ประกาศใช้ รธน.60 การเมืองเข้าโหมดเลือกตั้ง ระทึก ‘อำนาจ’ พลิก

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน เวลา 15.00 น. ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต่อหน้ามหาสมาคมที่มีพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

เท่ากับว่า ณ บัดนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้ว

ต่อไปประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กำหนด

Advertisement

ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งตามรัฐธรรมนูญคือ จัดการเลือกตั้ง

 

เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ผู้คนจับจ้องวันเวลาการเลือกตั้ง ซึ่งการจะจัดการเลือกตั้งได้นั้นต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับคลอดออกมา

Advertisement

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มองว่า ภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 16 เดือน หรือประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2561

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มองว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่มาตรา 267 ที่กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

จากนั้นให้ กรธ.ส่งร่าง พ.ร.ป.แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วในระยะเวลา 60 วัน

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาให้แล้วเสร็จใน 10 วัน

จากนั้นส่งกลับยัง สนช. 15 วัน

ถ้า สนช.เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนทูลเกล้าฯ ซึ่งมีกรอบเวลา 120 วัน

จากนั้นจะเป็นกระบวนการจัดการเลือกตั้งอีก 5 เดือน รวมทั้งสิ้น 1 ปี 5 เดือน

หรือจะมีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน ปี 2561

 

อย่างไรก็ตาม นายปริญญายังมองว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ก็ได้

“หากจะให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่าเดือนกันยายน 2560 สามารถทำได้ เพียงแค่เมื่อมีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กรธ.ส่งร่าง พ.ร.บ.จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ สนช.โดยไม่ต้องรอให้ครบ 8 เดือน”

ทำได้เช่นนี้ นายปริญญามองว่า การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ในเดือนมกราคมปี 2561

แต่ถ้า…

“ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งช้า ก็สามารถทำได้อีก

สนช.สามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สนช.ตีตกร่าง พ.ร.ป. ซึ่งถ้าตีความโดยอนุโลมก็ให้มีการเริ่มต้นนับร่าง พ.ร.บ.ใหม่

หรือถ้าจะให้นานกว่านั้นก็อ้างได้เลยว่า ในบทเฉพาะกาลไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร

ทุกอย่างจะต้องไปที่การแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน

เท่ากับว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไปถึงปี 2562 หรือขยายไปมากกว่านั้นก็ได้”

 

ขณะที่นายมีชัยให้ความเห็นต่อแนวทางการวิเคราะห์ของนายปริญญาว่า มกราคม 2561 เป็นการคาดการณ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเร็วที่สุด

แต่เอาเข้าจริงจะเร็วได้อย่างนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถแน่ใจว่าทั้ง กกต.และพรรคการเมืองจะพร้อมเมื่อไร

และกฎหมายที่จะออกมาในระหว่างทางจะมีปัญหาอะไรบ้าง

ทั้งนี้นายมีชัยยกตัวอย่างร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับแรก ที่ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 เดือน

แต่นายมีชัยยืนยันว่าจะดำเนินการผลักดัน พ.ร.ป.ให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปลายปี 2560

เพราะถ้านับ 8 เดือนต่อจากนี้ไป ก็ปลายปีนี้พอดี

นอกจากนี้ยังต้องให้เวลาพรรคการเมืองทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย

เช่น การไปสำรวจว่าสมาชิกมีกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง จะจ่ายเงิน

กันอย่างไร

นายมีชัยมั่นใจว่า ข้อกำหนดดังกล่าวต้องให้เวลาพรรคการเมืองดำเนินการ

 

สําหรับการเลือกตั้งที่จะถึง ไม่ว่าจะมาถึงช้าหรือมาถึงเร็ว ผู้ที่สนใจเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศก็ต้อง เตรียมพร้อม

ทางหนึ่งพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

อีกทางหนึ่งพร้อมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว.

กลุ่มที่ต้องเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนเลือก ต้องมีเวลาลงพื้นที่หาเสียงกันตั้งแต่บัดนี้

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ต้องคิดค้นนโยบายใหม่ที่ “ถูกใจประชาชน” และ “ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” ด้วย

ขณะเดียวกัน คสช. นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงไป ก็ถึงเวลานับถอยหลัง

ทางหนึ่ง คือ ลดบทบาทลงไป โดยไม่ต้องมีคดีติดตามมา

ทางหนึ่ง คือ หาช่องทางสืบต่ออำนาจต่อไปในยุครัฐบาลเลือกตั้้ง

และเมื่อปรากฏว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้อำนาจ คสช.คัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ทำให้เสียงในรัฐสภาเมื่อถึงเวลาโหวตเลือกนายกฯ ได้เปรียบ

โอกาสที่ คสช.จะได้คนที่ตัวเองต้องการไป “สืบทอด” อำนาจย่อมมีสูง

นี่เองจึงเป็นที่มาของกระแสเสียง

พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเป็นนายกฯต่อไปอีก

 

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ และกำหนดให้รัฐบาลที่บริหารประเทศต้องผ่านกลไกการเลือกตั้ง

ทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. แบบเต็มใบ คืนกลับไปอยู่ในมือของประชาชน

และอำนาจที่คืนกลับมาสู่มือประชาชนนี่แหละที่จะทำให้ “การเมือง” ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ…พลิก

มีโอกาสพลิกทั้งเมื่อ การเลือกตั้ง ส.ส. มาถึง

มีโอกาสพลิกทั้งเมื่อ รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

และยังมีโอกาสอื่นๆ ที่ทำให้การเมืองมีสีสัน

เป็นสีสันที่มาคู่กับ “อำนาจใหม่” ที่กำลังเข้ามาแทนอำนาจ คสช.

อำนาจประชาชน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image