น่านน้ำเอเชียตะวันออก สนามรบหรือสนามการค้า

จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนถือว่าเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ

ความเจริญทางเศรษฐกิจที่รุดหน้านี้มาจากการเปิดประเทศสู่ความทันสมัยอย่างเป็นระบบ

แต่เมื่อเทียบกับชาติตะวันตกแล้ว จีนยังมีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำ และยังต้องปรับตัวสู่ความเป็นสากลอีกมาก

จีนเป็นรัฐชาตินิยมที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกำลังได้ประโยชน์จากลัทธิการค้าเสรี ซึ่งตรงข้ามกับชาติตะวันตกที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวเสื่อมถอยและมีปัญหาหนี้สินสูง

Advertisement

ความปลอดภัยและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติยังคงเป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้จีนต้องสนใจแสนยานุภาพทางการทหาร และไม่ต้องการเพียงความยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่นเท่านั้น

จีนมีผลประโยชน์มากมายที่จะละเลยไม่ได้ทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง และมิได้มองเศรษฐกิจแยกออกจากการเมืองและความมั่นคง การขยายอิทธิพลทางการทหารถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจีน

รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความระแวงต่อการขยายอิทธิพลในทุกด้านของจีน โดยได้เริ่มนโยบายปิดล้อมจีนในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งในห้วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง จีนก็ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการขยายฐานที่มั่นทางทะเลรวมทั้งการเพิ่มงบประมาณทางการทหารจำนวนมาก

Advertisement

ในแง่หนึ่ง การขยายแสนยานุภาพของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกเป็นการขยายตัวที่ง่ายกว่าการขยายแสนยานุภาพทางภาคพื้นดินและทางอากาศมาก

และในอีกแง่หนึ่ง ผลประโยชน์ทางทะเลก็มีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย

เส้นทางการค้าส่วนใหญ่ของจีนต้องเปิดผ่านทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางบริเวณทะเลจีนใต้ผ่านช่องแคบมะละกา

ทรัพยากรประมงกำลังเป็นที่ต้องการแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูประชากร

ส่วนทรัพยากรธรรมชาติประเภทน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติก็เคยคาดกันมานานแล้วว่าจะมีอยู่มากในบริเวณทะเลจีนใต้

ดังนั้น เมื่อมีแรงกดดันจากนโยบายปิดล้อมจีนมากขึ้น จีนก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพในการครอบครองทะเลจีนใต้อย่างจริงจัง

เท่าที่ผ่านมา จีนมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ 3 จุด ได้แก่ หมู่เกาะเตียวหยู/เซ็นกะกุในทะเลจีนตะวันออกกับญี่ปุ่นและไต้หวัน หมู่เกาะแพราเซลในทะเลจีนใต้กับเวียดนาม และหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดที่ล่อแหลมที่สุดคือ หมู่เกาะสแปรตลีและแนวปะการังแถบดังกล่าว มีการจมเรือต่างชาติและมีการสร้างเกาะเทียมขึ้น หลังจากที่ได้ขับไล่เวียดนามออกจากหมู่เกาะแพราเซลซึ่งอยู่ระหว่างเกาะไหหลำกับชายฝั่งทะเลเวียดนามเมื่อนานมาแล้ว

ฟิลิปปินส์และมาเลเซียได้เข้าไปสำรวจ และผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิของจีนแต่ยังไม่เคยถูกทักท้วง และชาวประมงหลายประเทศก็ได้เข้าไปในน่านน้ำที่จีนอ้างมาก่อน

ทรัพยากรประมงและพลังงานในทะเลจีนใต้คงมิใช่เหตุผลเดียวของความขัดแย้ง เพราะมีข่าวว่าจีนกำลังเตรียมติดตั้งขีปนาวุธวิสัยไกลในน่านน้ำเอเชียตะวันออกทั้งหมดทั้งทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

รวมทั้งอาจข้ามช่องแคบแถบเกาหลีใต้ไปร่วมมือกับรัสเซียในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้มีศักยภาพทางการทหารในทะเลญี่ปุ่นอีก

การเปลี่ยนแปลงทางการทหารเหล่านี้ย่อมสร้างความกังวลสำหรับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวัน ไล่ไปตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์

และแสดงถึงความไม่หวั่นเกรงอำนาจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสนธิสัญญาทางทหารกับประเทศเหล่านี้

น่านน้ำแถบเอเชียตะวันออกจึงมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเป็นจุดปะทะทางการทหาร และทำให้ความเป็นสนามการค้าของชาติเอเชียตะวันออกเริ่มสั่นไหวเป็นครั้งคราว

เราไม่ควรประเมินความขัดแย้งในน่านน้ำเอเชียตะวันออกต่ำเกินไป เพราะความเป็นมหาอำนาจของจีนไม่สามารถละเลยอิทธิพล และผลประโยชน์ทางการทหารของตนได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาหันมากังวลกับจีนทดแทนรัสเซียมากขึ้น

และเมื่อชนวนถูกจุด การปะทะย่อยๆ ก็มักมีการขยายวงออกไป

สหรัฐย่อมยอมไม่ได้ที่จีนจะครอบครองน่านน้ำล่วงล้ำเขตน่านน้ำทะเลหลวง ที่ทุกประเทศมีเสรีภาพในการเดินเรือและสิทธิอื่นๆ ของนานาชาติซึ่งรวมถึงตน

และยิ่งยอมไม่ได้ถ้าจีนจะเพิ่มฐานทัพติดขีปนาวุธวิสัยไกลที่มีอานุภาพสูง และห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่อย่างมากมาย

จีนมีเหตุผลด้านอธิปไตยของตนเองในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีเหตุผลที่จะต้องปกป้องทะเลหลวงของนานาชาติและรักษาดุลอำนาจโลกที่ตนเป็นผู้นำ

เหตุผลของจีนเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือน่านน้ำทะเลจีนอาศัยการกำหนดเขตน่านน้ำ ตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และยึดตามนั้นมาตั้งแต่ก่อนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนขึ้นปกครองประเทศ

ในปี ค.ศ.1982 จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (โดยให้สัตยาบันในปี ค.ศ.1996 ในขณะที่สหรัฐมิได้ให้สัตยาบัน) ทว่าในปี ค.ศ.1992 ก็ได้ตอกย้ำกรอบการอ้างสิทธิด้วยการออกกฎหมายทางทะเล ที่อาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์กำหนดทะเลอาณาเขตตามร่องรอยการยึดครองของตนในอดีตอันยาวไกล

ซึ่งก็หมายความถึงการกำหนดเขตอธิปไตย 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่แต่ละประเทศมีสิทธิในการแสวงหาผลประโยชน์ออกไปอีก 200 ไมล์ทะเลมิได้อยู่ในสารบบของจีน

และทะเลอาณาเขตของจีนยังถือว่าครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้

ฟิลิปปินส์ต้องแก้เกี้ยวด้วยการเปลี่ยนชื่อทะเลจีนใต้เป็นทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ไม่ยอมรับว่าทะเลจีนใต้เป็นทะเลของจีนตามชื่อที่ตั้งกันมาแต่โบราณ

ประเทศเล็กๆ ที่ถูกจีนอ้างสิทธิ และก็ต้องการแย่งชิงผลประโยชน์ด้านการประมงและพลังงานได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน

และทะเลหลวงอันเป็นเขตที่การเดินเรือเสรีในบริเวณนั้นก็ได้รับผลกระทบด้วย

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเพิ่มงบประมาณทางการทหารอย่างมากมาย รวมทั้งการเพิ่มกำลังให้กับกองทัพเรือและมีการสะสมเรือดำน้ำ และกองเรือลาดตระเวนมากขึ้น

จีนบอกว่าเกาะเทียมที่สแปรตลีมิได้มีเป้าหมายทางการทหาร แต่เป็นอธิปไตยของจีน และมิได้กล่าวว่าทะเลหลวงของนานาชาติมีอยู่จริง

ฟิลิปปินส์ ซึ่งเดือดร้อนจากกรณีหมู่เกาะสแปรตลีได้ยื่นคดีเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และเพิ่งชนะคดีในเชิงหลักการ ส่วนจีนย่อมไม่ยอมรับการตัดสินตามอิทธิพลของฝ่ายชาติตะวันตก

ประธานาธิบดีดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นานมองออกว่าปัญหานี้เป็นภาระในระยะยาวและจะคงอยู่ไปอีกนาน จึงหันไปสร้างความสัมพันธ์ด้านการลงทุนกับจีนอันเป็นความพยายามใช้เศรษฐกิจนำการทหาร

ดูแตร์เตได้ตำหนิประธานาธิบดีโอบามา เพราะไม่ต้องการมีปัญหาความรุนแรงกับจีน ทว่าล่าสุด เมื่อจีนมีท่าทีแข็งกร้าวและแยกความร่วมมือทางการค้า และการลงทุนออกจากการยึดครองทะเลจีนใต้ จำต้องกลับมาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาแสดงความเด็ดขาด

ความระมัดระวังทั้งของสหรัฐและจีนย่อมมีอยู่ และย่อมหลีกเลี่ยงการปะทะกันตรงๆ

ถ้าบริเวณน่านน้ำเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรุนแรง สหรัฐคงจะผลักดันให้ประเทศที่ขัดแย้งต้องอาศัยการปฏิบัติการของตนเอง ซึ่งหมายถึงการแบกรับภาระทางการเงินและชีวิตทหาร

จีนมีนโยบายที่เด็ดขาดเสมอเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนของตน ไม่ว่าจะเป็นที่ยอมรับในทางสากลหรือไม่ ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีเสียงสายเหยี่ยวว่าไม้แข็งเท่านั้นที่จะสกัดจีนได้ กระนั้น การออกหน้าให้ประเทศเล็กๆ คงจะยาก

ปัญหาคือ จีนนั้นใหญ่เกินไปที่จะฟังใครหรือยอมรับชาติใดให้เป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

ส่วนประเทศในอาเซียนย่อมหาฉันทามติไม่ได้ ประเทศที่มีปัญหาน่านน้ำกับจีนมีจุดยืนคัดค้านจีน และจะต้องแบกรับภาระด้วยการเพิ่มรายจ่ายทางการทหารอย่างมากมายในอนาคตอันใกล้

ฟิลิปปินส์ได้รับความช่วยเหลือด้านกองเรือจากญี่ปุ่น เวียดนามสร้างความร่วมมือกับเกาหลีใต้

สปป.ลาว และกัมพูชายืนอยู่กับฝ่ายจีนตามผลประโยชน์แห่งชาติของตน

ส่วนไทยมีท่าทีเป็นกลางแต่กำลังเพิ่มความเสี่ยงด้วยการซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งจะมาจากจีน

แม้จะเป็นรัฐบาลทหารที่เข้าใจปัญหาการป้องกันประเทศดี ก็ควรเน้นความรอบคอบของกุศโลบายระหว่างประเทศ และระมัดระวังการเพิ่มรายจ่ายทางการทหารตามประเทศที่กำลังแย่งชิงทรัพยากรกัน

เพราะท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นนี้ น่านน้ำเอเชียตะวันออกจะยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการค้า ที่ต้องการสันติภาพและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ มิใช่สนามรบ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image