คำถาม การเมือง ประเด็น ประชาธิปไตย และ รัฐธรรมนูญ

 

อย่าคิดว่าจะมีแต่เพียง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หรือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เท่านั้นที่จะออกมาพูดใน 2 เรื่องใหญ่

1 เรื่อง “มาตรา 44”

1 เรื่อง คำสั่งหัวหน้า คสช.เกี่ยวกับการปลดล็อกพรรคการเมือง

Advertisement

เชื่อได้เลยว่าทุกพรรคการเมืองแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยซึ่งเชื่อว่าแนบแน่นอย่างยิ่งกับ “คสช.” ก็จะเรียงหน้ากระดานออกมาพูด

เหมือนกับนี่คือ “หัวใจ” ของ “พรรคการเมือง”

แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้และรอบด้าน 2 ประเด็นนี้เป็นเรื่อง “หัวใจ” หรือ “แก่นแกน” แห่งระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

เมื่อเป็นเรื่อง “ประชาธิปไตย” ย่อมเหมาะสมที่ “พรรคการเมือง” จะต้องพูด

เพราะภักษาหารที่สำคัญและหล่อเลี้ยงการดำรงคงอยู่ของพรรคการเมืองและของนักการเมืองก็คือระบอบ “ประชาธิปไตย”

เว้นแต่พรรคการเมือง นักการเมืองจะฝักใฝ่ “เผด็จการ”

 

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา สรุปอย่างรวบรัดยิ่งว่า

การประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ให้ความหมายในเชิง “ประชาธิปไตย”

นับแต่วันที่ 6 เมษายนเป็นต้นมา จึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าสังคมประเทศไทยกำลังเหยียบบาทก้าวเข้าสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ถามว่า การคง “มาตรา 44” ไว้ในบทเฉพาะกาลเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ถามว่า การไม่ยอมให้พรรคการเมืองขยับขับเคลื่อน แม้กระทั่งการประชุมพรรคเพื่อตระเตรียมรับมือกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

คำถามนี้จะดังและดังยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ว่า คสช.จะชอบหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะมีความสุกงอมหรือไม่ก็ตาม แต่ คสช.และรัฐบาลจำเป็นต้องตอบ

เพราะนี่เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ มีการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ”

 

สภาพการณ์อันมาจาก “รัฐธรรมนูญ” และที่สำคัญก็คือ การเข้าสู่ “โหมด” อันสำคัญแห่งการตระเตรียมในเรื่อง “การเลือกตั้ง” จะเสนอทิศทางให้กับพรรคการเมืองโดยอัตโนมัติ

นั่นก็คือ คำถามในทิศทางของ “ประชาธิปไตย”

การดำรงคงอยู่แห่ง “มาตรา 44” ในบทเฉพาะกาล อันเท่ากับเป็นการดำรงคงอยู่ “อำนาจพิเศษ” อันได้มาจาก “รัฐประหาร” นั่นแหละจะเป็น “ประเด็น”

เพราะเดือนพฤษภาคม 2557 มิได้ดำรงอยู่อย่าง “สถิต”

ตรงกันข้าม ผ่านจากเดือนพฤษภาคม 2557 เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2558 ผ่านจากเดือนพฤษภาคม 2558 เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2559

และจากเดือนพฤษภาคม 2559 กำลังเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2560

เวลา 3 ปีของ คสช.จึงเป็น 3 ปีแห่งการวางฐานแห่งอำนาจผ่านกระบวนการบริหาร เวลา 3 ปียังไม่เพียงพออีกหรือในการกระชับอำนาจที่ได้มาจาก “รัฐประหาร”

ข้อสงสัยที่ว่า ร่าง “รัฐธรรมนูญ” เพื่อ “สืบทอด” หรือ “ต่อท่อ” แห่งอำนาจจึงแจ่มชัด

เป็นข้อสงสัยต่อ “คสช.” เป็นข้อสงสัยต่อ “รัฐประหาร”

 

ข้อสงสัยและคำถามในเรื่อง “อำนาจ” จะยิ่งดังอึกทึก กึกก้องเป็นลำดับจนกว่าจะถึง “การเลือกตั้ง”

1 เป็นการตั้งคำถามต่อสถานการณ์รัฐประหาร ขณะเดียวกัน 1 ก็เป็นการตอกย้ำถึงจุดยืน ทรรศนะของแต่ละพรรคการเมือง

ปมเงื่อนอยู่ที่เป็นการนำเสนอตัวเองเข้าสู่ “ประชาชน”

การเลือกของประชาชนใน “คูหา” เลือกตั้ง จึงทรงความหมายในทาง “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image