เที่ยวสงกรานต์วิถีพุทธ หยุดยั้งอุบัติเหตุ โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่กับเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีผลกระทบในเชิงลบต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง เพราะปีหนึ่งๆ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมาย และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากเทศกาลทั้งสองดังกล่าวนี้ นำไปสู่ปัญหาสังคมบนท้องถนนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ล้วนแท้แต่เกิดจากบุคคลที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่

ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะชาวพุทธในประเทศไทยไม่สนใจหลักธรรมคำสอนในทางศาสนาที่ตนเองเคารพนับถือ หรือไม่ก็เกิดจากกลไกทางสังคมที่จูงใจให้คนไทยซึ่งเป็นชาวพุทธหลุดลอยจากวัฒนธรรมและศาสนา เพราะอุบัติเหตุตามทรรศนะของศาสนานั้นมิใช่เกิดจากเคราะห์กรรม แต่เกิดจากความประมาท

ดังสุภาษิตที่ว่า “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย” คือตายอย่างไม่สมควรจะตาย หรือตายยังไม่ถึงโอกาสที่จะตาย เรียกว่า “ตายอย่างไร้คุณค่า” ซึ่งโดยปกตินั้น ชีวิตมนุษย์ทุกคนย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงเตือนย้ำให้ศาสนิกยึดถือคติที่ว่า “อยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่า”

การอยู่อย่างมีความหมาย คืออยู่อย่างไม่ประมาท ได้แก่ ไม่ประพฤติหรือปฏิบัติตนที่ก่อให้เกิดปัญหา ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

Advertisement

มาตรการหยุดยั้งอุบัติเหตุ : รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้กฎหมายมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ (2560) เป็นกรณีพิเศษ คือเข้มงวดกว่าทุกปีที่ผ่านมาเพื่อหยุดยั้งอุบัติเหตุให้น้อยลง เพราะเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ เพราะอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากความประมาทของคนที่ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งพอจะประมวลสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์ได้ดังนี้

1.ผู้ขับขี่ยานพาหนะมักง่ายและขาดสติ เช่น ขับย้อนศร แซงซ้าย ปาดหน้ากระชั้นชิด ไม่สวมหมวกนิรภัย

2.ผู้ขับขี่ยานพาหนะขับด้วยความเร็วสูง เช่น ขับแซงในทางโค้ง เส้นทึบ บนสะพาน ที่ชุมชน ด้วยความเร็วสูง และผิดปกติวิสัย

Advertisement

3.ผู้ขับขี่ยานพาหนะขาดความพร้อม เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ สุขภาพไม่สมบูรณ์ สภาพรถไม่ดี บรรทุกคนมากเกินไป รวมทั้งไม่ชำนาญเส้นทาง

4.เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกหรือกวดขันวินัยจราจรมีไม่มากพอ เพราะจำนวนรถและคนออกไปท่องเที่ยวหรือกลับบ้านในเทศกาลมีจำนวนมาก

5.คนไทยขาดระเบียบวินัยและความอดทนในการใช้รถใช้ถนน คือมักง่าย ตามใจตนเองหรืออารมณ์ร้อน

พฤติกรรมเสี่ยงทั้ง 5 ข้อดังกล่าว เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเทศกาลสำคัญอื่นๆ

สาระสำคัญของสงกรานต์ : คำว่า สงกรานต์ แปลว่า การย้าย หรือการเคลื่อนที่ ได้แก่การที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีเดิมสู่ราศีเมษ ซึ่งคนโบราณถือว่าเป็นนักขัตฤกษ์ คือเทศกาลงานมงคล จึงยึดถือช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ตามสุริ หรือช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ตามจันทรคติ ถือเป็นเทศกาลวันปีใหม่ของไทย ปัจจุบันทางราชการได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยตามสุริยคติหรือปรกติสุรทิน ตรงกับวันที่ 13-14-15 เมษายน โดยกำหนดให้วันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก

วันมหาสงกรานต์ เป็นวันสนุกสนานรื่นเริง วันเนาคือวันที่ 14 เป็นวันว่าง ให้หาโอกาสไปขอศีลขอพร รดน้ำดำหัวผู้ที่เคารพนับถือ และเป็นวันครอบครัว พ่อแม่รอพบลูกด้วยความตื่นเต้นและดีใจ จึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางไปพบพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ด้วยความเยือกเย็นและระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ

สงกรานต์วิถีพุทธ : ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยหรือสงกรานต์มีตำนานสืบต่อมาจากสังคมอินเดีย เมื่อสังคมไทยรับพระพุทธศาสนามาจากอินเดีย วัฒนธรรมประเพณีดังกล่าวนี้ก็พลอยติดตามมาด้วยแต่มีการประยุกต์ใช้ให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยที่มีรูปแบบหรือคตินิยมพราหมณ์ผสมผีเข้ามาเกี่ยวข้อง สงกรานต์แบบไทยจึงมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจนฝรั่งมังค่าให้ความสนใจร่วมกิจกรรมอย่างหลากหลาย แต่ถึงกระนั้นก็มิควรลืมสาระที่สำคัญของวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่สนุกสนาน มีคุณค่าน่าอนุรักษ์หวงแหน และสืบสานไป
ชั่วลูกชั่วหลานภายภาคหน้า

ซึ่งเรียกว่า สงกรานต์วิถีพุทธ

สงกรานต์วิถีพุทธ เป็นสงกรานต์ที่สร้างสรรค์จรรโลงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ด้วยวิธีการปฏิบัติที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1.ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม : เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดื่มกินและพักผ่อนแบบสุภาพ

2.ใช้รถและใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง : ถนนทุกสายมีไว้สำหรับรถวิ่ง เพราะยุคเกวียนผ่านพ้นไปแล้ว จึงต้องมีมารยาทหรือระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัดด้วยความไม่ประมาท

3.แสวงหาโอกาสชำระจิตใจให้ผ่อนคลาย : เมื่ออาบน้ำหรือรดน้ำให้ร่างกายชุ่มฉ่ำแล้ว อย่าลืมอาบน้ำชำระจิตใจให้เยือกเย็นด้วย

การอาบน้ำให้จิตใจ คือการทำบุญ ถวายสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ และเสริมสิริมงคล ซึ่งวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรรอคอยบริการท่านด้วยเมตตาธรรม

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image