ภาพเก่าเล่าตำนาน แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

 

ย้อนหลังไปในช่วงปี พ.ศ.2500 กามโรค อาชีพโสเภณีและเด็กกำพร้าอันเกิดจากโสเภณี เป็นภาระอันใหญ่หลวงในสังคมไทย ความท้าทายของประเด็นนี้ คือ เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ต้องการพูดถึง ไม่ยอมรับว่าเรามีปัญหา เพราะอับอาย และประการสำคัญคือ ความรู้ การจัดการและการป้องกันและการรักษากามโรคยังกระจุกตัวอยู่ในวงจำกัด ไม่มีใครอยากข้องแวะ

คุณหมอท่านหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “แม่พระ” ท่านอุทิศตนเพื่อเด็กกำพร้า โสเภณีและรักษากามโรค อย่างเปิดเผย ทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการด้านการแพทย์อย่างอเนกอนันต์

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ขอย้อนเวลาเพื่อยกย่องแพทย์สตรีท่านแรก ที่อุทิศตนเพื่อภารกิจที่สังคมรังเกียจ แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล

เด็กหญิงเพียร เกิดที่ตำบลสบตุ๋ย จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2441 เป็นบุตรนายตรงกิจ และนางพันธ์ ฮุนตระกูล คหบดีผู้มีอันจะกินของเมืองรถม้าลำปาง เธอมีพี่ชาย 1 คน ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มารดาได้นำเด็กหญิงเพียรไปฝากคุณยายเลี้ยง พออายุ 7 ขวบ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อระดับประถมที่โรงเรียนเสาวภา และผ่านชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

พ.ศ.2468 เด็กสาวมีความฝันที่จะเป็นแพทย์ เมื่อจบชั้นมัธยมแล้วท่านได้สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ยาลัย ณ ศิริราชพยาบาล แต่ทางการไม่รับเข้าศึกษาเพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ปรากฏว่ามีผู้หญิงเรียนแพทย์

นางสาวเพียรเดินทางไปศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ในกรุงไซ่ง่อน เวียดนาม เป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่ชีคาทอลิก แล้วกลับมากรุงเทพฯ

จากนั้นนางสาวเพียรจึงได้ไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เป็นเวลาประมาณ 2 ปี ในบรรดานักเรียนที่ท่านเคยสอนรายหนึ่งที่สำคัญ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร และพระอนุชา คือ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

เธอเดินทางไปเรียนที่ฝรั่งเศสได้จริงตามที่ไฝ่ฝัน โดยตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงประภาวสิต พระชายาเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เธอไปเข้าศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนลีเชบูมาเฟมองต์ ในฝรั่งเศส นางสาวเพียรยอดนักสู้ชีวิตต้องทำงานหาเงินเพื่อเรียนหนังสือ ฟันฝ่าอุปสรรคแบบปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด ต่อมาเธอบรรลุความสำเร็จอีกขั้น คือ สำเร็จการศึกษามีผลการศึกษาดีเยี่ยมพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อเป็นแพทย์

นางสาวเพียรได้เข้าเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงเรียนแพทย์ ได้รับปริญญาทางการแพทย์มหาวิทยาลัยปารีส M.B. University of Paris, Faculty of Medicine, M.D. Faculty of Medicine, University of Paris นางสาวเพียรเรียนแพทย์ในฝรั่งเศสได้รับรางวัลเรียนดีตลอด
เธอศึกษาต่อทางการแพทย์อีกหลายแขนงวิชา เธอใช้เวลาเพื่อการศึกษานาน 15 ปีในฝรั่งเศส จบในปี พ.ศ.2476

เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ในฝรั่งเศส เมื่อมีทุนการศึกษา เธอได้พยายามสอบเข้าชิงทุน ได้รับทุนต่างๆ เช่น ทุนของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และช่วงท้ายท่านได้รับทุนมหิดล

 

 

 

คุณหมอได้ขวนขวายต่อสู้กับชีวิตด้วยตนเอง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ มีเจ้านายในพระราชวงศ์หนึ่งซึ่งทรงมีส่วนให้การอุปการะกับคุณหมอเพียร คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งยกย่องให้เป็นพระสหายสนิท

ชีวิตส่วนตัวของคุณหมอเพียรในเรื่องความรัก ไม่ค่อยจะปรากฏให้ได้รับทราบ มีข้อมูลเล็กน้อยว่า คนรักของคุณหมอเสียชีวิตที่ฮ่องกงระหว่างทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทย พ.ศ.2480 คุณหมอเพียรบรรจุเป็นนายแพทย์โท กรมสาธารณสุข ทำงานราชการได้เพียง 1 ปี ต่อมา พ.ศ.2481 ก่อตั้งมูลนิธิพีระยานุเคราะห์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อช่วยเหลือสตรี เด็ก และสตรีนอกสมรส ต่อสู้จนมูลนิธิพีระยานุเคราะห์เป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย พ.ศ.2492 เป็นประธานผู้ก่อตั้งบ้านเกร็ดตระการ ดูแลให้การสงเคราะห์โสเภณี พ.ศ.2484 นายแพทย์โท แผนกกามโรค กองแพทย์สังคม กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2485-2492 เป็นหัวหน้าแผนกโรคติดต่อเรื้อรัง กองโรคติดต่อ พ.ศ.2493-2495 เป็นหัวหน้าแพทย์โทประจำกรม (บางรัก) พ.ศ.2496-2497 เป็นนายแพทย์โท แผนกป้องกันและบำบัดกามโรค กองกามโรค พ.ศ.2499-2500 เป็นนายแพทย์โท รักษาการแทนผู้อำนวยการ กองควบคุมกามโรคและคุดทะราด พ.ศ.2501-2505 เป็นนายแพทย์เอก ประจำกองควบคุมกามโรคและคุดทะราด

ปี พ.ศ.2507 ปรากฏข่าวน่าสะเทือนใจคนทั้งประเทศ เพราะธนาคารออมสินเป็นเจ้าหนี้ร้องต่อศาล เรียกเงินกว่า 3 ล้านบาท ให้คุณหมอเพียรชดใช้หนี้สินที่ขอกู้มา ประชาชนเห็นว่า “แม่พระ” ซึ่งอุทิศตนจะต้องหยุดงาน จึงช่วยกันบริจาคเงินจนสามารถใช้หนี้ธนาคารออมสินได้สำเร็จ

ทุกตำแหน่งในราชการ ดูไม่ค่อยจะน่าอภิรมย์เท่าใดนัก แต่การศึกษาของท่านจากต่างประเทศ เป็นต้นทุนความรู้ที่มีคุณค่ายิ่งนัก ในขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ แต่มีผู้ป่วยและกามโรคแพร่ระบาดอย่างรุนแรง

ขอรื้อฟื้นภาพเก่าสังคมไทยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ความยากจนข้นแค้นของสังคมไทย อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่รู้จะทำอะไรกิน ทำให้อาชีพโสเภณีเป็นทางเลือกของผู้หญิงไทยจำนวนมหาศาล หญิงสาวจากบางหมู่บ้านมาเป็นโสเภณีแบบยกกันมาทั้งหมู่บ้าน ซ่องโสเภณีไม่ใช่ของหายากในสังคมเมือง เรื่องของกามโรคที่ระบาดกันในหมู่นักเที่ยวแพร่กระจายกันในหมู่หนุ่มสาวเป็นเรื่องปกติเหมือนเป็นหวัด เป็นที่น่ารังเกียจแต่สังคมก็ต้องปกปิดไว้ในลักษณะ “กวาดขยะไปซุกไว้ใต้พรม”

เรื่องของ “ถุงยางอนามัย” เป็นเรื่องที่ไกลตัว แทบไม่มีใครรู้จัก คนเป็นกามโรค ซิฟิลิส หนองใน เยอะแยะปะปนกันแบบแยกไม่ออก การฉีดยาอย่างต่อเนื่อง คือวิธีเดียวในการรักษา

คุณหมอเพียรเป็นแพทย์คนแรกและคนเดียวที่ใส่ใจในประเด็นกามโรค โสเภณี และเด็กกำพร้าที่โสเภณีคลอดแล้วนำไปทิ้งหรือทอดทิ้ง สังคมไทยขาดเจ้าภาพในเรื่องนี้ โสเภณีมีมากปราบไม่ไหว ถึงขนาดจะยอมให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อการควบคุมดูแล หมอเพียรออกมาคัดค้านมิให้จดทะเบียนโสเภณี เพราะจะเป็นตราบาปตลอดชีวิตสำหรับลูกผู้หญิง หมอเพียรรณรงค์ให้ปราบแมงดาเพราะคนเหล่านี้ได้ประโยชน์ เหนี่ยวรั้งมิให้หญิงสาวเหล่านี้เลิกอาชีพขายตัว หมอเพียรเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคม ท่านทุ่มเทใส่ใจกับปัญหาสังคมแบบจิตอาสา
บ้านเกร็ดตระการ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี คือสถานที่รองรับ ปรับสภาพของหญิงสาวที่ต้องการเลิกอาชีพโสเภณี ใช้เป็นสถานที่บำบัด รักษาร่างกาย จิตใจ เรียนรู้สังคม

การมีอาชีพโสเภณีในยุคที่ผ่านมา คือ การทำมาหากิน การไม่ยอมอดตาย โสเภณีแทบทุกรายส่งเงินกลับไปเพื่อสร้างบ้านให้พ่อ-แม่ เป็นเงินทุนทำการเกษตร ซื้อวัว ซื้อควาย และสามารถส่งเสียให้พี่น้องได้เรียนหนังสือ มีการวิจัยที่พบว่าบางหมู่บ้านมีความเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่แบบเห็นหน้าเห็นหลัง มีข้อมูลทางสถิติว่าโสเภณีร้อยละ 80 ทยอยกันเลิกอาชีพนี้กลับไปตั้งต้นชีวิตใหม่ มีครอบครัวอย่างเป็นปกติสุข
หมอเพียรคิดทำงานแบบเป็นระบบ ใช้สติปัญญาและทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ ท่านกล้าพูดทำความเข้าใจกับสังคมไทยให้ยอมรับความจริงว่าเป็นวิถีชีวิตของลูกผู้หญิงที่ไม่มีใครอยากเกิดมาขายตัว ต้องดูแลคนเหล่านี้ มิใช่ผลักไสออกไป

คุณหมอเพียรกลายเป็นบุคคลที่สังคมกล่าวขวัญถึง เป็นเสาหลักของสังคมไทย ได้รับความชื่นชมทั้งในและต่างประเทศ ท่านได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ที่แปลกเปรี้ยวสำหรับสังคมไทยยุคนั้นคือ เธอคือแพทย์สตรีคนแรกที่หาญกล้ามาทำงานเยี่ยงนี้ ซึ่งสังคมไทยยังเห็นเป็นเรื่องต่ำช้าลามก
ภาพลักษณ์ของ “แม่พระหมอเพียร” ที่ลงมาคลุกกับการสงเคราะห์เด็กกำพร้าจำนวนมากที่คุณหมออนุญาตให้ใช้นามสกุล “ฮุนตระกูล” เลยทำให้ญาติพี่น้องแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้ท่านใช้นามสกุลเดิมต่อไป หมอเพียรได้รับนามสกุลพระราชทานใหม่ว่า “เวชบุล” จากสมเด็จพระราชชนนีฯ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณหมอเพียรทุ่มเทสร้างแพทย์เฉพาะทางที่จะเข้ามาช่วยงาน ท่านประสานงานกับสถาบันการแพทย์ในต่างประเทศเพื่อส่งแพทย์ไทยไปศึกษาอบรม ท่านเป็นผู้แทนของแพทย์ไทยเข้าประชุมแพทย์สตรีนานาชาติในปี พ.ศ.2494 เพราะในขณะนั้นมีแพทย์สตรีเพียง 3-4 คนในประเทศไทย หมอเพียรเป็นแพทย์สตรีคนที่ 2 ของประเทศไทยครับ

แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ได้รับการยกย่องจากวงการแพทย์เมืองไทยว่าเป็น “คุณแม่แห่งโสเภณี” ผู้ต่อสู้เพื่อลบล้างคำสบประมาทของสังคมที่มีต่อผู้หญิงบางประเภท และใช้ความพยายามตลอดชีวิตเพื่อที่จะยกระดับสิทธิของสตรีจากการเป็น “ทาสทางกาม” ให้ไปสู่ชีวิตที่ดีงาม

24 มิถุนายน 2501 ท่านเป็นสตรีเอเชียคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Commandeur Legion d’ Honour จากรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะที่ได้ช่วยเหลือสงเคราะห์สตรีและเด็กกำพร้ามาเป็นเวลาช้านาน

1 เมษายน 2506 เป็นสตรีเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล Spirit of Achievement ประจำปี 2506 จากมหาวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ แห่งเยชิวาในนครนิวยอร์ก ในฐานะที่ได้รับการเลือกให้เป็นสตรีนานาชาติที่ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ ปี พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานเหรียญตติยจุลจอมเกล้า และต่อมาเข้ารับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งมีสิทธิที่จะใช้คำนำหน้าว่า “คุณหญิง” หากแต่ท่านมิได้สมรสจึงใช้คำว่า “คุณ”

ท่านบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือสงเคราะห์สตรีและเด็ก ตลอดจนการต่อสู้กับเรื่องโสเภณีอย่างเหนียวแน่นและรักษากามโรค เป็นที่ยกย่องสรรเสริญเป็นเวลานานนับได้เกือบ 70 ปี จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่าท่านเป็น “แม่พระของคนยาก” และสำหรับเด็กในพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ท่านได้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูมาราว 4,000 ชีวิต

 

 

ผลงานของแม่พระหมอเพียร โด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศระดับโลก ฮอลลีวู้ดมาขอประวัติไปทำเป็นภาพยนตร์ ให้ชื่อว่า “ผู้หญิงมหัศจรรย์” และนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจส (Reader Digest) นำเรื่องราวของท่านไปตีพิมพ์ทำให้แพทย์สตรีไทยท่านนี้โด่งดังไปทั่วโลก

เด็กกำพร้าที่ท่านให้ใช้นามสกุล เวชบุล ปัจจุบันอาศัยอยู่ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย เป็นทั้งครู พยาบาล ช่างภาพหนังสือพิมพ์ พ่อครัว นักบัญชี มีผู้จบการศึกษาต่างประเทศกว่า 20 คน โดยมีผู้ขอไปเลี้ยงในต่างประเทศ 34 คน พ่อแม่ของเด็กรับไปเลี้ยงเอง 151 คน ท่านเคยช่วยโสเภณีให้ไปอยู่บ้านเกร็ดตระการกว่า 2,000 ราย

นับเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง ชนรุ่นหลังควรยกย่องและระลึกถึงความดีงามของท่านตลอดไป

ท่านถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2527

ขอบคุณข้อมูลจ“ก https://en.wikipedia.org/wiki/Pierra_Vejjabul และ pirayanavin.org | Dr. Ukrit-Mongkolnavin

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image