อุบัติภัยกับมัจจุราชบนท้องถนน ปัญหาทางออก โดย:รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอุบัติภัยบนท้องถนนสูงสุดติดอันดับสองของโลก และอุบัติภัยดังกล่าวนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการรณรงค์ ป้องกันแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนานแต่ปัญหาก็ยังเกาะเกี่ยวอยู่กับสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนน ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมืออย่างจริงจังคงจะเป็นปรากฏการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเทศกาลหยุดยาว และอีกไม่ช้าเดือนเมษายนปีนี้ก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเชื่อแน่เหลือเกินว่ามัจจุราชจะกลับมาหลอกหลอนและทวงคืนชีวิตผู้คนที่สัญจรไปมาบนท้องถนนอีกวาระหนึ่ง

ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่จะมีเฉพาะในเทศกาลหยุดยาวเท่านั้น แต่ทุกเวลาของในแต่ละวันจะมีผู้สูญเสียอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 25 มีนาคม มีสถิติที่มูลนิธิเมาไม่ขับได้บันทึกไว้พบว่ามีผู้ล้มตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนไปแล้วถึง 2,813 ศพ ซึ่งถ้าแยกย่อยเป็นรายเดือนสถิติจากการสูญเสียผู้คนที่ล้มตายอันเกิดจากความประมาททั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนาปรากฏว่าในเดือนมกราคม 2560 ตาย 947 ราย เฉลี่ยวันละ 30 ราย ต่อวัน เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ตาย 850 รายเฉลี่ยวันละ 30 รายต่อวัน เดือนมีนาคม 2560 (วันที่ 1-25 มีนาคม) ตาย 1,016 ราย เฉลี่ยวันละ 40 ราย รวมทั้งสิ้นในช่วงต้นปีมีผู้ที่มัจจุราชเอาชีวิตไปแล้วจำนวน 2,813 ศพ

ด้วยสถิติผู้บาดเจ็บล้มตายที่นับวันจะเพิ่มขึ้น วันนี้จึงมีคำถามกลับมาว่า การรณรงค์ขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่ผ่านมาตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญการทุ่มเททั้งงบประมาณ กำลังคน กำลังสติปัญญาได้เข้าถึงปัญหาหรือแก่นแท้ของสาเหตุมากน้อยแค่ไหน

Advertisement

สถิติหรือข้อมูลในเชิงประจักษ์ที่เห็นว่านับวันปัญหานี้ยังจะมีอย่างต่อเนื่องควบคู่กับสังคมไทยและทำท่าว่าจะลดยาก ข้อมูลที่มาจากการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมาพบว่าระหว่าง 7 วันอันตรายนับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 3,919 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 478 ราย บาดเจ็บ 4,128 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายของปี 2559 กับปี 2560 พบว่า 7 วันดังกล่าว ในปี 2559 เกิดอุบัติเหตุ 3,379 ครั้ง ปี 2560 เกิด 3,919 ครั้ง
ในขณะที่การเสียชีวิตในปี 2559 พบว่ามีถึง 380 ราย ในขณะที่ปี 2560 เพิ่มเป็น 478 ราย และการบาดเจ็บในปี  2559 มี 3,505 ราย และในปี 2560 เกิดอันตรายนำมาซึ่งการบาดเจ็บอยู่ที่ 4,128 ราย  และหากมีการศึกษาข้อมูลหรือสถิติย้อนหลังไปสิบปี ในการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย พบว่าปี 2550 ตาย จำนวน 449 ศพ ปี 2551 จำนวน 401 ศพปี 2552 จำนวน 357 ศพ ปี 2553 จำนวน 347 ศพ ปี 2554 จำนวน 358 ศพ ปี 2555 จำนวน 321 ศพ ปี 2556 จำนวน 365 ศพ ปี 2557 จำนวน 366 ศพ ปี 2558 จำนวน 341 ศพ ปี 2559 จำนวน 380 ศพ และปี 2560 ตายจำนวนทั้งสิ้น 478 ศพ (ที่มา เนชั่นทีวี, 5 มกราคม 2560)

จากตัวเลขการสูญเสียจะเห็นได้ว่าจำนวนที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลากลับมีความแตกต่างกัน แต่ที่ปรากฏให้เห็นในเชิงประจักษ์คือ อุบัติเหตุและอันตรายอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่กลับนับจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2560 ที่กำลังจะมาถึงแน่นอนในวันและเทศกาลดังกล่าวปรากฏการณ์ของอุบัติภัยที่จะทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตายย่อมจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันและการแสวงหาแนวทางป้องกันแก้ไขจึงจำเป็นอยู่เองที่หน่วยงานภาครัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้องจะต้องกลับมาวางแผนกลยุทธ์ในการป้องกันตั้งแต่วันนี้ แนวคิดตลอดจนรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่เคยดำเนินการมาในรอบหลายปี หากเห็นว่ายุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ยังเข้าไม่ถึงในจิตสำนึกและความรับผิดชอบของผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว จำเป็นอยู่เองที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบจะต้องกลับมาวางแผนและบริหารจัดการกันใหม่

Advertisement

ที่สำคัญการดำเนินการกันตั้งแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง การรณรงค์เพื่อป้องกันเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างอดีตที่ผ่านมาเท่านั้นคงไม่ใช่ทางออกสำหรับการแก้ปัญหา

พูดถึงการวางแผนป้องกันและรณรงค์อันเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุและอันตราย บนท้องถนนแล้ว ก็ทำให้เห็นใจและเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจทางหลวงหรือมูลนิธิที่เป็นแกนหลักต่างทุ่มเทและดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่เมื่อไปศึกษาข้อมูลตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนกลับปรากฏว่ายังสวนทางกับความเป็นจริง จากการทุ่มเทในรูปแบบและนวัตกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้จึงมีคำถามว่าจากนี้ไปจะดำเนินการอย่างไรที่จะขจัดกับดักและหลุมดำดังที่ยังปรากฏให้เห็น

รูปแบบการจัดแถลงข่าว โดยมีผู้บริหารภาครัฐนั่งเรียงหน้าผ่านสื่อมวลชนด้วยการรณรงค์ให้ข้อมูลและสถิติการสูญเสียรายวัน รวมทั้งการที่หน่วยงานภาคเอกชนตลอดจนตำรวจทางหลวงในพื้นที่ต่างๆ จัดกิจกรรมบริการผู้ใช้รถใช้ถนนที่หลากหลาย คงจะไม่สามารถเป็นคำตอบที่เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาและตอบโจทย์ได้ ดังนั้นการบ้านข้อใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหามาตรการ หรือการกำหนดแนวทางให้มีการป้องกันและแก้ไขอุบัติภัยบนท้องถนนให้ลดและหมดสิ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญและถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพกำหนดให้อุบัติภัยที่ติดอันดับโลกเป็นวาระแห่งชาติ

ภาครัฐมีอำนาจ มีคน มีสื่อ และองค์กรที่จะขับเคลื่อนอย่างหลากหลายและหากนายกรัฐมนตรีจะลงมาใช้วาระในวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และสร้างความตระหนักให้ผู้คนในสังคมเห็นว่าอุบัติภัยเป็นปัญหา เป็นมหันตภัยร้ายที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและเป็นหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกันเชื่อว่าอย่างน้อยจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำพาไปสู่การป้องกันและแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้เพราะสังคมมักเชื่อผู้นำ แต่มีข้อสังเกตว่าต้องต่อเนื่องและยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีจุดแข็งในด้านวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการ และที่สำคัญท่านมีสื่อที่จะเข้าถึงประชาชนโดยเฉพาะรายการ “คืนความสุขให้ประชาชน” ในทุกคืนวันศุกร์ และเช้าวันเสาร์ที่นำเสนอผ่านวิทยุและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ รายการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีท่านใช้เวลาในการรายงานความเคลื่อนไหวตลอดจนเชิญชวนคนไทยร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในหลากหลายประเด็น ซึ่งหากท่านนายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาในรายการดังกล่าวเปิดประเด็นเพื่อให้คนไทยตระหนักในพิษภัยของอุบัติภัยและมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อการใช้รถใช้ถนนร่วมกันก็อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขได้
พร้อมกันนั้นการรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยสื่อที่มีทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับอันตรายและอุบัติเหตุรวมทั้งการเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเทศกาลหยุดยาวเท่านั้น ก็น่าจะเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามวันนี้ภัยบนท้องถนนอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจร (Road Traffic Accidents) เป็นปัญหาระดับโลกของสังคมที่ใช้รถใช้ถนนในการคมนาคมขนส่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2573 หากแต่ละประเทศไม่มีมาตรการที่ดีในการป้องกันอุบัติภัยทางถนนจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างมากเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านคน ซึ่งจะทำให้อันดับสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะขยับสูงขึ้นจากอันดับ 9 ในปี พ.ศ.2547 เป็นอันดับ 5 และจะนำหน้าโรคร้ายหลายโรค รวมถึงโรคเอดส์ และโรคมะเร็ง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง และรัฐบาลในอดีตจึงกำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นปีที่จะทำให้ทุกภาคส่วนดำเนินการทศวรรษความปลอดภัยบนท้องถนน

ดังนั้นการรณรงค์ป้องกันอุบัติภัยและอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างต่อเนื่องและจริงจังตั้งแต่วันนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยเป็นหนึ่งในสังคมโลกที่มีการตื่นตัวและสนับสนุนการแก้ปัญหาระดับโลกได้ในระดับหนึ่ง

ที่สำคัญต้นตอของอุบัติเหตุอันนำมาซึ่งความสูญเสียจากอุบัติภัยบนท้องถนนนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามูลเหตุอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งมาจากจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนน วันนี้จึงมีคำถามว่ารัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรที่จะให้สังคมไทยมีการตื่นตัว สามารถสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนตั้งแต่เยาว์วัย การบรรจุเนื้อหาวิชาการไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นทางออกหรือไม่อย่างไร ล้วนแล้วแต่เป็นการบ้านในการตอบโจทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มัจจุราชต้องมาถามหาและทวงชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และไม่ควรที่จะได้รับการสูญเสียเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา

แต่ตราบใดก็ตามถ้าผู้ใช้รถใช้ถนนยังขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมองข้ามไม่ใส่ใจต่อกฎระเบียบแล้วละก็

อย่าหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งของประเทศที่จะร่วมกับประชาคมโลกเพื่อขจัดภัยและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อนั้นประเทศไทยก็ยังจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับของโลกจากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนมากที่สุดตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image