การจำกัดสิทธิเสรีภาพควรมีเฉพาะในรัฐธรรมนูญ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เมื่อเวลา 15 นาฬิกา 11 นาที วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวม 3 ฉบับ พระราชทานแก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำไปประทับพระราชลัญจกร แล้วเชิญประดิษฐ์บนพานทองสี่เสาบัว หน้ามหาสมาคมในพระที่นั่งอนันตสมาคม

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 จนจบ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ

วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด วัดทั่วพระราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร พนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เป็นอันว่า บัดนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อีกฉบับหนึ่ง นับเป็นฉบับที่ 20 ซึ่งหมายความว่า ในอีกไม่นานข้างหน้า คนไทยจะมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐบาลด้วยตัวเอง แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะชี้แจงค่ำวันเดียวกันว่า ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ และใครก็ไม่อาจระบุวันเวลาชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้

Advertisement

“ขั้นตอนทั้งหลายไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่ออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง” พลเอกประยุทธ์ชี้แจงผ่านโทรทัศน์ค่ำวันนั้น

เอาเป็นว่า การกำหนดวันเลือกตั้งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องเป็นเมื่อร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเสร็จภายในกำหนดเวลาที่วางไว้ ไม่มีช้าไปกว่านั้น

ส่วนจะเร็วกว่าตามกำหนดหรือไม่ หากเป็นไปได้จะเป็นการดีกับประเทศและประชาชนทั้งปวงที่รอกำหนดชะตาของตัวเอง ด้วยการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่แม้จะยุ่งยากบ้าง ไม่เป็นไร ขอให้มีการเลือกตั้งเป็นอันพอใจแล้ว

Advertisement

ปัญหาอยู่ที่ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคราวเดียวกันจะมีเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ยังไม่ “สงบ” พอที่จะให้มีเลือกตั้งเพื่อมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศได้ เพราะสู้อุตส่าห์กำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ถึง 20 ปี และกำหนดการสรรหาแนวทางปฏิรูปไว้ 11 ด้าน ที่เพิ่งจะมีรายละเอียดพอประมาณเพียง 2-3 ด้าน คือ ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตำรวจเป็นเบื้องแรก และปฏิรูปการศึกษา

ส่วนการปฏิรูปในอีกเกือบ 10 เรื่อง บางเรื่องมีความคืบหน้าไปบ้าง บางเรื่องยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ขึ้นกับสมาชิกสภาการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะหมดวาระลงก่อนการเลือกตั้งแน่นอน

ดังนั้น การปฏิรูปจะเสร็จทั้งหมดก่อนการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้แต่เดิมคงเป็นไปไม่ได้

ประการสำคัญในการที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมายความว่า สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของประชาชนไทยที่กำหนดไว้หลากหลายประการ ต้องได้รับการปฏิบัติให้ป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งประชาชนทั้งปวงควรศึกษาถึงสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตัวเองให้ถ่องแท้ว่ามีประการใดบ้าง ทั้งยังต้องศึกษาถึงรายละเอียดว่า สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือบางเรื่องอาจเป็นไปไม่ได้ บางเรื่องไม่มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น

ทั้งนี้ เรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้มีโดยปราศจากขอบเขตหรือโดยอิสระ ด้วยกำหนดว่า “เป็นไปกฎหมายบัญญัติ” เช่นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติไว้หลายฉบับ จึงไม่ควรมีกฎหมายใดมาจำกัดสิทธิเสรีภาพอีก ใช่ไหมครับ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image