บทสรุป การเมือง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กับ กฎแห่งอนิจจัง

การออกมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของ “รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้ง ผ่านการเสวนา “การบังคับใช้กฎหมายกับการสร้างความปรองดองในสังคมไทย” ของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

น่าตื่นตา น่าตื่นใจ

1 พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ เพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคใดตั้งรัฐบาลเองได้ เพราะไม่สามารถรวมเสียงให้เกิน 376 เสียงได้ ดังนั้น คสช.จะเป็นผู้กำหนดว่า 2 พรรคนั้นพรรคใดจะเป็นรัฐบาล

1 คสช.จะเป็นนายกรัฐมนตรีเองโดยมีพรรคขนาดใหญ่พรรคหนึ่งมาร่วมรัฐบาล

Advertisement

1 พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมและจับมือกันเป็นรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก และ 1 ปล่อยฟรีโหวตกับ ส.ว.ให้การตั้งรัฐบาลเป็นธรรมชาติโดย คสช.ออกไปยืนดู 5 ปี ไม่เป็นผู้เล่นเอง

น่าตื่นตาเพราะเป็นการวิเคราะห์ของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ไม่เพียงแต่เป็นดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายมาจากสำนักเยอรมัน หากแต่ในห้วงที่เป็นเลขาธิการ สนนท. ยังเคยร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อีกด้วย

Advertisement

ทั้งเมื่อสอนกฎหมายใน “ธรรมศาสตร์” ก็นั่งอยู่ระดับ “ริงไซด์” โดยตลอด

 

หากรับฟังบทสรุปทั้ง 4 แนวทางของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็จะเห็นได้ว่าวางน้ำหนักอยู่ที่จำนวน 250 ส.ว.อย่างเป็นด้านหลัก

เพราะมองว่าเป็นเสียงของ “คสช.”

จำนวน 250 ส.ว. จึงดำรงสถานะเหมือนกับเป็นพรรคการเมืองของ “คสช.” ไปโดยปริยาย ปัจจัยนี้จึงถูกมองในลักษณะ “สถิต สถาพร”

ในความเป็นจริงทางการเมือง อาจไม่เป็นเช่นนั้น

ไม่เพียงแต่ 244 ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจะถือว่าเป็นคนของ “คสช.” อย่างเที่ยงแท้ แน่นอน หรือไม่หากแม้กระทั่ง 6 นายทหารและนายตำรวจที่เข้ามาก็ไม่มีหลักประกันแม้แต่น้อยกว่าจะเป็นคนของ “คสช.” อย่างนิจนิรันดร

ตัวอย่างในกรณีของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ก็มิได้เป็น “บูรพาพยัคฆ์” ตรงกันข้าม กลับมาจาก “รบพิเศษ”

ขณะเดียวกัน ภายใน 244 ส.ว. จะเป็นของ “คสช.” อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาดจริงหรือ

ยิ่งกว่านั้น กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ยังเป็นกระบวนการในลักษณะ “มวลชน” ซึ่งยากเป็นอย่างยิ่งที่จะกำกับ ควบคุม บงการได้

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็มองเห็นลักษณะพลวัตรแห่งการเมืองเรื่อง “การเลือกตั้ง”

เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็อยู่ในโหมด “บันได 4 ขั้น” มิใช่หรือ

ยิ่งเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ร่วมหัวจมท้ายกับ “กองทัพ” อยู่ใน “ศอฉ.” มาสดๆ ร้อนๆ ยิ่งมากด้วยความมั่นใจ

มีใครไหนเลยจะคิดว่าชัยชนะกลับเป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ผลสำเร็จของพรรคเพื่อไทย ผลสำเร็จของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเวลาที่ใช้

หาเสียงเพียง 49 วันถือได้ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์”

จำเป็นที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้อง “เดินสาย” ทาง “การเมือง”

บทวิเคราะห์จาก ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สมควรล้างหูน้อมรับฟังด้วยความเคารพ แต่อย่าลืมลักษณะอันเป็น “อนิจจัง” ในทางการเมือง

เป็นอนิจจัง จากองค์ประกอบและฐานที่มาของ “ส.ว.” จากองค์ประกอบที่ภายใน “ผบ.เหล่าทัพ” ก็ดำเนินไปอย่างมีการแย่งยื้ออย่างไม่ขาดสาย

ยิ่งกว่านั้น ตัว “คสช.” เองก็ใช่จะรอดพ้นจากกฎแห่ง “อนิจจัง”

 

ระยะเวลาจากเดือนเมษายน 2560 เรื่อยไปจนจะถึงวาระแห่งการนับ 1 อย่างแท้จริงของ “การเลือกตั้ง”

เป็นระยะเวลาที่ไม่เพียงแต่พรรคการเมือง นักการเมือง จะเคลื่อนไหวท่ามกลางแรงบด แรงเสียดทาน อย่างไม่ขาดสาย

หาก “คสช.” เองก็ใช่ว่าจะเป็นฝ่าย “รุก” อย่างด้านเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image