ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
สลิ่มเฟสสอง – คําผกา ได้เขียนบทความ “นางแบกแหกส้ม” ลงคอลัมน์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 25 เมษายน-1 พฤษภาคม 2568 กล่าวถึงเหตุผลที่ทำไมเธอจึงเห็นว่า “พรรคส้ม” ซึ่งหมายถึงพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชนตามลำดับนั้น เป็นเหมือน “พรรคประชาธิปัตย์สาขาสอง” และนัยเดียวกัน ผู้สนับสนุน “พรรคส้ม” (ซึ่งหมายถึงพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล และประชาชน) ก็นับเป็น “สลิ่มเฟสสอง”
ไม่ว่าจะ “พรรคประชาธิปัตย์สาขาสอง” หรือ “สลิ่มเฟสสอง” ก็เป็นคำที่ฝ่ายผู้สนับสนุน “พรรคส้ม” รวมถึงฝั่งฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้นถือเป็นแสลงทั้งนั้น และก็เป็นจริงดังที่มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันป้ายนาม “สลิ่ม” นั้นต่างเป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายแดงและฝ่ายส้มต่างโยนให้ฝ่ายตรงข้ามโดยที่ไม่มีใครยอมรับไว้สักราย
แล้ว “สลิ่ม” คือใคร หรือคืออะไร?
คำว่า “สลิ่ม” มีกำเนิดในยุคต้นๆ ที่เฟซบุ๊กเริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยจึงเหลือร่องรอยทางดิจิทัลให้สืบค้นได้ไม่ยาก ที่ย้อนกลับไปได้ถึงในครั้งที่นายแพทย์ท่านหนึ่งได้โพสต์ข้อความชักชวนผู้ที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี พ.ศ.2553 มาร่วมชุมนุมแสดงพลังกันโดยไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อสีใดสีหนึ่ง จึงเรียกตนเองว่ากลุ่มคน “เสื้อหลากสี”
สังคมไทยในบริบทของช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านการต่อสู้กันระหว่าง “คนเสื้อเหลือง” คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เป็นฝ่ายที่ประกาศตัวว่าอยู่ตรงข้ามกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับฝ่าย “คนเสื้อแดง” ที่มีแกนใหญ่อยู่ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมือง ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย มาสู่พลังประชาชนและเพื่อไทยในปัจจุบัน
“คนกลุ่มเสื้อหลากสี” นั้นส่วนใหญ่ก็เคยเป็น “เสื้อเหลือง” มาก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์การชุมนุมปิดสนามบินของกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งในสายตาของสังคมและประชาชนชาวโลกก็มองว่ากลุ่ม “เสื้อเหลือง” นั้นเป็น
กลุ่มอันธพาลทางการเมืองที่วิญญูชนคนสติดีปัญญาไม่พร่องไม่ค่อยสะดวกใจที่จะนับร่วมไปด้วยสักเท่าไร
คนกลุ่มใหญ่ที่ตอนนั้นไม่กล้าใส่เสื้อเหลือง แต่ก็อยากออกมาไล่คนเสื้อแดง ก็ได้มารวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนเสื้อหลากสี” ที่ในตอนนั้นยังไม่มีคำเรียกคนกลุ่มนี้ แต่ก็มีผู้พยายามเสนอ “คำเรียก” คนกลุ่มนี้ให้เรียกง่ายแต่ครอบคลุมที่สุด
ต่อมา “คำเรียก” ซึ่งได้รับการเลือกโดยฉันทามติก็มาจากการเสนอของ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “สลิ่ม” โดยเปรียบกับขนม “ซ่าหริ่ม” ที่เป็นขนมไทยลอยแก้วน้ำกะทิที่เป็นแป้งเส้นเล็กมีหลากสี เขียว ขาว ชมพู
มีเกร็ดเพิ่มเติมว่า เมื่อจะใช้คำนี้เพื่อแทนคนกลุ่มดังกล่าวเข้าจริงๆ ก็เคยมีการตั้งคำถามในทางภาษาว่า ในทางวิธีเขียน เราควรเรียกคนกลุ่มที่ถูกเปรียบเป็นขนมน้ำกะทินี้ว่า “ซ่าหริ่ม” ให้ถูกต้องตามอักขรวิธีหรือไม่ แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าไม่จำเป็นต้องเขียนตามชื่อขนมดั้งเดิมนั้น เพราะ “สลิ่ม” เป็นคำนามเฉพาะหมายถึงกลุ่มบุคคลและแนวคิดที่แยกออกมาจาก “ขนมซ่าหริ่ม” ไปแล้ว
หลังจากกำเนิดข้างต้น กลุ่ม “สลิ่ม” ในแง่ของกลุ่มมวลชนก็มีบทบาทในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนในประเทศไทย เริ่มจากปี 2553 ที่ชาว “สลิ่ม” สร้างกระแสสังคมอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงจนกลายเป็นเหตุล้อมสังหาร เพราะเชื่อว่าคนกลุ่มนั้นคือพวก “เผาบ้านเผาเมือง” และสำคัญที่สุดคือการออกไป “เป่านกหวีด” คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และบางส่วนก็ร่วมก่อความวุ่นวายจนเป็นข้ออ้างสาเหตุหนึ่งซึ่งสร้างความชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำไปสู่การปกครองในระบอบรัฐประหารและสืบทอดอำนาจอย่างยาวนานเกือบทศวรรษ
นอกจากนี้ “สลิ่ม” ยังมีแง่ของคำอธิบายชุดความคิดหรือแนวเชื่อทางการเมืองในทำนองอนุรักษนิยม จารีตนิยม และชาตินิยมด้วย รวมไปถึงความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เช่นการเชื่อใน “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” มากกว่า “เสรีภาพ” ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน จึงควรหา “คนดีๆ” มาปกครองบ้านเมืองโดยอาจจะมาจาก “วิธีพิเศษ” ก็ได้ เพราะการเลือกตั้งนั้นไม่ทำให้ได้ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนบริหารประเทศที่ชอบธรรมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยัง “ไม่พร้อม” ด้วยเห็นแก่อามิสสินจ้างหรือเพราะนโยบายประชานิยมแจกเงินทั้งทางตรงและทางอ้อม
ไม่รู้ว่าเพราะคนกลุ่มนั้นเชื่อแบบนี้มาตั้งแต่ต้นจึงกลายเป็น “สลิ่ม” หรือเป็นเพราะ “สลิ่ม” จึงต้องสนับสนุนอำนาจรัฐฝ่ายเดียวกับตนคือกองทัพและกลุ่มอำนาจจารีตจึงสมาทานความคิดนั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ก็ส่งผลให้คนที่เป็น “สลิ่ม” ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายจารีตในทุกระดับ ตั้งแต่ในเรื่องระดับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการวิพากษ์ระเบียบของโรงเรียน การแต่งเครื่องแบบและทรงผม และฝ่าย “สลิ่ม” ก็จะต่อต้านการวิพากษ์ผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงการชี้นิ้วใส่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศหรืออันที่จริงคือการบริหารประเทศของรัฐบาลหรือระบบจารีตทางราชการว่าเป็น “พวกชังชาติ”
แม้จะไม่ใช่คำที่มีความหมายทางบวกก็ตาม แต่ก่อนหน้านั้นการที่คนที่มีแนวคิดไปในทางนั้นถูกเรียกว่า “สลิ่ม” สำหรับคนส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบร้อนออกมาปฏิเสธอย่างจริงจังนัก เคยมีบางคนประกาศด้วยตัวเองว่าตนนั้นเป็น “สลิ่มรักชาติ” เสียด้วยซ้ำ
ชื่อแบรนด์ “สลิ่ม” มาเสียหายเอาจริง ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2564 เป็นต้นมา ที่ปรากฏว่าการ “ปฏิรูปประเทศ” ที่เคยเป็นข้ออ้างหนึ่งในการทำรัฐประหารปี 2557 นั้นเป็นเรื่องปาหี่ และการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในระบอบรัฐประหารและในช่วงสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เริ่มปริแตกให้เห็นฝีหนอง นั่นแหละที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าบทสรุปของการรัฐประหาร คสช. หรือจริงๆ อาจจะต้องรวมตั้งแต่ปี 2549 มาด้วยนั้น คือปฐมเหตุที่สาปให้ประเทศติดหล่มตกเหวอยู่ในศตวรรษที่สาบสูญไปกว่าสิบปี
เมื่อนั้นเองที่การต่อต้านการรัฐประหารและปฏิเสธผู้นำที่มาจากคณะรัฐประหารนั้นพลิกกับมาเป็นกระแสหลักสังคม พร้อมกับที่คำว่า “สลิ่ม” ก็ได้กลายกลับเป็นที่รังเกียจด้วยสังคมลงมติตรงกันแล้วว่าเป็นหนึ่งใน “สารตั้งต้น” ที่เรียกร้องการหรือสร้างความชอบธรรมให้การทำรัฐประหารทั้งสองครั้ง
ไม่มีใครอยากรับว่าตัวเองเป็นหรือเคยเป็น “สลิ่ม” ใครที่จนด้วยหลักฐานจากร่องรอยทางดิจิทัลว่าเคยไปร่วมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์หลังเหตุการณ์ล้อมสังหาร 2553 หรือที่ไปเป่านกหวีดบางคนก็ต้องออกมากล่าวสำนึกพลาดยอมรับความโง่เขลาของตนเองเพื่อขอชำระบาปและประกาศปฏิญาณตนเลิกเป็นสลิ่ม
จึงเป็น “จุดตัด” ที่ใครในตอนนั้นถึงเห็นขนาดนี้แล้วยังยืนยันว่าการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 เป็นเรื่องถูกต้องและควรกระทำ หรือยังชื่นชมศรัทธาคณะผู้ทำรัฐประหาร พวกนี้แหละคือ “สลิ่ม” (เฟสหนึ่ง)
แล้ว “สลิ่มเฟสสอง” เป็นใครมาจากไหน?
สำหรับ “ฝ่ายแดง” หรือผู้สนับสนุนรัฐบาลรวมไปถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ อาจใช้หลักการแบบทวินิยมง่ายๆ คือใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ไม่เห็นด้วย หรือวิพากษ์วิจารณ์คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ พวกนั้นคือ “สลิ่ม” ทั้งหมด ซึ่งด้วยนิยามนี้เอง ทำให้คอลัมน์นี้และตัวของผู้เขียน-ผมนี่แหละ ถูกฝ่ายแดงเอาไปแขวนว่าเป็น “สลิ่ม” เสียก็หลายครั้ง (เช่นเดียวกับที่บางสัปดาห์ฝ่ายส้มก็เอาไปเสียบโชว์ว่านี่คือ “นายแบกแอบแฝง” ผู้วิปริต)
แต่ถ้ามองว่า “สลิ่ม” นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องของตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง หากหมายถึงผู้ที่สมาทานแนวคิดอนุรักษนิยมหรือจารีตนิยม เรื่องนี้ก็พูดยากอีก เพราะการ “ไม่อนุรักษนิยม” ก็มีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะยังเป็น “ชาตินิยม” ได้หรือไม่ เพราะคนที่คิดว่าตัวเอง “ไม่สลิ่ม” และมีแนวคิดเสรีนิยมเอง ก็ไม่สามารถข้ามเส้นเรื่อง “ชาตินิยม” ไปได้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพหรือการให้สิทธิแก่แรงงานต่างด้าว
ดังนั้นถ้าใครก้าวหน้าทุกเรื่องแต่โพสต์บอกว่าใครเห็นใจโรฮีนจาหรือชาวอุยกูร์ก็ขอเชิญรับไปอุปการะที่บ้าน หรือบ่นว่าทำไมคนไทยต้องเสียภาษีมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แรงงานต่างด้าวด้วย อย่างนี้ “สลิ่ม” ไหม
นอกจากนี้บางคนอาจจะ “เสรีนิยม” ในทางสิทธิเสรีภาพ เช่นยอมรับการสมรสเท่าเทียม เชื่อในทางเลือกของมนุษย์ เปิดใจให้แรงงานทางเพศอาจนับเป็นสัมมาอาชีพ หรือแม้กระทั่งสามารถก้าวผ่านข้ามเส้นชาตินิยมไปได้ก็ตาม แต่ในทาง “เศรษฐกิจ” แล้ว ก็อาจจะเป็น “อนุรักษนิยม” ในแง่ที่เชื่อหลักการว่าใครทำมากได้มาก ความมั่งคั่งของบุพการีควรส่งต่อให้ทายาทได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คนรวยเพราะขยันหรือฉลาด คนจนเพราะทำตัวเองด้วยความโง่ ขี้เกียจ กินแต่เหล้า ไม่เชื่อในระบบภาษีสังคมหรือการจัดรัฐสวัสดิการที่อาจเป็นอุปสรรคแก่การ “ทำมาหาได้” โดยเสรีเพื่อสั่งสมความมั่งคั่ง เช่นนี้จะถือว่าคนที่มีความคิดความเชื่ออนุรักษนิยมทางเศรษฐกิจที่กล่าวไปข้างต้นนี้ “สลิ่ม” หรือเปล่า?
สำหรับเกณฑ์ของ “เฟสแรก” ที่แบ่งง่ายๆ ว่าใครที่เห็นด้วยกับการ “รัฐประหาร” นั้นคือ “สลิ่ม” ก็เริ่มเกิดความยากขึ้น เพราะในตอนนี้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับว่าตัวเป็นสลิ่มก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร” หรือ “พอแล้วกับการรัฐประหาร” ทั้งนั้น
แต่ถ้าแค่ไม่เห็นด้วยกับการ “รัฐประหาร” แต่ก็ไม่ได้เชื่อถือกับระบอบการปกครองที่ตัดสินกันด้วย “การเลือกตั้ง” ล่ะ หรือเห็นด้วยกับการเลือกตั้งถ้าฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนนั้นชนะการเลือกตั้ง ก็ยอมรับว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ถ้าฝ่ายของตัวเองแพ้เลือกตั้ง ก็จะชี้นิ้วว่าผู้คนโง่งมยอมขายสิทธิขายเสียง ยึดติดหรือเกรงใจกับพวก “บ้านใหญ่” หรือไม่อย่างนั้นก็โง่งมไม่รู้จักเลือกคนเก่งและคนดี (ส่วนใครคือคนเก่งหรือคนดีที่ควรเลือกนั้น ก็ได้แก่คนที่ “คนฉลาด” รู้เท่าทันอย่างเราเลือกหรือสนับสนุนอย่างไรเล่า) แบบนี้เป็น “สลิ่ม” หรือเปล่า
หรือพวกที่ “ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารนะ แต่ว่า…” เมื่อมันเกิดไปแล้วก็ช่วยไม่ได้ ผลที่เกิดจากรัฐประหารบางเรื่องก็ยังสมควรอยู่ต่อไป แม้แต่กระบวนยุติธรรมที่ริเริ่มขึ้นโดยวิธีการรัฐประหาร ก็ยังจำเป็นจะต้องยืนยันให้บังคับตามกฎหมายนั้นต่อไป เพื่อรักษา “หลักการ” อะไรก็ไม่รู้
ซึ่งบอกตามตรงโดยส่วนตัวแล้ว ไม่สามารถทำความเข้าใจกับพวก “ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร กระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบรัฐประหารนะ แต่เราก็ต้องให้ผลมันเป็นไปตามนั้น เพราะว่า …ฯลฯ…” ได้เลยจริงๆ
ยังไงดี มันเหมือนกับใครสักคนมีเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยชอบขี้หน้ากันเพราะบ้านนั้นชอบปาร์ตี้เสียงดัง ต่อมาวันหนึ่งเกิดมีโจรมาปล้นบ้านและยึดเครื่องเสียงของเขาไปได้เราไม่เห็นด้วยกับโจรหรอก (แหงละ ใครก็ต้องพูดแบบนี้) แต่ถึงอย่างนั้นการที่โจรมันยกเครื่องเสียงของบ้านนั้นไปมันก็สบายหูดี อันนี้อาจจะยังพอปิดตาอุดจมูกสักข้างเข้าใจได้บ้าง
แต่ไอ้ครั้นที่ว่า ต่อไปต่อมาเจ้าของบ้านใช้วิธีซิกแซ็กยังไงไม่รู้ ไปตามเอาเครื่องเสียงนั้นกลับมาด้วยวิธีไม่ชอบมาพากล กลับกลายเป็นคนที่ “ไม่เห็นด้วยกับโจร” ดันอ้างว่าไม่ได้สิ ประเทศต้องมีนิติรัฐ ก็เลยไปช่วยแจ้งตำรวจให้เสร็จสรรพว่า บ้านเจ้าคนเลวนั่นไปลักทรัพย์เครื่องเสียงจาก “โจร” หรือคนที่ “รับของโจร” มา เจ้าข้าเอ๊ย
พฤติกรรมของเพื่อนบ้าน “คนดี” นี้สลิ่มไหมก็ไม่รู้ แต่เดาว่าคอลัมน์ตอนนี้และผู้เขียนน่าจะโดนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจับไปเสียบหรือแขวนข้อหา “สลิ่ม” หรือ “นายแบก” ให้แน่นอน
*ชื่อคอลัมน์ตอนนี้ล้อจากชื่อข้อเขียน “Qu’est-ce que le Tiers-État?” (ฐานันดรที่สามคืออะไร?) ของ Emmanuel Joseph Sieyès (เอ็มมานูเอล โณเซฟ ซีเอแยส) บาทหลวงและนักคิดชาวฝรั่งเศสในยุคแห่งการปฏิวัติ
กล้า สมุทวณิช