‘อวิโรธนะ’ ในทศพิธราชธรรมตามคำแปลของ พุทธทาสภิกขุคือความไม่พิรุธ

อวิโรธนะ – เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 อันถือเป็นเทศกาลของครอบครัว ผู้เขียนขอถือโอกาสเขียนเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อให้เหมาะกับวาระอันเป็นมงคลโดยอ้างอิงอดีตพระภิกษุผู้ล่วงลับไปแล้ว 2 ท่าน อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) และ พระธรรมโกศาจารย์ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (เงื่อม พานิช) ในเรื่องทศพิธราชธรรมในข้อที่ 10 “อวิโรธนะ” ที่มักจะเกิดปัญหาไม่ความเข้าใจกันเป็นวงกว้างจึงควรวิเคราะห์เรื่องนี้กันให้ถ่องแท้ในโอกาสนี้นั่นเอง

จากธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ที่บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ เมื่อ พ.ศ.2530 ตอนหนึ่งอ้างถึงเรื่อง ทศพิธราชธรรม ก็มาจากคำตอบ หรือพระราชดำรัสตอบของพระราชาตอนที่ว่า เราตั้งอยู่ในธรรม 10 ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือ

1) ทาน 2) ศีล 3) ปริจจาคะ การบริจาค 4) อาชชวะ ความซื่อตรง 5) มัททวะ ความอ่อนโยน 6) ตบะ ความเพียร 7) อักโกธะ ความไม่โกรธ 8) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน 9) ขันติ ความอดทน 10) อวิโรธนะ ความไม่ทำให้ผิด รวมเป็น 10 ประการ เพื่อแสดงว่าพระราชาในอดีตกาลนั้นที่ทรงเป็นบัณฑิต ทรงตั้งอยู่ในธรรม ก็ย่อมทรงตั้งอยู่ในธรรม 10 ประการนี้ ที่บัดนี้เรียกกันว่า ทศพิธราชธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าเรื่องชาดกนี้ คือ มหาหังสชาดก ว่าแม้พระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองแผ่นดินในอดีตกาลก็ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม คือทรงปกครองโดยธรรม ก็คือโดยทศพิธราชธรรม

พุทธทาสภิกขุท่านมาขยายความคำว่า “พระราชา” ดังนี้

ADVERTISMENT

“ราชาแปลว่าพอใจ ในพระบาลีเล่าเรื่องมนุษย์รู้จักสมมุติหัวหน้าขึ้นมาปกครอง จนได้เกิดความพอใจในความเป็นอยู่ ทุกคนก็หลุดปากออกมาว่า ราชา ราชา แปลว่าความพอใจ มันเป็นศัพท์ที่มีรากศัพท์ว่า พอใจ พอใจ (หน้า 145 ตามรอยพระยุคลบาทด้วยทศพิธราชธรรม เขียนโดยพุทธทาสภิกขุ)”

ดังนั้น ทศพิธราชธรรมก็คือธรรมของพระราชาที่ทรงปฏิบัติเป็นปกติ คือการปกครองบ้านเมืองให้เป็นที่พอใจของพสกนิกรชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงนั่นเอง

ADVERTISMENT

บรรดาข้อปฏิบัติของพระราชาทั้ง 10 ข้อนั้นเป็นภาษาบาลีเมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยากใน 9 ข้อแรก แต่ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 คือ อวิโรธนะ ปรากฏว่ามีการแปลเป็นภาษาไทยที่แตกต่างกันมากหลายคำซึ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้มาก ดังที่จะยกตัวอย่างคำแปลที่หลากหลายไว้ดังนี้

1.ความไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม : หมายถึง การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิดไปจากหลักการ ความถูกต้อง ความดีงาม และความเป็นธรรม

2.ความเที่ยงธรรม : การดำรงตนและตัดสินใจด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียงด้วยอคติใดๆ

3.ความหนักแน่นในธรรม : การตั้งมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ไม่หวั่นไหวต่อคำพูด การยั่วยุ หรือผลประโยชน์ต่างๆ

4.ความไม่ทำให้ผิด : การไม่ทำผิดทำนองคลองธรรมและการไม่ทำผิดกฎหมายทั้งปวง

การแปลคำว่า “อวิโรธนะ” ตามหลักการแปลดังนี้ คือ

อวิโรธนะ (Avirodhana) ประกอบด้วยคำสองส่วนคือ

“อะ” (a-) เป็นคำปฏิเสธ แปลว่า “ไม่”

“วิโรธนะ” (virodhana) มาจาก “วิโรธ” (virodha) แปลว่า “การต่อต้าน ขัดแย้ง ขัดขวาง”

เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า “ไม่ขัดแย้ง ไม่ขัดขวาง ไม่เป็นพิรุธ” หรืออย่างที่พระพุทธทาสแปลคือ “ไม่มีพิรุธ” คือ ไม่มีอะไรที่ขัดกับธรรม ไม่มีอะไรที่ตนเองรู้สึกว่าแอบซ่อนไว้ ไม่เป็นสองจิตสองใจ ไม่เป็นคนละเรื่องกับที่แสดงออก

พระพุทธทาสภิกขุใช้คำว่า “อวิโรธนะ = ไม่มีพิรุธ” เพื่อแสดงถึงความเป็นธรรม ความซื่อตรงทั้งต่อธรรมชาติ ต่อตนเอง และต่อสังคม เป็นภาวะที่ทุกสิ่งกลมกลืน ไม่แอบแฝง ไม่ลวงตน ไม่ลวงคนอื่น ท่านกล่าวไว้ประมาณว่า

“เมื่อธรรมไม่มีพิรุธ ก็หมายความว่าไม่มีอะไรแอบแฝง ขัดแย้ง แย้งกันในตัวเอง ธรรมะต้องกลมกลืน ต้องไปกันได้หมด ต้องไม่พูดอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง”

ตัวอย่างในชีวิตจริงในทางพฤติกรรมของบุคคล ถ้าใครมีอวิโรธนะ หมายถึง คนคนนั้นจะไม่หลอกตนเอง ไม่แสดงตัวอย่างหนึ่งแต่ใจคิดอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือสร้างภาพ ดำเนินชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติและความจริง

ดังนั้น ความหมายของอวิโรธนะที่แปลว่าไม่มีพิรุธ คือการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส (Transparent) เมื่อทุกอย่างทำด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ก็ย่อมไม่มีพิรุธ จึงเป็นที่ไว้วางใจของมหาชนโดยทั่วไปโดยปกติสุขนั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image