เรื่องเก่า ปมใหม่ 3 ปี ยุค รัฐประหาร จาก ‘คนกันเอง’

แม้กรณีที่กรมสรรพากรไปติดประกาศ “ประเมินภาษี” การซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า บ่งบอกว่าเป้าหมายอยู่ที่ใคร

อันถือว่าเป็นปัญหา “เดิม”

เป็นปัญหาซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และเป็นปัญหาเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ “คสช.” จะต้องตามล้างตามเช็ด เพื่อดำรง “จุดมุ่งหมาย”

แต่ต่อปัญหาอันเนื่องแต่ พระไชยบูลย์ ธัมมชโย อันเนื่องแต่ พระเผด็จ ทัตตชีโว อันสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายกลับเป็นปัญหา “ใหม่” กลับเป็นประเด็น “ใหม่”

Advertisement

เหมือนกับการออกโรงของ นายวีระ สมความคิด เปิดโปงการจัดตั้งบ่อนกาสิโนบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทย ติดกับ จ.บุรีรัมย์ เหมือนกับการออกโรงของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งข้อสงสัยต่อการถูกวิสามัญฆาตกรรมของ นายชัยภูมิ ป่าแส เหมือนกับการออกมาของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในกรณีเกี่ยวกับ “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ”

3 และ 4 เรื่องหลัง ไม่ใช่เรื่อง “เดิม” แต่อาจเป็นแนวโน้ม “ใหม่”

เพราะว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและเคยนั่งเป็นสมาชิกอยู่ใน คสช.ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นี่ย่อมห่างจาก “เพื่อไทย” นี่ย่อมห่างจาก “ไทยรักไทย”

ยิ่งกว่านั้น คู่ของความขัดแย้งและการตั้งข้อสงสัยมิได้อยู่ที่ความเห็นของ ครม. ท่าทีของกรรมาธิการการพลังงานอันเป็นทหาร หากแต่ยังอยู่ที่บทบาทของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล

นี่ย่อมพันพัวอยู่กับ “แม่น้ำ 5 สาย”

เท่ากับ ปัญหาและความขัดแย้งมิได้ดำรงอยู่ระหว่างไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย กับ คสช.และรัฐบาลอีกแล้ว

เห็นได้จากตัวละครชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เห็นได้จากตัวละครชื่อ นายวีระ สมความคิด เห็นได้จากตัวละครชื่อ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รวมถึง นางอังคณา นีละไพจิตร

เป็นปัญหาอันปะทุขึ้นในสถานการณ์ “ปรองดอง”

ความหงุดหงิดที่ คสช.และรัฐบาลจะเหล่ตามองท่าทีของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอทางออกในเรื่อง “คณะกรรมการอิสระ” เพื่อทำบทสรุปในเรื่องปรองดอง สมานฉันท์ อย่างเป็นกลาง

เป็นที่เข้าใจได้ เพราะสะท้อนปัญหา “เดิม”

แต่การที่บุคคลซึ่งเคยร่วมรัฐบาลอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือแม้กระทั่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็ตั้งข้อกังขาต่อการเกิดขึ้นของ “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ย่อมเป็นเรื่องน่าสงสัย

สะท้อนให้เห็นว่า คนที่เคยเห็นชอบต่อการรัฐประหารตั้งแต่ก่อนเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมายังก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 เริ่มมอง “รัฐบาล” ที่มาจาก “รัฐประหาร” อย่างแหม่งๆ

สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2557 เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2558 เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2559 และกำลังเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2560

“ปัญหา” ก็เริ่มปะทุ และ “แตก” ออก

อย่าได้แปลกใจหากบุคลากรไม่ว่าจะจาก ไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ล้วนอยู่ในความเงียบตามแนวทาง

“ขึ้นบนภู ดูเสือกัดกัน”

ในห้วง 2 ปีแรก คสช.และรัฐบาลอาจ “โบ้ย” และลงความเห็นว่า แต่ละปัญหามาจากอดีต จากรัฐบาลก่อน

แต่เมื่อผ่าน 2 ปี เข้าสู่ปีที่ 3 ทุกอย่างล้วนมาจากบทบาทและการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะนำกระบวนการ “โบ้ย” มาใช้

นี่คือ ของจริง และนี่คือ ความเป็นจริงที่ทุกรัฐบาลจะต้องประสบอย่างไม่มีทางเลี่ยงหลบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image