ปฏิมา เงาคิด บรรษัท น้ำมัน แห่งชาติ รัฐประหาร 2557

 

เหมือนกับการนำเสนอภาพของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” วางเรียงเคียงกับโลโก้ “สามทหาร” จะส่งผลสะเทือนเพียงแต่ต่อ “กรรมาธิการ” บางส่วน

เป็น 6 กรรมาธิการอันมาจาก “ทหาร”

ในนี้ย่อมมี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นตัวชูโรงในฐานะ “ประธาน” ในนี้ย่อมมี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ในฐานะ “โฆษก”

Advertisement

และต่อสายไปยัง “คปพ.” ซึ่งเป็นเจ้าของ “ไอเดีย”

กระนั้น หากใครได้อ่านเว็บไซต์ ไทยพับลิก้า ซึ่งนำเอามติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ออกมาเปิดเผย แผ่แบ

ก็จะมองเห็นว่า มีกรอบ “กว้าง” กว่านั้น

Advertisement

อย่าลืมว่าคนที่ออกมาคัดค้าน ต่อต้าน คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ คสช.

อย่าลืมว่าในที่ประชุม ครม.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไม่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

“ข้อมูล” ตรงนี้ “สำคัญ”

 

หากมองฐานันดรที่อยู่หน้านาม “ปรีดิยาธร” คือ ม.ร.ว. (หม่อมราชวงศ์) อาจคิดว่าฐานคิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล น่าจะไปกันได้กับ 6 กรรมาธิการสาย “ทหาร”

นั่นก็คือ ชาตินิยม-จารีต

รูปธรรมก็คือ แนวทางเศรษฐกิจแบบ “ไทยนิยม” ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และตามมาด้วย แนวทางเศรษฐกิจแบบ “รัฐวิสาหกิจ” หลังรัฐประหารเดือนธันวาคม 2494

ล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ฟื้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475

จากนั้น เปิดทางให้ “หน่วยราชการ” และ “ข้าราชการ” เข้าไปมีส่วนทั้งผ่าน “รัฐวิสาหกิจ” หรือธุรกิจในเอกชน

อย่างที่หนังสือ “ทุนนิยมขุนนาง” ของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ อธิบายไว้อย่างยอดเยี่ยม

เราจึงได้ “เศรษฐีใหม่” อย่างกลุ่มบ้านสี่เสาเทเวศร์ที่นำโดย จอมพล ส.ธนะรัชต์ เราจึงได้ “เศรษฐีใหม่” อย่างกลุ่มซอยราชครูที่นำโดย จอมพล ผ.ชุณหะวัณ

ความเป็นจริงก็คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยืนอยู่ตรงกันข้าม

 

ค.ร.ม.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่เห็นด้วยกับการบรรจุมาตรา 10/1 เอาไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เป็น ครม.ที่มอบหมายให้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับข้อสังเกตนี้ไปประสานกับ “วิป สนช.”

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีท่านนั้นมิใช่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ หากแต่คือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์

ศิษย์ก้นกุฏิของ ฟิลิป คอตเลอร์

ทั้งๆ ที่ ฟิลิป คอตเลอร์ เป็นนักการตลาดและเป็นตัวแทนทุนเสรีระดับเอ้ของสหรัฐและของโลก แต่ศิษย์ของคอตเลอร์กลับร่วมอยู่ใน ครม.ที่ยอมรับที่จะพัฒนา “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ทำให้นึกถึงพัฒนาการแห่ง “ประชานิยม” เป็น “ประชารัฐ”

ทำให้นึกถึงปฏิมาแห่ง “ไทยแลนด์ 4.0” อันเป็นเป้าหมายการก้าวไปของรัฐบาล คสช.ว่าจะแฝงไว้ด้วย “กลิ่นอาย” แบบใด

เป็นกลิ่นอายแบบ “สามทหาร” หรือเป็นกลิ่นอายแบบ “ปตท.”

กลายเป็นว่านักเศรษฐศาสตร์ที่เป็น “หม่อมราชวงศ์” กลับยืนอยู่ตรงกันข้ามกับนักการตลาดที่สมาทานไปกับ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

นี่คือ การกลับหัวกลับหางของสังคมไทย

 

ปฏิมาของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” จึงเป็นอีกปฏิมา 1 ที่จะตรึงแนบอยู่กับรัฐประหาร “คสช.” ไปยาว

ไม่ว่าการดำรงอยู่ของมาตรา 10/1 จะมีรากงอกมาจากความคิดและความต้องการอย่างไรในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะดำรงอยู่อย่างยาวนาน

คู่กับรัฐประหาร 2557 คู่กับ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image