ที่เห็นและเป็นไป : หนี ‘รัฐกระดาษ’

ที่เห็นและเป็นไป : หนี ‘รัฐกระดาษ’

ช่วงนี้ผู้คนพากันพูดถึง failed state หรือรัฐล้มเหลว ด้วยความกังวลและประเมินว่าประเทศไทยเราจะเข้าสู่สภาวะนั้นหรือไม่

หมายถึง รัฐที่ขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทางด้านความมั่นคงขั้นพื้นฐานและการพัฒนาประเทศ

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่สำนักข่าวบีบีซีไทย สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ เจมส์ เอ. โรบินสัน (James A. Robinson) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Why Nations Fail ซึ่งเกี่ยวโยงถึงรัฐล้มเหลวมานำเสนอ

ยิ่งลงในรายละเอียดช่วงที่ศาสตราจารย์โรบินสันพูดถึงประเทศไทยในกรอบความคิดในหนังสืออีกเล่มที่เขาเขียน The Narrow Corridor ที่พูดถึงรัฐ 3 รูปแบบ

ADVERTISMENT

รัฐเผด็จการ (Despotic Leviathan) คือสภาวะที่รัฐมีอำนาจมากและสังคมแทบไม่มีอำนาจในการต่อรองเลย อาทิ ประเทศจีน

สภาวะไร้รัฐ (Absent Leviathan) คือทั้งรัฐและสังคมอ่อนแอ ไม่สามารถปกครองหรือพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นปึกแผ่น อาทิ โซมาเลีย

รัฐที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล (Shackled Leviathan) คือสภาวะแบบ “ระเบียงแคบ” (Narrow Corridor) ที่ทั้งรัฐและภาคสังคมมีความเข้มแข็ง เป็นสภาวะที่ผู้เขียนชี้ว่าดีที่สุดของสังคม อาทิ สหราชอาณาจักร

มีบทหนึ่งอธิบายถึง “รัฐกระดาษ (Paper Leviathan)” ซึ่งพูดถึงประเทศที่รัฐมีกฎหมายหรือมีโครงสร้างที่เหมือนจะดี เหมือนจะเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็อ่อนแอด้วย อาทิ อาร์เจนตินา

ศาสตราจารย์โรบินสันบอกกับบีบีซีไทยว่า “ผมคิดว่าคุณเข้าใจถูกแล้ว แนวคิดของคุณที่ว่าประเทศไทยเป็นเหมือน ‘รัฐกระดาษ’ (Paper Leviathan) คล้ายกับบางประเทศในลาตินอเมริกา ผมว่ามันตรงประเด็นมาก”

ที่น่าดีใจคือถือว่า “ยังดี” และ “ยังห่างจากรัฐล้มเหลว” เพราะแก้ไขและพัฒนาได้

ศาสตราจารย์โรบันสันชี้ทางไว้ว่า “การหยุดกลไกที่ทำให้รัฐและสังคมอ่อนแอ ต้องหยุดวงจรของระบบอุปถัมภ์และการคอร์รัปชั่นให้ได้”

น่าสนใจตรงนี้ ตรงที่ความหวังเป็นไปได้และไม่ไกลนัก

หากแต่ต้องลงมืออย่างจริงจังเพื่อทำให้รัฐที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล (Shackled Leviathan) ที่ทั้งรัฐและภาคสังคมมีความเข้มแข็ง ให้เกิดขึ้น

เอาให้ชัดคือ หนึ่งทำให้อำนาจรัฐเข้มแข็ง สองทำให้ความสามารถในการถ่วงดุลของสังคมเข้มแข็ง

ต้องทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า

หนึ่ง อำนาจรัฐจะเข้มแข็งได้จะต้องมีรัฐบาลที่มีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ และมีอำนาจพอที่จะใช้อำนาจนั้นได้เต็มศักยภาพ คณะรัฐมนตรีที่เป็นเอกภาพ และมีกลไกการปฏิบัติงานของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้ประเทศมีอำนาจรัฐที่เข้มแข็งนั้น

สอง ต้องเป็นสังคมที่ได้รับการนำจากกลุ่มคนที่มีความรู้ ความคิด ที่สำคัญคือมี “สำนึกที่จะหาทางหยุดวงจรระบบอุปถัมภ์ และคอร์รัปชั่น” ตามที่ศาสตราจารย์โรบินสันแนะนำไว้

เมื่อเป็นสรุปความว่าสาเหตุใหญ่อยู่ที่ระบบอุปถัมภ์และคอร์รัปชั่น จะเป็นเรื่องง่ายที่ว่าต้นทางมาจากประชาชน เพราะประชาชนไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเลือกผู้แทนที่มีความรู้ ความสามารถ และจิตสำนึกที่จะมาให้ “อำนาจรัฐเข้มแข็ง” ไปเลือกคน หรือพรรคที่เห็นการเมืองเป็นธุรกิจ ลงทุนเพื่อแสวงประโยชน์ ละเลยที่จะเลือกให้คนมีอุดมการณ์ และเสียสละเข้ามาดูแลจัดการอำนาจรัฐ

พอนำเสนอความล้มเหลวในการเลือกของประชาชนขึ้นมา การสรุปความว่าเป็นความอ่อนด้อย ไม่พัฒนาของประชาชนจะถูกสร้างเป็นประเด็นขยายการรับรู้ และความเชื่อออกไป จนเรื่องราวทั้งหลายยึดโยงอยู่กับข้อสรุปว่าเป็น “ความผิดของประชาชน” ที่สร้าง “อำนาจรัฐที่ไม่เข้มแข็ง” ขึ้นมา

แต่หากพิจารณาในรายละเอียดของเรื่องราวที่เกิดขึ้น “ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ”

เปล่าเลย! เพราะการตัดสินใจเลือก ประชาชนเลือก “พรรคก้าวไกล” มาเป็นอันดับ 1 และพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ส่วนพรรคอื่นหลุดลุ่ยไม่ได้อยู่ในการตัดสินใจเลือกของคนส่วนใหญ่

ทั้ง 2 พรรคที่ประชาชนเลือก นำเสนออุดมการณ์และนโยบายในทางที่ทำให้เชื่อว่าจะเป็น “รัฐบาลที่เข้มแข็งในความเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน”

ซึ่งต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพในการเลือกของประชาชนมีพัฒนาการในทางที่เชื่อมั่นในความรู้ความคิด และสำนึกในประชาธิปไตยได้

เพียงแต่หลังจากนั้นการจัดตั้งรัฐบาลที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐไม่เป็นไปอย่างที่ประชาชนเลือก จัดการให้ “พรรคเพื่อไทย” แยกตัว ย้ายขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก และซ้ำด้วยการ “ยุบพรรคก้าวไกล” ที่ประชาชนเลือก

แต่นั่นไม่ได้ทำให้สิ้นหวังการประเทศจะมี “อำนาจรัฐเข้มแข็ง” เสียทีเดียว เพราะการเลือกและเปิดทางให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งได้พิสูจน์ความเป็น “ผู้นำที่แข็งแกร่ง” มาแล้วในอดีตกลับมา

ประชาชนไม่น้อยเชื่อมั่นว่า “ทักษิณ” จะสร้าง “อำนาจรัฐเข้มแข็ง” เข้ามาจัดการให้รัฐบาลงานอย่างเป็นเอกภาพ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนของกลไกอำนาจที่ควบคุมประเทศอยู่ให้พร้อมปฏิบัติการให้ศักยภาพในการบริหารจัดการมีเต็มที่

แต่ยิ่งนับวันยิ่งชัดเจนว่า ไม่เป็นเช่นนั้น

“พรรคเพื่อไทย” ซึ่งถูกเชิดให้เป็น “แกนนำรัฐบาล” กลับต้องเผชิญการสร้างเงื่อนไขให้ทำงานกับ “พรรคร่วม” อย่างแปลกแยก เหมือนปลาคนละน้ำ ดูแล “เอกภาพรัฐบาล” แทบไม่ได้ เป็นไปแบบ “หัวไปทาง หางไปทาง” และ “หาง” ยิ่งดูเหมือนจะได้รับการดูแลเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกับกลไกจัดการอำนาจมากกว่า

กลายเป็นว่า “พรรคเพื่อไทย” ขยับอะไรแบบไม่ได้เลย อย่าว่าแต่ผลงานในเชิงปรับโครงสร้าง กระทั่งมาตรการในการเยียวยาวิกฤตปากท้องประชาชนยังขับเคลื่อนได้ลำบากยากเย็น ทำได้แค่ใช้เงินในโครงการ รูทีนไปวันๆ ขณะที่ต้องแก้เกมด้วยการนำเสนอผลงานแบบสร้างความหวังด้วยปากไปวันๆ

ที่สำคัญ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีความเชื่อกันว่าจะใช้เป็นจุดขาย เรียกศรัทธาและคะแนนนิยมกลับเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่าถูกต่อต้าน ทั้งด้วยอำนาจตามกลไก และกระบวนการทางสังคม จนขยับอะไรกลายเป็นประเด็นที่ทำได้แค่อาศัยความนิ่ง ใช้เวลาคลี่คลายให้สถานการณ์สงบ

ผลงานในเชิงวิชั่น การนำเสนอรูปธรรมของนโยบาย และโครงการใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการนำพาประเทศไปสู่ความหวังในการก้าวไปข้างหน้าที่เป็นจุดแข็งในความสามารถของ “ทักษิณ” แทบไม่มีเรื่องไหนที่ขยับเขยื้อนได้ หลังประกาศออกไป ความร่วมมือที่จะให้บทบาทอย่างที่เป็นความหวังไม่เกิดขึ้นให้เห็น

เมื่อสังคมเข้มแข็งในทางส่งเสริมทิศทางของอำนาจรัฐเกิดขึ้นไม่ได้ ขณะที่เสียงที่ดังกว่าในสังคมกลับมีพลังในทางขัดขวาง ต่อต้าน

ความหวังว่าอำนาจรัฐ และกระแสสังคมจะเข้มแข็ง ส่งเสริม ตรวจสอบเพื่อสร้างสมดุลให้กันและกันอันเป็นคุณสมบัติของรัฐที่มีศักยภาพในการพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น

คำถามก็คือ ปัญหานี้เกิดจากใคร

การโทษว่าเป็น “ความผิดของประชาชน” ว่าไม่มีความสามารถในการเลือกผู้เข้ามาบริหารอำนาจ

มันถูกเรื่องหรือ