สื่อมวลชนไม่เรียนแต่ทำงานได้

แผนกวิชาการหนังสือพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหยุดไปเมื่อไหร่ไม่ทราบได้ แต่กิจการหนังสือพิมพ์ยังพัฒนาก้าวหน้า มีหนังสือพิมพ์เกิดใหม่หลังจากนั้นอีกหลายฉบับ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลหลังปฏิวัติ 8 พฤศจิกายน 2490 ยังดำเนินการต่อไป เท่าที่ติดตามข่าวหลังจากนั้น ทราบว่านักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังระหว่างนั้น ต่อสู้กับเผด็จการมาตลอด นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพหรือสันติภาพ ถึงขนาดถูกจับกุม และบางคนถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา เรียกว่ากบฏสันติภาพ มีชื่อที่พอจะจำได้ เช่น ทวีป วรดิลก เป็นต้น

นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จชั้น ม.8 แล้ว และเข้าเรียนในวิชากฎหมายเป็นส่วนมาก เรียนไปทำงานไป ส่วนหนึ่งเป็นเสมียนศาล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย

เมื่อมีนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมคุมขัง มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ มีการเขียนข่าวเขียนหนังสือต่อสู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติจึงมีการจับกุมคุมขังนักหนังสือพิมพ์ขนานใหญ่อีกครั้ง จากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 รวมทั้งการใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์รวมถึงกฎหมายปราบปรามอันธพาล ในห้วง พ.ศ.2501 มาถึงหลังจากจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร รับมอบอำนาจต่อ

Advertisement

เมื่อ พ.ศ.2511 ประมาณนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดแผนกวิชาการหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอีกครั้ง รับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 6 ด้วยการสมัครสอบ หากเข้าเรียนและได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีโอกาสขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรี เรียกว่าแผนกสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ หรือ ส.ม. (หากจำไม่ผิด)

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีแผนกวิชาวารสารศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์และวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การประชาสัมพันธ์ จากผู้ประจำการหรือข้าราชการเข้าเรียน โดยไม่ต้องสมัครสอบ เป็นหลักสูตร 3 ปี สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์ หากสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายยังมีโอกาสขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรี

ผมมีโอกาสเข้าศึกษาในวิชาการหนังสือพิมพ์รุ่นแรก ซึ่งต่อมาเปิดให้เรียนเพียงสามรุ่นแล้วเลิก มีพวกที่ปฏิบัติหน้าที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเดียวกันไปเรียน กระทั่งขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรีหลายคน เป็นวารสารศาสตรบัณฑิตต่อมาเมื่อเปิดเป็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

Advertisement

การที่มหาวิทยาลัยเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ เข้าศึกษาเพิ่มพูนความรู้ทั้งระดับประกาศนียบัตรและปริญญาตรี โดยไม่ต้องสอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นความใจกว้างของ
ผู้บริหารอีกโสดหนึ่ง

ขณะที่การประกอบอาชีพเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มีความต้องการหลากหลายความรู้วิชาชีพ ขณะที่หากมีโอกาสศึกษาวิชาการด้านหนังสือพิมพ์ด้วย จะทำให้ผู้นั้นได้ใช้วิชาความรู้ทางด้านวิชาการหนังสือพิมพ์และความรู้วิชาด้านอื่น เช่น กฎหมาย การปกครอง เศรษฐศาสตร์ การสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ ได้ไม่จำกัด เพื่อมาประกอบการทำข่าวและการเขียนข่าว รวมถึงการเขียนบทความ วิพากษ์วิจารณ์วิชาการนั้นๆ

การที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ได้ศึกษาวิชาการอื่น ย่อมทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ไม่จำเพาะต้องศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์โดยตรง แต่มาศึกษาในภายหลังได้

เพราะผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชน ควรเป็นผู้มีอิสระและเสรีภาพกว้างขวางในการประกอบอาชีพ ไม่จำเป็นต้องจำเพาะศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์มาก่อนจึงประกอบวิชาชีพได้ ไม่เหมือนกับวิชาการอื่นที่เป็นวิชาเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล ครู วิศวกรรม สถาปัตยกรรม กฎหมาย และ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพมาควบคุมโดยตรง

ดังนั้น แม้การสื่อสารมวชนต้องมีจริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ หรือสภามาควบคุมก็ได้ ทราบแล้วเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image