Brexit เมื่ออังกฤษเริ่มหย่าขาดจากอียู โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

หลังจากเฝ้ารอมานานถึงเก้าเดือน ในที่สุดกระบวนการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร หรือที่รู้จักภายใต้ชื่อ “Brexit” ก็ถึงวันคลอด หลังจากที่ผู้แทนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกตามบทบัญญัติมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอนซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของอียู

ก่อนจะถึงวันแห่งประวัติศาสตร์นี้ นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักร เคยประกาศท่าทีอย่างชัดเจนที่สุดอย่างน้อยสองประการในเรื่องที่เกี่ยวกับ Brexit ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ต่อจากเดวิด คาเมรอน

หนึ่ง ยืนยันว่า “Brexit means Brexit” ออกก็คือออก นั่นคือจะยึดมั่นและสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ (52%) ซึ่งโหวตให้ประเทศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของอียูในการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016

สอง ยืนยันว่าจะไม่มีการยื่นหนังสือต่ออียูภายในสิ้นปี 2016

Advertisement

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม ท่านผู้นำหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์ของประเทศก็ประกาศจุดยืนสำคัญเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง นั่นคือจะยื่นหนังสือหรือยื่นโนติสแจ้งต่ออียูภายในเดือนมีนาคม 2017 (เป็นอย่างช้าที่สุด) เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ

หมายความว่า สหราชอาณาจักร (หรือ “อังกฤษ” ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า) กำหนดจะยื่นหนังสือต่ออียูวันใดวันหนึ่งในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้โดยไม่บิดพลิ้ว ไม่มีก่อนและไม่มีหลังจากนี้อย่างแน่นอน เพื่อสร้างความประทับใจให้ชาวอังกฤษได้ประจักษ์ว่าผู้นำคนนี้รักษาคำพูดและทำตามคำมั่นสัญญา

เหตุผลสำคัญอย่างน้อยสองประการที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษจำเป็นต้องดีเลย์หรือยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถเร่งรีบยื่นหนังสือต่ออียูได้ในเร็ววัน(ทั้งๆ ที่มีแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศและเสียงเรียกร้องจากผู้นำอียู) ได้แก่

Advertisement

หนึ่ง เนื่องจากการเจรจาถอนตัวออกจากอียูเป็นภารกิจใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2016 คือช่วงเวลาที่รัฐบาลอังกฤษต้องตระเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของบุคลากร หน่วยงานและข้อกฎหมายต่างๆ

สอง รัฐบาลอังกฤษต้องการที่จะเจรจานอกรอบเพื่อหาข้อตกลงเบื้องต้นเป็นหลักประกันก่อนเข้าสู่กระ บวนการเจรจาอย่างเป็นทางการกับฝ่ายอียู

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะถูกปฏิเสธจากฝ่ายอียูที่ไม่ยินยอมเจรจานอกรอบ (จนกว่าจะยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ) แล้ว รัฐบาลก็ประสบปัญหาหนักหนาในการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรองรับกับเจรจาที่ว่ากันว่ายุ่งยากซับซ้อนที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

เหมือนพระศุกร์จะเข้าพระเสาร์จะแทรก เพราะสิ่งที่รัฐบาลไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนกลายเป็นอุปสรรคทำให้แผนการของรัฐบาลต้องหยุดชะงักไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เมื่อแผนการ Brexit ถูกนำเข้าสู่กระบวนการของศาลเป็นระยะเวลาสามเดือน (พฤศจิกายน 2016-มกราคม 2017) เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจหรือสามารถใช้อำนาจของฝ่ายบริหารแต่โดยลำพังในกระบวนการเริ่มต้นเจรจา Brexit เท่ากับว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกที่สองนอกจากต้องยินยอมให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการพิจารณาร่วมตัดสินใจก่อนที่จะดำเนินการยื่นหนังสือต่อทางอียู

ดังนั้น เมื่อตารางเวลาถูกลดน้อยลงเหลือเพียงสองเดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) รัฐบาลจึงได้พยายามเร่งรัดในทุกวิถีทางเพื่อทำให้กระบวนพิจารณาอนุมัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะสามารถยื่นหนังสือต่ออียูได้ทันตามกำหนดการเดิม นั่นคือจะต้องไม่เกินเดือนมีนาคมนี้

เมื่อร่างกฎหมายที่เรียกสั้นๆ ว่า “Brexit bill” ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาในคืนวันที่ 13 มีนาคม เปิด “ไฟเขียว” ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตามกฎหมายในการยื่นหนังสือต่ออียูได้แล้ว ว่ากันว่ารัฐบาลเตรียมนำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในเช้าวันรุ่งขึ้นทันที ด้วยเป้าหมายเร่งด่วนที่จะยื่นหนังสือต่อประธานคณะมนตรีแห่งอียูให้ทันในวันที่ 14 มีนาคม

ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แต่สุดท้ายตัวเลือกวันที่ 14 มีนาคม ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลมีอำนาจสมบูรณ์ตามกฎหมายที่จะดำเนินการยื่นหนังสือถอนตัวจากอียู

จากเดิมที่เคยคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีตัวเลือกเหลือเฟือมากถึง 90 วัน สามารถเลือกวันใดวันหนึ่งในช่วงสามเดือนแรกของปี 2017 แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลเหลือตัวเลือกจริงๆ เพียงแค่ 5 วันสุดท้ายของเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น

เนื่องจากวันที่ 25 มีนาคม ถนนทุกสายจะมุ่งหน้าสู่กรุงโรม เพื่อร่วมฉลองวันครบรอบ 60 ปีของการลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม ข้อตกลงฉบับแรกที่ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งถือเป็น “บ้าน” หลังแรกของยุโรปก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ดังนั้น การยื่นหนังสือเพื่อขอ “หย่าร้าง” จากอียูในช่วงระยะเวลา (ระหว่างวันที่ 16-25 มีนาคม) ก่อนถึงวันสำคัญของอียู สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความไม่พึงพอใจให้กับผู้นำของอียู จนอาจเป็นอุปสรรคในช่วงการเจรจาได้
แล้วทำไมต้องเป็นวันที่ 29 มีนาคม?

มีความเป็นไปได้ว่า การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจเลือกเอาวันที่ 29 มีนาคมเป็นวันฤกษ์ดียื่นหนังสือขอถอนตัวจากอียู ยุติสมาชิกภาพ 44 ปีที่ผูกพันกันมา ก็อาจจะเนื่องมาจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวันดังกล่าว ที่มีความหมายทางสัญลักษณ์ทั้งต่ออังกฤษและยุโรปอย่างชนิดที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า วันที่ 29 มีนาคม ปี 1461 เป็นวันที่แผ่นดินอังกฤษนองเลือดมากที่สุดในศึกสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ที่ยืดเยื้อนานถึง 6 ปี และเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของราชวงศ์ยอร์ก ดังนั้น อาจเป็นได้ที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จะวาดหวังว่าวันที่ 29 มีนาคม 2017 คือวันเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ครั้งสำคัญที่สุดของประเทศในรอบ 556 ปี(?) และถือเป็นวันสุดท้ายที่อังกฤษ(จะ)ยอมจำนนอยู่ภายใต้ชายคาของอียูที่ควบคุมสั่งการโดยเยอรมนี (เนื่องจากวันที่ 29 มีนาคม 1945 คือวันสุดท้ายที่เกาะอังกฤษถูกกองทัพนาซีเยอรมันถล่มด้วยอาวุธหนักในศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะยาตราทัพบุกเข้าเยอรมนีและกำจัดฮิตเลอร์จนสิ้นซาก)

แต่ในทางตรงกันข้ามและมีแนวโน้มค่อนข้างมากว่า ผู้นำของสมาชิกอียูอาจจะมองเห็นต่างและต้องการลงโทษ โดยมีเป้าหมายที่จะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” สร้างความหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในรอบห้าศตวรรษสำหรับอังกฤษ(?)

ซ้ำร้ายที่ผู้นำอังกฤษอาจจะไม่ได้ตระหนักก็คือ วันที่ 29 มีนาคม บังเอิญเป็นวันที่มีความหมาย(อัปยศ)อย่างมากในประวัติศาสตร์ของเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสองชาติมหาอำนาจตัวจริงในอียู จนอาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้นำทั้งสองชาติก็เป็นได้

นั่นคือ นอกจากจะเป็นวันที่กรุงปารีสถูกกองทัพไวกิ้งยึดครองในปี 845 อย่างน่าละอายสำหรับชนชาติฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นวันเริ่มต้นหายนะแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ฮิตเลอร์เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้ชาวโลกได้ประจักษ์จนกลายเป็นตราบาปหลอกหลอนชนชาติเยอรมันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า วันที่ 29 มีนาคม 1936 คือวันที่ชาวเยอรมันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ลงประชามติเห็นชอบต่อการที่นายกรัฐมนตรี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ส่งกองทัพทหารเข้าไปยึดครองดินแดนและผนวกพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์ เป็นก้าวแรกสุดที่ฮิตเลอร์เริ่มท้าทายและแข็งกร้าวจนกระทั่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด

ถึงแม้กุหลาบจะเป็นดอกไม้ประจำชาติของชาวอังกฤษ แต่ในเส้นทางตลอดสองปีของการเจรจาถอนตัวออกจากอียูนับจากนี้เป็นต้นไปจะไม่โรยด้วยดอกกุหลาบอย่างแน่นอน

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image