ทางเดิน เพลินดี บรรษัท น้ำมัน แห่งชาติ ยุติ หรือ เดินหน้า

 

หากถามว่าโอกาสที่ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” จะแจ้งเกิดอีกครั้งผ่านมาตรา 10/1 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ตอบได้เลยว่า “ยาก”

เป็นความยากในระดับที่อาจต้องเขียนออกมาว่า “ยากส์”

Advertisement

แม้ว่ากลุ่ม คปพ.ของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล จะออกแรงร่วมกับพวกพ้องที่อยู่ใน สนช.อย่างหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม

แม้ว่าการบรรจุเข้ามาของ “กรรมาธิการ” จะสำแดง “จุดมุ่งหมาย”

เป็นจุดมุ่งหมายอันมี “มติ ครม.” ถึง 2 วาระเป็นฐานรองรับอันแน่นหนาและมั่นคงเป็นอย่างสูงยิ่งในทางการเมือง และในทางการทหาร

Advertisement

แต่ก็ยัง “ยาก” และ “ยากส์”

หากถามต่อไปว่า “คสช.” และแต่ละองคาพยพภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” จะสามารถสำแดงลวดลายออกมาโดยอาศัย “อภินิหาร” ในทางกฎหมาย มิได้หรือ

อาจทำได้ แต่ก็จะไม่ราบรื่น

 

ต้องยอมรับว่าการออกมา “เคลื่อนไหว” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากทางด้านของ คสช.มองจากทางด้านของรัฐบาล

เพราะจากเดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมาก็ “เงียบ”

ไม่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ไม่ว่า นายสมหมาย ภาษี ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ล้วนเก็บตัว “เงียบ” ไม่แสดง “ปฏิกิริยา” อะไร

การออกโรงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงสร้างความตื่นตะลึงเป็นอย่างสูง เห็นได้จากการเงอะๆ งะๆ ของ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ อดีตข้าราชการที่อยู่ในกรมการพลังงานทหาร

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ยุทธวิธี” เยี่ยมยอด

เหมือนกับเป็นการมาคนเดียว แต่ก็มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่พร้อมจะให้ “ข้อมูล” ไม่ว่าต่อ คสช. ไม่ว่าต่อรัฐบาล ไม่ว่าต่อ สนช.

1 เป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน 1 เป็นนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีความสัมพันธ์กับนักวิชาการทางด้าน “พลังงาน” ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างสูงอย่างแนบแน่น 1 เป็นนักธุรกิจจาก “สภาอุตสาหกรรม”

ยิ่งกว่านั้น ยังอยู่กับกระบวนการ “อุปมา”

 

การโยงภาพของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ไปยังภาพของ “สามทหาร” ถือได้ว่าเป็นหมัดเด็ดอันมาจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

มีความชัด และตรงเป้า

เป้าที่ว่าคือ ซัดเข้าไปยังปลายคาง แม้เด็กรุ่นนี้จะไม่มีจินตภาพอย่างเพียงพอ แต่เมื่อนำโลโก้ของ “สามทหาร” ออกเผยแพร่

ทุกคนก็ ZATORI

ยิ่งหากนำเอาผลการประกอบการของ “สามทหาร” ไปวางเรียงเคียงข้างกับ “ปตท.” ยิ่งทำให้เห็นจุดต่างอย่างเป็นรูปธรรม

ระหว่าง “ฟ้า” กับ “เหว”

จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่ “มาตรา 10/1” จะสามารถดำรงคงอยู่ การหาหนทางด้วยการตัดออกและแยกไปจัดตั้งคณะกรรมการศึกษา เท่ากับเป็นการซื้อเวลา

คำถามอยู่ที่ว่าจะซื้อเวลาเพื่อต่อ หรือจะซื้อเวลาเพื่อเลิก

น้ำเสียงจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่าย “อภินิหาร” ก็แจ่มชัดว่าจะเป็นทางใด

 

ไม่ว่าคนที่ “รัก” ไม่ว่าคนที่ “รังเกียจ” ดูเหมือนว่าเมื่อประสบเข้ากับ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” คิดตรงกัน

คนที่รักก็อยากให้ คสช.เดินหน้าเพื่อสำแดงพลัง สำแดงแสนยานุภาพ คนที่รังเกียจก็อยากให้ คสช.เดินหน้าเพื่อที่จะได้เผชิญกับกระแสต่อต้านหนักหน่วงรุนแรงขึ้น

ตถาคตเสมอเป็นเพียงผู้ชี้ทาง การตัดสินใจจึงอยู่ที่ “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image