นโยบายการแพทย์ปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว) โดย:นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

มีวิวาทะเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้านโยบายตามแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหมวดการปฏิรูปประเทศ (เขียนละเอียดขนาดบอกว่าให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต่อประชากรในสัดส่วนที่เหมาะสม) และแผนพัฒนาสาธารณสุข 20 ปี ในยุทธศาสตร์การบริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence) การสื่อสารนโยบายเพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผล จึงมีความสำคัญ ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนไหน และรวมถึงประชาชนที่ต้องมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีประโยชน์อะไร

หากวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าภาวะคุกคามที่สำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศมี 2 ประเด็นหลัก คือ

1) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อมีผู้สูงอายุมาก โรคภัยไข้เจ็บก็มากและมักเรื้อรัง มีภาวะพึ่งพิงสูง มีภาระค่าใช้จ่ายสูง

2) การเปลี่ยนกลุ่มโรคไปเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD : Non Communicable Disease) อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง มีตัวเลขจากการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกาย ซึ่งทำทุก 5 ปี พบว่าความชุกของเบาหวานในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มจาก 6.9% เป็น 8.9% และความดันโลหิตสูงจาก 21% เป็น 24.7%

Advertisement

นั่นหมายถึงคนไทยเกือบ 4 ล้านเป็นเบาหวาน และเกือบ 10 ล้านเป็นความดันโลหิตสูง หากควบคุมระดับน้ำตาลและความดันไม่ดี ซึ่งตัวเลขปัจจุบันก็คุมได้ต่ำกว่า 50% ก็จะตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาบอด ไตวาย หัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ/แตก ซึ่งรักษาได้ยากและค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมถึงกำลังการผลิตและคุณภาพชีวิตที่สูญเสียไป

โรคเหล่านี้มาจากพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มสถานบริการ ซื้อเครื่องมือทันสมัยราคาแพง หรือสร้างหมอรักษาโรคให้เยี่ยมยอดสักแค่ไหน มีปริมาณสักเท่าใด การวางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะใช้ทรัพยากรประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลคุ้มค่าที่สุด

ในระบบสุขภาพมีแนวคิด 2 บรรทัด บรรทัดแรกเรียกว่า การแพทย์ ซึ่งมุ่งเน้นเป้าหมายที่เป็นปัจเจกบุคคล ต้องการรักษาให้หายจากโรคเมื่อเจ็บป่วย จึงต้องใช้หลักดีที่สุด (Best for Few) แต่ก็มีอีกบรรทัดหนึ่งที่เรียกว่า การสาธารณสุข ที่มองเป้าหมายเป็นชุมชน (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค จึงใช้หลักประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ (Good for All) ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบสุขภาพมาทั้ง 2 ด้าน แต่เราพบว่ามีการลงทุนกับการสาธารณสุขน้อยกว่าการลงทุนทางการแพทย์ มีรายงานการศึกษาหนึ่งที่บอกว่า เราใช้งบประมาณไปกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพียง 9% ที่เหลือเทให้กับการรักษาโรค

Advertisement

ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายว่า เหตุใดความชุกเบาหวาน ความดันจึงพุ่งสูงขึ้น ในกรณีการรับมือในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บทเรียนจากญี่ปุ่นที่พึ่งพาสถานบริบาลเป็นหลัก พบว่าขณะนี้ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP 207% ซึ่งสูงที่สุดในโลก เพียงแต่รัฐบาลใช้เงินของคนญี่ปุ่นเองจึงยังไม่ล้มละลาย แล้วประเทศไทยจะไปรอดไหมหากเดินตามแบบญี่ปุ่น ด้วยการทุ่มเทสร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับทั้งผู้สูงอายุและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นโยบาย การแพทย์ปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) ที่เรียกสั้นๆ ว่า คลินิกหมอครอบครัว ซึ่งทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของคลินิกรักษาโรค และเป็นส่วนหนึ่งของวิวาทะในขณะนี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งที่มุ่งเน้นการสาธารณสุขมากกว่าการแพทย์ มีพื้นที่และประชากรที่รับผิดชอบที่ชัดเจน (Catchment Area) มีระบบการดูแลประชาชนที่ใกล้ชิด ตั้งแต่ทีมสหวิชาชีพ (ที่มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของทีม) จัดบริการที่จำเป็นเหมาะสม ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลแบบไม่มีหอผู้ป่วยใน การฟื้นฟูสภาพ เยี่ยมบ้าน ดูแลกันแบบญาติมิตร แบบองค์รวมต่อเนื่อง มีแฟ้มข้อมูลครอบครัว (Family Folder) ไม่ใช่มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้วก็ไป และแตกต่างจากกรณีคนไข้ไปหาหมอที่คลินิกทั่วไป ที่รักษาโรคจบก็เลิกกันไป เจ็บป่วยก็มาใหม่

การกำหนดเป้าหมาย 1 ทีม ต่อประชากร 1 หมื่นคน รวมกลุ่ม (Cluster) 3 ทีมครอบคลุมประชากร 3 หมื่นคน ก็เป็นการวางเป้าหมายเพื่อบริหารทรัพยากรให้มีรูปธรรม ไม่ได้เป็นข้อจำกัดตายตัวแต่อย่างใด ปรับให้เข้ากับบริบทได้และเป็นการใช้เวลาพัฒนาเป็น 10 ปี เพียงแต่ต้องกำหนดพื้นที่ที่เร่งด่วน ก่อนหลังตามสภาพปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะในเขตเมือง ที่การแพทย์ปฐมภูมิมีข้อจำกัดมากกว่า

โดยสรุป หากประเทศและผู้มีหน้าที่เข้าใจว่าภาวะคุกคามระบบสุขภาพในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร และนโยบายการแพทย์ปฐมภูมิ ที่กำลังพัฒนาเพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุดนั้น ต้องการความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสนับสนุน ให้บรรลุเป้าหมายให้ได้อย่างทันการณ์ ก็เชื่อว่าประเทศไทยและคนไทยจะรอดพ้นหายนะทางสุขภาพไปได้ด้วยดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image