี้มาเขียน จึงไปค้นหาที่มาของกระแส “#ลุงตู่หนูมาง้อ” ก็พบว่าที่มาของแฮชแท็กติดเทรนด์ดังกล่าว เริ่มจากกระแส “#สงกรานต์นี้คิดถึงลุงตู่” ก่อน พร้อมกับโพสต์ที่มีเนื้อหาว่า “เห็นกฎสงกรานต์ปีนี้แล้วอยากกลับไปง้อลุงตู่” “รับไม่ได้กับกฎสงกรานต์” “สงกรานต์นี้ไม่ไหว มาง้อลุงตู่นะ หายงอนนะ” ของวัยรุ่นผู้ไม่ได้ดังใจที่เหมือนสงกรานต์ปีนี้มีกฎการเล่นที่เข้มงวด
ซึ่ง “กฎสงกรานต์” ที่ว่า หมายถึงการที่รัฐบาลและสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์ถึงการเล่นสงกรานต์ที่ถือว่าผิดกฎหมาย โดยที่กฎหมายที่ว่านั้นก็เป็นกฎหมายเดิมๆ ที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบันทั้งสิ้น เช่น ห้ามสาดน้ำหรือประแป้งคนที่ไม่ยินยอม เพราะเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญตามประมวลกฎหมายอาญา เล่นน้ำผสมโรงคุกคามทางเพศ ก็ความผิดฐานอนาจาร การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงมาเล่นแล้วทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ หรือสาดน้ำใส่รถจนเกิดอุบัติเหตุ ก็มีความผิดฐานเจตนาหรือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย การปิดซอยเล่นน้ำหรือบรรทุกคนนั่งเต็มกระบะรถก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายจราจรและรถยนต์ ฯลฯ
แม้ในสถานที่ที่ภาครัฐหรือท้องถิ่นจัดไว้สำหรับเล่นสงกรานต์อย่างเช่นถนนข้าวสารหรือถนนสีลม ก็มีกฎการเล่นไว้เช่น ห้ามใช้แป้งและปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ให้ใช้น้ำสะอาด มีการกำหนดเวลาปิดการเล่นน้ำและจัดให้มี
เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ซึ่งก็ดูเข้มงวดไม่ได้สนุกเต็มที่เหมือนแต่ก่อน
ทั้งที่จริงๆ แล้วการเล่นสงกรานต์ในรูปแบบที่คุ้นเคยนั้น มันเป็นความผิดตามกฎหมายในตัวอยู่แล้ว หากเป็นเหมือนประเพณีไปแล้วที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะ “ละเว้น” การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก่อนนี้เมื่อมีคนถูกสาดน้ำจนเสียหายไปแจ้งความตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับแจ้งโดยให้เหตุผลว่าวันสงกรานต์ก็แบบนี้เป็นประเพณีที่กฎหมายอะไรก็ยกเว้นไปก่อน
การเล่นสงกรานต์ในลักษณะที่ว่าก่อนหน้านี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่น หรือแม้แต่ที่ไปเล่นน้ำสงกรานต์แต่ไม่ได้ว่าจะยอมให้ล่วงละเมิดหรือเล่นน้ำใส่ด้วยวิธีพิเรนทร์ เมื่อทางภาครัฐจะมาเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง ก็มีคนส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยว่าจากนี้จะได้ใช้ชีวิตในช่วงเทศกาลอย่างสงบสุข แต่กับคนอีกส่วนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการเล่นสงกรานต์แบบเดิมๆ ที่ “ย่อหย่อนผ่อนปรน” กฎหมายให้นั้น ย่อมไม่พอใจและไม่เห็นด้วย
คนกลุ่มหลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวนี่แหละที่เป็นต้นทางของกระแส “#ลุงตู่หนูมาง้อ” หรือ “#สงกรานต์ง้อลุงตู่” ที่กล่าวไป และเมื่อเรื่องไปถึงสำนักข่าวที่ไม่ได้มีแนวทางเป็นบวกต่อรัฐบาล ก็ถือโอกาสนำกระแสนี้มาวิเคราะห์ตีความขยายต่อยอดไปเป็นเรื่องความผิดหวังไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลที่เหมือนจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้โดยเฉพาะประเด็นปากท้องเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาลอื่นๆ
กระแสการ “คิดถึงลุงตู่” รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสองสมัยตั้งแต่การปกครองในช่วงเวลาแห่งระบอบรัฐบาล คสช. ตามด้วยการเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทยทั้งสมัยนายกฯ คุณเศรษฐาและปัจจุบันคุณแพทองธารนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่
เมื่อไปค้นดูก็พบว่าก่อนหน้านี้เคยมีกระแส “#คิดถึงลุงตู่” มาก่อนในช่วงกลางปี 2567 และยังมีตามมาอีกเรื่อยๆ ตามแต่จังหวะการเมืองของรัฐบาลชุดแรกในรอบเกือบ
สิบปีที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมาโดยพรรคประชาชนก็มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีว่ารัฐบาลนี้บริหารประเทศอย่างไรให้คนคิดถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
รวมถึงยังปรากฏบทวิเคราะห์จาก “สื่อคุณภาพ” ที่นำเสนอข้อมูลในทำนองว่าการปกครองในยุคเผด็จการนั้น “สร้างชาติ” และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลทำให้ผู้คน
โหยหาได้อย่างไร จนถูกทัวร์จากทุกฝั่งฝ่ายมาลงยับๆ จนต้องออกมาขอโทษขอโพยกันไป
ความจริงส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับก็เข้าใจได้ว่าที่เป็นอย่างนั้น เพราะข้อเท็จจริงทั้งที่ชี้วัดได้และในทางความรู้สึก ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าเรื่องเงินทองปากท้องเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ดีขึ้นแถมเผลอๆ บางเรื่องก็แย่กว่ารัฐบาลประยุทธ์ นอกจากนี้รัฐบาลก็ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเรือธงที่ได้สัญญาไว้ เช่นเรื่องการแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทได้โดยทั่วถึง
ผู้ที่เพ่งเล็งปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองก็รู้สึกว่าปัญหาการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการใช้สิทธิทางการเมืองนั้นไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาล คสช.เลยแม้แต่น้อย
แต่ถ้าเรื่องนี้เราจะลองมองภูมิทัศน์และพิกัดแห่งอำนาจทางการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เราอาจจะเห็นใจรัฐบาลที่บริหารประเทศภายใต้ข้อจำกัดอำนาจ ที่ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นทุกวันอย่างน่าสงสัยว่า รัฐบาลนี้ “อาจ” จะไม่ได้มีอำนาจเต็มที่อย่างที่รัฐบาลทั้งหลายควรจะเป็น
เรื่องการเป็นรัฐบาลผสมที่การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ นั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมที่มีอำนาจต่อรองมากน้อยแตกต่างกันก็ปัจจัยหนึ่ง
เราได้เห็นปัญหานี้ชัดเจนที่สุดในเรื่องของนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่พยายามจะนำพืชกัญชากลับไปเป็น “ยาเสพติด” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ที่แม้ว่าได้มีมติคณะกรรมการควบคุม
ยาเสพติดตามแนวทางดังกล่าวแล้วตั้งแต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะสามารถนำเอาพืชกัญชาให้กลับไปเป็นยาเสพติดได้เมื่อไรอย่างไร รวมถึงก็ไม่มีกฎหมายใดมาควบคุมด้วยเช่นกัน
ซึ่งสังคมก็รู้ดีว่า การทำให้กัญชานั้นเป็นพืชพรรณที่สูบเสพกันได้โดย “ถูกกฎหมาย” นั้น เป็นนโยบายเรือธงของพรรคใดที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
แต่อะไรก็ไม่เท่าปัจจัยที่ยากยิ่งกว่า คือสรรพกลไกทั้งหลายของ “อำนาจราชการ” ที่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ทั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และที่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแลได้ในทางความเป็นจริง
นโยบายเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทเป็นตัวอย่างที่ดีของ “อำนาจ” ที่รัฐบาลไม่สามารถใช้ได้ตามแผนหรือนโยบาย เพราะถูก “ทักท้วง” ทั้งจากทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และการแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นอิสระ
สำหรับรายหลังนี้ถ้าใครลองเสียเวลาใช้ Google ค้นหาด้วยคำค้นว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” และคำค้น “ตั้งข้อสังเกต” หรือ “ทักท้วง” จะพบว่าแทบไม่มีข้อมูลการทักท้างของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อรัฐบาลในช่วงจนถึงปี 2566 เลยแต่จะเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี 2567 ที่องค์กรดังกล่าวออกมา “ตั้งข้อสังเกต” ตั้งแต่เรื่องเงินดิจิทัล ไปยันเรื่องปลาหมอคางดำ
นั่นยังหมายถึงว่า ในสมัย “รัฐบาลประยุทธ์“ ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐประหาร การดำเนินนโยบาย “แจกเงิน” และผลประโยชน์อื่นๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อโครงการอย่างไร ก็ไม่เคยถูกทักท้วงหรือตั้งข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเลย
องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ที่ต่อให้ศาลสั่งให้แสดงข้อมูลข่าวสารคดีนาฬิกายืมเพื่อนไปแล้วจนถึงชั้นฟ้องบังคับคดี ก็ยังขยันพอที่จะออกมาตั้งบอร์ดเพื่อศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะมีช่องไหนที่อาจเกิดเรื่องทุจริตได้หรือไม่
เช่นนี้ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรว่า ทำไมนโยบายการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลนี้ถึง “ไม่ตรงปก” ไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ จนในที่สุดเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนโยบายคนละครึ่งละค่อนทั้งหลายของรัฐบาลที่ว่าแล้วจะมีความเห็นว่า ประชาชน “ชอบ” การแจกเงินในสมัย “รัฐลุง” มากกว่า
หรืออย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังคงปรากฏว่าเครือข่ายกองกำลังปฏิบัติการข่าวสารเชิงจิตวิทยา หรือ IO ก็พบว่าเป็นเครือข่ายเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ ที่มุ่งเป้าโจมตีแม้แต่ตัวพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเองและพรรคฝ่ายค้านที่มีแนวคิดไปในทางประชาธิปไตย หรือเรื่องที่มวลชนขวาจัดกลุ่มหนึ่งออกมาปกป้องแม้แต่รัฐบาลทหารของประเทศอื่นโดยใช้ความรุนแรง ยิ่งชี้ให้เห็นได้ว่า มีอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่ยังอยู่เบื้องหลังที่ไม่ได้เป็นมิตรหรือสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ยังมีอำนาจในองคาพยพของรัฐเร้นซ่อนอยู่และมี “อำนาจตามความเป็นจริง” ที่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ไม่ว่าจะอย่างไร กระแส “ง้อลุง” หรือ “คิดถึงลุง” นั้น มันก็จะย้อนเข้ามาเรื่อยๆ เพราะบางคนก็โหยหาการปกครองในยุคที่ “รัฐบาล” และ “ขั้วอำนาจ” ตามความเป็นจริงนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีอำนาจเพียงพอที่จะขับเคลื่อนนโยบายใดๆ ก็ได้ปราศจากการทักท้วงตรวจสอบจากองค์กรหรือตั้งแง่เล่นเกมต่อรองในทางการเมือง
คำถามคือว่า เมื่อเกิดกระแสในลักษณะดังกล่าวเพื่อโจมตีรัฐบาลปัจจุบัน ที่อาจจะไม่ใช่รัฐบาลที่นำโดยพรรคการเมืองที่เราพอใจนัก ไม่ว่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือมาจากการผสมโรงปั่นกระแสของฝ่ายไหนก็ตาม หากเราเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนตามกติกาทางการเมืองเท่านั้นที่จะมีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจปกครองบ้านเมืองแล้ว เราควรรู้สึกหรือควรจะคาดหวังบทบาทใดจากพรรคการเมืองที่เราสนับสนุน
หากผมเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองสักพรรคการเมืองหนึ่ง และพรรคการเมืองนั้นมีแนวทางหลายอย่างต่างจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน โดยเชื่อว่าแนวทางของพรรคการเมืองที่ผมสนับสนุนนั้นจะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญในทุกด้านรวมถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยมากกว่าพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอนแล้ว
คงไม่อาจตอบเผื่อใครได้ แต่ส่วนตัวแล้วผมคงไม่อยากเห็นพรรคการเมืองที่ผมผสมโรงขี่กระแสนี้เพื่อโจมตีรัฐบาลพรรคปัจจุบัน แม้จะเป็นคู่แข่งกันก็ตาม
เพราะการช่วยสร้างเสริมความเชื่อจนเป็นอุปาทานหมู่ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนำที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่างข้างต้นนั้น บริหารประเทศสู้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสืบทอดอำนาจไม่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เพียงการทำให้พรรคการเมืองคู่แข่งเสียคะแนนความนิยมและจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ผมสนับสนุน แต่มันหมายถึงสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการเสมอมา คือการแสดงให้เห็นว่า การปกครองโดยกลไกแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้นไม่มีประสิทธิภาพ หลักการสวยงามแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ การปกครองโดย “อำนาจพิเศษ” ที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้องอยู่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพรรคที่ผมสนับสนุนก็ถูกเครือข่ายแห่งอำนาจดังกล่าวยุบไปแล้วสองรอบสามรอบจนการสมัครสมาชิกพรรคตลอดชีพ หมายถึงตลอดชีพของพรรคด้วยนั่นแล้ว ผมก็ไม่กล้าแน่ใจเหมือนกันว่าถ้าพรรคที่ผมสนับสนุนนั้นได้เป็นรัฐบาลเข้าจริงๆ จะแข็งขืนกับอำนาจเร้นรัฐเช่นว่านั้นได้มากกว่านี้หรือไม่
ผมจะพยายาม “ปกป้อง” ด้วยว่าทำไมรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดทั้งหลายทั้งมวลนี้ จึงไม่สามารถทำอะไรได้ทันใจดังเสกสั่งได้เหมือนรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ และเป็นฝ่ายเดียวกับขั้วอำนาจเร้นลึกของประเทศนี้ และในปัจจุบันรัฐบาลนี้ได้แก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาจากรัฐบาลรัฐประหารสืบทอดอำนาจมาแล้วได้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดทั้งหลายที่มี หรือได้เห็นผลงานของรัฐบาลปัจจุบันอะไรที่ดีกว่าหรืออย่างน้อยก็แย่น้อยลงจากยุคสมัย “รัฐลุง” นั้นบ้าง
เพราะรู้ดีว่า การที่พรรครัฐบาลปัจจุบัน “แพ้” ต่อกระแสนี้ ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองที่ผมสนับสนุนจะ “ชนะ” เพราะคนที่คว้าชัยไปจริงๆ คือ “ผู้คน“ และ “กลไก“ ที่เป็นมือไม้องคาพยพของอำนาจเร้นรัฐที่มีอำนาจในทางความเป็นจริงเหนือประชาชน
กล้า สมุทวณิช