พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : สามปีกับผู้ว่าฯสุดแข็งแกร่งในปฐพี

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – ในวาระครบรอบสามปีของการบริหาร กทม.ภายใต้การนำของอาจารย์ชัชชาติ มีเรื่องที่สำคัญหลายเรื่องที่นำไปสู่ความสนใจของผู้คน

แม้ว่าในช่วงนี้การเมืองในเรื่องอื่นๆ จะยังร้อนแรงไม่ใช่เล่น ตั้งแต่เรื่องชั้น 14 หรือการสอย ส.ว. เรื่องชายแดนใต้ และเรื่องที่เงียบไปอย่างไร้ความหวังอย่างกรณีการถอดถอนสมาชิกของพรรคประชาชนที่เคยเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลมาก่อน

ความกล้าหาญของ กทม.ในการทำโพลสำรวจผลงานของตัวเอง และการออกมาให้คะแนนตัวเองครึ่งเดียวของ อ.ชัชชาติ ทำให้บรรยากาศการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง กทม.ในปีหน้ายังดูอึมครึมอยู่ แม้ในทางหนึ่งหลายคนจะมั่นใจว่า อ.ชัชชาติก็คงจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง และได้รับชัยชนะแบบนอนมา

แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คนยังสงสัยว่าทำไมต้องพูดเล่นว่าจะยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงสมัคร ทั้งที่ในช่วงแผ่นดินไหวก็มีกระแสข่าวว่าลงแน่

และในช่วงเวลาเมื่อสามปีก่อน อ.ชัชชาติประกาศลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศจะเปิดสมัคร
ผู้ว่าฯกทม.เป็นปีเช่นกัน

ADVERTISMENT

จากการสำรวจของ กทม.เองใน voice changer ที่จัดทำโดยทีมงานประชาสัมพันธ์ของ กทม.เอง ว่าตลอดสามปีที่ผ่านมาประชาชนพอใจในผลงานของผู้ว่าฯชัชชาติมากน้อยแค่ไหน

มีสามประเด็นที่อยากหยิบยกมาอภิปรายในสัปดาห์นี้

ประเด็นแรก ประชาชน 64.12% พอใจมาก 25.86% ค่อนข้างพอใจ 4.44% ค่อนข้างไม่พอใจ และ 4.99% ไม่พอใจมาก 0.59% ไม่แน่ใจ

ความน่าสนใจในเรื่องนี้คือ ความพอใจและไม่พอใจต่อการทำงานของอาจารย์ชัชชาตินั้นมีลักษณะที่ชัดเจนมาก คือพอใจมากกว่าไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

คำถามที่ควรสืบถามต่อจริงๆ น่าจะอยู่ที่ค่อนข้างไม่พอใจ กับไม่พอใจมากที่รวมกันเกือบ 10% นั่นแหละครับ ว่าเกิดอะไรขึ้น

ผมคิดว่าความนิยม ผลงานในระดับรูปธรรมของการทำงานของ กทม.ในยุคของ อ.ชัชชาตินั้นมีความโดดเด่น แต่ก็แน่นอนที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้

ตัวเลขร้อยละสิบอาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติและจำนวน แต่ก็น่าสนใจว่ามันเป็นแค่เรื่องของความหมั่นไส้ ความเข้าใจผิด หรือความไม่พอใจที่แท้จริง

ยิ่งเมื่อพิจารณาไปที่ข้อมูลที่นำเสนอว่า ช่วงอายุผู้โหวตนั้นจะเด่นชัดว่าอยู่ในช่วง 25-35 ปี ถึง 31.72% 36-45 ปี 31.76% และ 46-59 ปี 19.54% และเป็นการสำรวจจากแพลตฟอร์ม D-Vote ทำให้เห็นว่า คะแนนนิยมของ อ.ชัชชาติ จากคน 18-25 เพียงแค่ 9.06% เป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เพราะคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนที่จะมีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งแรก และคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนในการโหวตแค่ 5.77% ทั้งที่สังคมเมืองของเราก็เข้าสู่ช่วงสูงวัย

ประเด็นจึงกลับมาอยู่ที่ว่า การสำรวจความพอใจในรอบนี้ให้ภาพความพอใจในการทำงานของ อ.ชัชชาติได้ครบถ้วนแค่ไหน ซึ่งก็เหมาะแล้วที่ อ.ชัชชาติจะถ่อมตัวเอาไว้ก่อนกับผลงานที่ผ่านมา

คำถามเดิมที่ผมตั้งไว้คือ 10% ที่ไม่พอใจมันอยู่ในช่วงไหน และการที่คนรุ่นใหม่ และคนสูงวัยไม่ได้ engage หรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้คะแนนในรอบนี้มันส่งผลให้เราเห็นอะไร

ในด้านกลับกัน ถ้าการประเมินผลงานการบริหารจัดเมืองไม่ได้สนใจดูแต่ช่วงวัย แต่ดูจากตำแหน่งแห่งที่ เศรษฐสถานะ ของผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้น เช่น คนรวย คนจน คนชั้นกลาง คนหาเช้ากินค่ำ คนที่เป็นประชากรลงทะเบียน คนที่เป็นประชากรแฝง เราจะเห็นภาพความซับซ้อนของความพอใจและไม่พอใจต่อการบริหารงาน กทม.ภายใต้ อ.ชัชชาติมากเพียงใด

ความซับซ้อนในเรื่องการประเมินผลงานการบริหารงาน กทม.ที่ผมตั้งคำถามนี้มันจะก้าวพ้นไปจากเรื่องของการเตรียมการเลือกตั้งและการชนะการเลือกตั้ง ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการบริหารงาน กทม.จริงๆ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น ไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงถึงครึ่งก็เป็นได้แล้ว ถ้าการแข่งขันกันมากกว่าสองคน หรือต่อให้สองคน แต่คนมาลงคะแนนเสียงเท่าไหร่ เอาแค่มากกว่าอีกฝ่ายก็ชนะแล้ว

แต่ผมเชื่อว่าคนอย่าง อ.ชัชชาติคงคิดอะไรมากกว่าแค่เรื่องการชนะการเลือกตั้งนั่นแหละครับ

ประการที่สอง จากผลการสำรวจนั้น ผลงานที่ผู้คนประทับใจในการทำงานของ กทม.มากที่สุด กลับเป็นเรื่องของการปรับปรุงการจัดระเบียบทางเท้าเช่นทางเท้ามาตรฐานใหม่ การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย และการจัดการสิ่งกีดขวางทางเท้าถึง 44.87% รองลงมาคือ การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม 36.13% และการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว อาคารถล่ม 28.98% จากนั้นก็ไล่ลงมาที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และการดูแลสิ่งแวดล้อม 16.58% รวมทั้งเมืองที่มีการป้องกันอาชญากรรม 14.47%

เรื่องนี้น่ากังวลใจพอสมควร แม้ว่าจะเราอาจวิเคราะห์ว่าในทางการเมือง การลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ของ อ.ชัชชาติ ทำให้การเมืองระดับประเทศ โดยเฉพาะระดับพรรคการเมืองไม่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องทางตรงกับการบริหารงาน กทม.เหมือนที่ผ่านมา แต่การเมืองของ กทม.กลับเป็นเรื่องราวของความขัดแย้งทางมุมมองของผู้คนในสังคมอย่างชัดเจน

จนบางทีถ้าใช้คำง่ายๆ ก็คือ กทม.ยังเป็นการเมืองในระดับโรงสร้างทางชนชั้น ยังเป็นการเมืองเรื่องของอากาศ และสิทธิที่จะมีชีวิตที่จะอยู่ในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city)

แถมยังท้าทายเงื่อนไขการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติที่ว่าเมืองจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเมืองของทุกคน เป็นเมืองที่ปลอดภัย เป็นเมืองที่ยั่งยืน และเป็นเมืองของความพร้อมฟื้นสภาพเมื่อเผชิญกับภัยพิบัติและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

เราพบว่า ในเงื่อนไขหลักของเมืองที่พร้อมตามเงื่อนไขของสหประชาชาตินั้น กทม.สร้างความประทับใจให้ประชาชนได้ดีเกือบทั้งหมด ยกเว้นเงื่อนไขเมืองสำหรับทุกคน (inclusive city) เพราะเรื่องการปรับปรุงและจัดระเบียบทางเท้าเป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัวที่สุด

จากเดิมที่เรื่องของการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเป็นหนึ่งในสี่นโยบายหลักในตอนหาเสียงที่ทีม อ.ชัชชาติยืนยันว่าจะต้องจัดให้มีให้ได้ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ นโยบายหลักคือการ “ผลักดัน” ให้หาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ในซอยมากกว่าถนนใหญ่ และยกเลิกนโยบายจุดผ่อนผันเดิม เว้นแต่พื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวบางแห่ง

นโยบายหลักของ กทม.ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือหาบเร่แผงลอยนั้นผิดกฎหมาย และอยู่ได้ด้วยเงื่อนไข “การผ่อนผัน”

ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยเงื่อนไขข้อตกลง หรือสิทธิ หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

การจะอยู่ได้ในวันนี้อีกเงื่อนไขหนึ่งคือต้องพิสูจน์กันด้วยการวัดมาตรฐานว่าล้ำหรือเกินไหม ไม่ใช่ด้วยเงื่อนไขความสะอาดและสุขอนามัยเป็นเบื้องแรก

ที่น่าสนใจคือนโยบายที่หลายคนกังวลว่า กทม.เมื่อเข้าสู่ยุคของการผลักดันให้หาบเร่แผงลอยออกจากถนนหลักไปอยู่ในซอยน่าจะทำให้ กทม.ไม่เป็นที่นิยม กลับกลายเป็นนโยบายที่ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ประทับใจมากที่สุด ราวกับว่า กทม.นั้นมาถูกทางแล้ว

และถ้าดูในหัวข้อที่ไปสอบถามผู้คนในเรื่องการทำงานของ กทม.ก็ไม่ได้พูดเรื่องของเศรษฐกิจ และความลำบากเรื่องค่าครองชีพ และที่พักอาศัย รวมทั้งการเดินทาง (มีแต่สัญญาณการจราจร)

นี่ยังเป็นความท้าทายว่าชัยชนะในรอบหน้าของ อ.ชัชชาติ จะเป็นชัยชนะจากการเลือกตั้ง หรือเป็นความเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดฝอย

และในวันนี้เส้นเลือดฝอยนั้นมีสถานะอย่างไรในแต่ละเรื่อง ภายใต้การบริหารงาน กทม.สามปีที่ผ่านมา

พวกเขามีโอกาส และความใฝ่ฝันอะไรมากขึ้นในเมืองแห่งนี้แค่ไหน

และถ้า empathy หรือความเห็นอกเห็นใจดูจะเป็นเรื่องที่เป็นธงในการเดินนำการบริหาร กทม.จากวันนี้ไปวันข้างหน้า empathy นี้จะเชื่อมโยงกับเส้นเลือดฝอยได้มากน้อยแค่ไหน

นับตั้งแต่การประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ ที่พื้นที่โรงหมูในคลองเตยที่วันนี้ถูกไล่รื้อไปแล้ว และสถานะของคลองเตยก็ยังลูกผีลูกคนอยู่ทั้งจากเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และจากกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม.

มิพักต้องกล่าวถึงว่า เรื่องของการประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม.นั้นยังถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะถ้าประกาศเมื่อไหร่ก็จะเป็นระเบิดลูกใหม่ของความไม่พอใจของคนอีกหลายคน

ส่วนสุดท้ายคือเรื่องของความโดดเด่นของผู้ว่าฯ ที่คะแนนมาสูสีกันระหว่าง เป็นคนพร้อมรับความคิดเห็น ทำงานใกล้ชิดประชาชน 37.32% เป็นคนทำงานหนัก ทำงาน ทำงาน ทำงาน 34.48% จากนั้นก็เป็นนักพัฒนา มีความคิดทันสมัยตลอดเวลา พร้อมปรับตัว และนำนวัตกรรมมาใช้ 27.47% และเป็นคนเข้าใจประชาชน มีหัวใจของการบริการสาธารณะ 24.63%

จุดนี้ก็ยังเป็นจุดแข็งของผู้ว่าฯ ที่มีภาพของการพร้อมรับฟังประชาชนและเข้าใจประชาชน

เรียกว่าระบบการทำงานของ กทม.จะเป็นอย่างไร แต่คนก็เห็นว่าผู้ว่าฯพยายามทำงานนำหน้าตัวองค์กรในทุกเรื่องราว ทำให้เห็นว่าการรับทราบ รับฟังและเข้าใจประชาชนนั้นมีอยู่ตลอด ส่วนการขับเคลื่อนงานต่างๆ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องค่อยๆ ว่ากัน

บ่อยครั้งที่เห็นผู้ว่าฯรับผิดรับจบ และขอโทษประชาชน ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลงเมือง แม้ว่าอีกหลายเรื่องยังไม่สามารถทำได้ และต้องการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เช่นการพยายามนำเสนอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กทม. ที่มีหลายฝ่ายพยายามนำเสนอความเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้

นั่นคือการมุ่งหน้าเข้าสู่ปีสุดท้ายในสมัยแรกของ อ.ชัชชาติ

ส่วนคำถามว่าในฐานะประชาชนเราสามารถประเมินการบริหารเมืองของ อ.ชัชชาติในมุมอื่น นอกเหนือจากการนับโครงการ และความพึงใจได้ในทางอื่นไหม

หนึ่งในทางเลือกก็คือการตั้งคำถามใหม่ในโพลสักห้าเรื่อง

1.ถามถึงความเป็นชุมชนของคนใน กทม. ทั้งชุมชนย่อยๆ และชุมชนเมือง หรือชุมชน กทม. หรือเราถามไล่มาตั้งแต่ชุมชน ย่าน แขวง เขต กลุ่มเขต และเมือง กทม. ว่านโยบายและโครงการของ กทม.สามปีนี้เข้ากับความต้องการและความใฝ่ฝันของชุมชนทุกระดับมากน้อยแค่ไหน

หรือว่าเราไม่คิด ไม่เคยฝัน ไม่เคยหารือเรื่องนี้กันมาก่อน สี่ปีก็เลือกผู้ว่าฯและ ส.ก.สักที

2.ถามถึงความรับผิดชอบ (responsibility) และความพร้อมรับผิด (accountability) ที่ กทม.บริหารงานและส่งมอบโครงการต่างๆ ให้กับเราอย่างครบถ้วนไหม ขยะเก็บตามเวลาไหม น้ำท่วมแล้วลดตามเวลาไหม มีการเปิดเผยให้เห็นไหมว่าทำไมบางครั้งมันล่าช้า มันท่วมขัง และได้แก้ไขอย่างไร

3.การสร้างเมืองให้รู้สึกว่าเมืองนี้เป็นของประชาชน และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับการบริหารงานของทีม อ.ชัชชาติได้มากน้อยเพียงใด ทุกคนรู้สึกอยากลงไปช่วยทำงาน อยากรายงานปัญหาและพร้อมอาสาออกมาดูแลพื้นที่กันมากขึ้นไหม และมั่นใจว่าสิ่งที่ อ.ชัชชาติพูดนั้นจริง และน่าเชื่อถือแค่ไหน

4.ประชาชนเข้ามาระดมความคิดเพื่อสู้กับประเด็นท้าทายและช่วยกันกับ กทม.หาทางออกมากกว่าด่าไปวันๆ ไหม หมายถึงในความหมายว่าทางทีมบริหารเองไม่ได้มองแต่เทคโนโลยี แต่มองว่าการค้นหาทางออกจากชีวิตประจำวันจริงๆ ของประชาชนนั้นก็อาจเป็นทางออกที่ดี และประชาชนก็คือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีทางออกแบบไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาและนำเข้าเทคโนโลยีใหม่มากน้อยแค่ไหน

5.การสร้างฉันทามติร่วม และลดความขัดแย้งในเมือง ในความหมายที่ว่านอกเหนือจากตัวผู้สมัครจะไม่สังกัดพรรคการเมืองแบบที่เราเข้าใจกันแล้ว ทำให้เชื่อว่าทุกสีก็ทำงานร่วมกัน มีผู้ว่าฯคนเดียวกันได้แล้ว แต่ในหลายเรื่อง การแก้ปัญหามันต้องมาจากการพูดคุยหาทางออกร่วม ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่สะท้อนพลวัต และความหลากหลายของชีวิตในเมือง และไม่ให้ผลประโยชน์และความใฝ่ฝันของคนกลุ่มเดียวเป็นความใฝ่ฝันสำเร็จรูปของคนทุกกลุ่มได้อย่างไร

ที่กล่าวมานี้เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ความรู้ ความมุ่งมั่น และเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะพา กทม.ไปสู่เมืองที่ยั่งยืน แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่าการเลือกตั้งก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เมืองนี้โอบรับทุกคน ปลอดภัย ยั่งยืน และพร้อมฟื้นสภาพในการสู้กับสิ่งที่คาดไม่ถึง

ผมเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง กทม.รอบหน้าจะสนุกขึ้นและสร้างสรรค์มากขึ้นในการแข่งขัน แน่นอนว่า อ.ชัชชาติยังมีแต้มต่อมากกว่าผู้สมัครท่านอื่น และถ้าการแข่งขันรอบหน้าเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ได้ถกเถียงกันเรื่องปัญหา กทม.ที่ซับซ้อนลึกซึ้งขึ้นมากกว่าเรื่องการหาคะแนนเสียงจากการลงคะแนน กทม.จะเป็นต้นแบบของการสร้างชุมชนเมืองที่เต็มไปด้วยการมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของประชาชนมากขึ้นเข้าไปอีกครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์