ภาพเก่า…เล่าตำนาน สะพานโหด ข้ามแคว ฝรั่งหาย ตายนับหมื่น โดย:พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สะพานเหล็กสีดำสนิททอดข้ามแม่น้ำแควใหญ่ เป็นตำนานโหดระดับโลก เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังเกรียวกราวเปิดเผยถึงความอำมหิตทารุณ คนงานก่อสร้างสะพานและทางรถไฟตายแบบทรมานน่าสังเวชนับหมื่นคน สะพานแห่งนี้อยู่ที่ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทยเรานี่เองครับ ชื่อสะพานข้ามแม่น้ำแคว ฝรั่งเรียกกันว่า Bridge on the River Kwai

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ขอแบ่งปันข้อมูลของสะพานข้ามแม่น้ำแควและทางรถไฟสายมรณะที่มีชื่อเสียงก้องโลก
ย้อนเวลากลับไปเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพลูกพระอาทิตย์นับหมื่นมายกพลขึ้นบกทางอ่าวไทย แล้วแยกย้ายกันไปตั้งค่ายตามเมืองชายฝั่งทะเลของไทยพร้อมกัน 7 พื้นที่ มีการสู้รบระหว่างทหารไทย ยุวชนทหารกับ

ทหารญี่ปุ่น เลือดนองหาดทรายที่กองบิน 5 อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ และที่ปัตตานี

Advertisement

อีกราว 6 ชั่งโมงถัดมา มีโทรเลขจากรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ทหารไทยหยุดยิงและอำนวยความสะดวกให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนไทย

สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นต้องการครองความเป็นมหาอำนาจในเอเชียและแปซิฟิก รวมไปถึงออสเตรเลีย ในขั้นแรกของการบุกภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นตั้งกองบัญชาการใหญ่บนเกาะสิงคโปร์

กองทัพลูกซามูไร ตั้งใจจะใช้พื้นที่ด้ามขวานของไทยเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากสิงคโปร์ผ่านทะลุมาเลเซีย มุ่งเหนือขึ้นมาไทยแล้วจะขอสร้างทางรถไฟขึ้นใหม่จากสถานีรถไฟหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี เข้าไปในพม่า หมายมุ่งจะเข้าไปตีกองทัพอังกฤษในพม่าโน่น

Advertisement

กองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่น ห้าวหาญดุดัน โหดเหี้ยม เป็นที่ยำเกรงของทุกชาติในเอเชีย ไปรบทีแหลกลาญที่นั่น หลังจากหยุดยิงและทำความเข้าใจกับรัฐบาลไทยได้ขั้นต้น กองทัพญี่ปุ่นส่ง นายพล นากามูระ อาเคโตะ เข้าเจรจากับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อขอให้รัฐบาลไทยร่วมมือสร้างทางรถไฟตามแผนที่วางไว้ มีพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือในวันที่ 21 ธันวาคม 2484

ก่อนบุกไทย ญี่ปุ่นส่งคนเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยล่วงหน้าหลายปีกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เป็นหมอ เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ คนญี่ปุ่น พูดไทย อ่านไทยได้ เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยวันนั้น ชาวอาทิตย์อุทัยเหล่านี้หยิบเครื่องแบบทหารมาสวมกลายเป็นทหารในกองทัพพระจักรพรรดิทันที ปฏิบัติหน้าที่ทหารเต็มตัว

มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างทหารญี่ปุ่นกับราษฎรไทยที่ขอนำมาเล่าสู่ลูกหลานเพื่อทราบครับ


กรณีบ้านโป่งŽ เป็นการปะทะกันระหว่างทหารแดนอาทิตย์อุทัยกับราษฎรและตำรวจไทยที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ชนวนเหตุของการปะทะกันเกิดจากทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระสงฆ์ไทยที่ยื่นบุหรี่ให้แก่เชลยศึกฝรั่งที่กำลังก่อสร้างทางรถไฟ เหตุการณ์ดังกล่าวได้บานปลายใหญ่โตและทำให้ไมตรีที่เปราะบางระหว่างไทยและญี่ปุ่นเกิดรอยร้าวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ราษฎรไทยเริ่มต่อต้านการปฏิบัติงานของกองทัพญี่ปุ่นมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นรีบแก้ไขสถานการณ์โดยจัดตั้ง บก.กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยŽ โดยใช้อาคารหอการค้าจีน ถนนสาทรเป็นที่ทำการ สถานการณ์คลี่คลายไปได้

วกกลับมาเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแควครับ

แทบไม่ต้องสำรวจภูมิประเทศในไทยแต่อย่างใด แม่ทัพญี่ปุ่นบอกกับจอมพล ป.ว่า จะขอสร้างทางรถไฟแยกจากชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ไปทางตะวันตกผ่านแม่น้ำแควใหญ่ เพื่อไปให้ถึงปลายทางที่เมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ในพม่า

ความยาวจากสถานีหนองปลาดุกถึงสถานีตันบูซายัดรวม 415 กิโลเมตร อยู่ในเขตไทยประมาณ 303.95 กม. และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กม. ช่วงแรกกองทัพญี่ปุ่นโดยกองพลทหารรถไฟที่ 9 เกณฑ์แรงงานกรรมกรจาก จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มลายู พม่า และอินเดียมาก่อสร้างแต่ไม่ถูกใจ ลูกซามูไรต้องเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟให้เสร็จภายใน 14 เดือน และกองทัพญี่ปุ่นรบชนะในทุกสมรภูมิจับเชลยศึกได้นับหมื่นคน กองทัพซามูไรจึงนำเชลยศึกซึ่งเป็นทหารฝรั่งผิวขาวสัญชาติออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ และฮอลันดา ราว 61,700 คน มาก่อสร้างสะพานและทางรถไฟในกาญจนบุรี

กองทัพญี่ปุ่นรบสุดใจขาดดิ้นในทุกสมรภูมิ ทหารออสเตรเลียถูกจับกุมในบริเวณต่างๆ ในทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และย่านแปซิฟิกใต้เกือบ 15,000 คน ถูกจับกุมในสิงคโปร์ มากกว่า 2,700 คนถูกจับกุมในอินโดนีเซีย และที่เหลือเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เกาะอัมบน ติมอร์ และนิวบริเทน นอกจากนี้ ทหารออสเตรเลียราว 300 คน ที่รอดชีวิตจากการล่มของเรือรบ HMAS Perth ในยุทธนาวีในน่านน้ำอินโดนีเซีย ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 ก็ถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับมาเป็นเชลย ทหารญี่ปุ่นกวาดจับไปเป็นเชลยทั้งหมดแม้กระทั่งทหารหญิงของกลุ่มงานพยาบาล

ในปี พ.ศ.2485-2488 ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายเชลยศึกไปยังบริเวณต่างๆ ในเขตเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อใช้เป็นแรงงานสนับสนุนการรบ ส่วนใหญ่เชลยจะถูกส่งไป พม่า ไทย เกาะไหหลำ ฟอร์โมซา (ปัจจุบันคือ ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลี และแมนจูเรีย

 

เชลยศึกเหล่านี้ คือ ทรัพยากรที่สำคัญ กองทัพญี่ปุ่นจะนำมาใช้งานหนักในพื้นที่การรบแบบไม่ต้องปรานีตายได้ไม่อั้น

การสร้างก่อสะพานข้ามแม่น้ำแควในตอนต้น กองทัพญี่ปุ่นใช้แรงงานเชลยศึกสร้างเป็นสะพานไม้ชั่วคราวระดับต่ำห่างจากสะพานเหล็กในปัจจุบันไปทางใต้ของลำน้ำประมาณ 100 เมตร ต่อมากองทัพญี่ปุ่นได้สร้างเป็นสะพานเหล็กถาวรใช้ตอม่อคอนกรีตติดตั้งสะพานเหล็ก 11 ช่วง

ข้อมูลที่แสนขมขื่นที่ทางการออสเตรเลียมาบันทึกไว้ระบุว่า ญี่ปุ่นใช้คนงานทั้ง 2 โครงการ (สร้างรางจากไทยเข้าพม่า และจากพม่าเข้าไทย) ราว 180,000 คน เฉพาะเชลยศึกผิวขาวราว 61,700 คนตายไป 12,621 คน เป็นทหารอังกฤษ 6,904 นาย ออสเตรเลีย 2,802 นาย ฮอลันดา (ดัตช์) 2,782 นาย และอเมริกัน 133 นาย และตายในเขตก่อสร้างของพม่าอีกนับพัน

ฝรั่งผิวขาวนับหมื่นที่ตกเป็นเชลยทาสของกองทัพญี่ปุ่นจอมโหดเหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากการทำงานอย่างหนัก ขาดแคลนอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ถึงขนาดต้องนุ่งผ้าเตี่ยว (ตามภาพ) เชลยศึกผิวขาวป่วยตายจาก มาลาเรีย อหิวาต์ แผลเน่าติดเชื้อ โรคบิด และขาดอาหาร แพทย์ที่มาจากยุโรปไม่ค่อยคุ้นเคยกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในป่าดงดิบของกาญจนบุรี ศพของทาสแรงงานฝรั่งเหล่านี้ถูกฝังไว้บริเวณริมทางรถไฟตลอดสาย ตายตรงไหนก็ฝังตรงนั้น ศพนับหมื่นถูกฝังไว้เรี่ยราด เมื่อสงครามยุติลง หน่วยงานชื่อ Commonwealth War Grave Cemetery (CWGC) ที่ดูแลด้านการศพและสุสานของกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (ของอังกฤษ) เข้ามาย้ายศพเหล่านี้ไปยังสุสานเพื่อจัดระเบียบและทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติ ซึ่งสุสานอยู่ในกาญจนบุรี 2 แห่งและในพม่า 1 แห่ง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ.2489 กองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้เพราะถูกกองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ กลุ่มชาติพันธมิตรที่เคียดแค้นทหารซามูไร ขอสอบสวนการทรมานเชลยศึกแบบทีใครทีมัน ฝ่ายชนะสงครามนำตัวทหารญี่ปุ่น 111 นายที่ทรมานนักโทษเยี่ยงทาสไปขึ้นศาล ซึ่งศาลสั่งลงโทษประหารชีวิตทหารญี่ปุ่นจอมโหดไป 32 นาย

สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ

สะพานนรกใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 มีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 25 ธันวาคม 2486 ซึ่งสะพานแห่งนี้ เชิญแขกŽ เรียกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดใส่จนพังพินาศครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2488 และมาทิ้งระเบิดอีกหลายครั้งซึ่งกองทัพญี่ปุ่นก็บังคับเชลยศึกเหล่านี้สร้างขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง

สะพานข้ามแม่น้ำแควและทางรถไฟสายมรณะ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นสัญลักษณ์ของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สร้างขึ้นด้วยชีวิตของผู้คนที่ถูกบังคับมากกว่าหนึ่งแสนคนมาจาก 14 ชนชาติ เป็นทางรถไฟสายเดียวในโลกที่มีผู้คนมาสร้างมากที่สุด เชลยศึกผู้หนึ่งได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า ขบวนรถไฟที่วิ่งไปบนรางเหล็กทุกไม้หมอนรถไฟ เปรียบเสมือนวิ่งไปบนเรือนร่างของชีวิตมนุษย์ที่ต้องสูญเสียไป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงรัฐบาลไทยต้องซื้อทางรถไฟสายนี้มาจากอังกฤษด้วยเงินจำนวน 50 ล้านบาทแบ่งจ่าย 3 งวด แต่ก็ไม่สามารถจะรักษาทางรถไฟไว้ได้ทั้งหมดจาก 430 กิโลเมตรมีการรื้อออกเหลือเพียง 130 กิโลเมตร

ผู้เขียนเคยได้รับการร้องขอจากเพื่อนชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ให้พาเขาไปคารวะที่หลุมศพของบรรพบุรุษที่สุสานบ้านดอนรัก ซึ่งเป็นระเบียบ สะอาด สงบ สวยงาม สมเกียรติแก่ผู้วายชนม์ทั้งหลาย จึงต้องมาค้นคว้าหาข้อมูลตรงนี้เพื่อแบ่งปัน ขอย้ำว่าข้อมูลที่ละเอียดเจาะลึกนี้มาจากรัฐบาลออสเตรเลียเข้ามาจัดทำรวมทั้งการก่อสร้างอนุสรณ์ที่ช่อง Hellfire Pass ตลอดทั้งปีมีชาวต่างประเทศที่ทราบประวัติศาสตร์อันแสนระทม ได้เข้ามาทำพิธีระลึกถึงสงครามและคารวะศพของเพื่อนร่วมชาติมิได้ขาด

อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษชื่อ Harry Motteram ที่รอดชีวิตจากความเป็นทาสนรกสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นอดีตเชลยศึกคนสุดท้าย เสียชีวิตลงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558 ตอนอายุ 94 ปี เคยเล่าให้ลูกฟังก่อนเสียชีวิตว่า ต้องทำงานวันละ 18 ชั่วโมง ได้ทานข้าวเพียงวันละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนเสียชีวิตทาสเดนตายคนนี้เคยขอกลับมาเยี่ยมชมสะพานและทางรถไฟมรณะที่กาญจนบุรี เพื่อยืนยันกับลูกหลานว่า สถานที่แห่งนี้คือ นรก
     
ขอบคุณ ข้อมูลและภาพจาก hellfire-pass.commemoration.gov.au/…/bridge-on-
the-river-kwai.php และ hellfirepass.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image