ดุลยภาพดุลยพินิจ : จากโอบามาแคร์สู่ทรัมป์(ไม่)แคร์? : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เรื่องโอบามาแคร์ยังไม่จบ แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามคำสั่งฉบับแรกของเขาเพื่อยกเลิกกฎหมายโอบามาแคร์และปูทางสู่การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมปีนี้

จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถปรับให้เป็นทรัมป์แคร์ได้

และจนถึงขณะนี้หลายคนยังไม่รู้ว่าเจ้าโอบามาแคร์นี่มันคืออะไร และเป็นอย่างไรหรือมีปัญหาอย่างไร นายทรัมป์ (และพวกรีพับลิกันหลายคน) จึงได้พยายามยกเลิกและเอาระบบใหม่มาใช้

โอบามาแคร์คือ ระบบประกันสุขภาพภายใต้กฎหมาย The Patient Protection and Affordable Care Act แปลตรงๆ ว่ากฎหมายคุ้มครองคนไข้และการรักษาพยาบาลที่พอจ่ายได้ ซึ่งนิยมเรียกกันในอเมริกาว่า Obamacare หรือ ACA ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553

Advertisement

ก่อนหน้าโอบามาแคร์ ค่ารักษาพยาบาลและค่าประกันสุขภาพในสหรัฐแพงมาก ถึงขนาดว่าถ้าใครไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้และเจ็บป่วยขึ้นมาอาจถึงขั้นล้มละลายได้ ในสมัยราว 40-50 ปีก่อน ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐค่อนข้างมีปัญหาในสองเรื่องคือ แพง และไม่ทั่วถึง

แพง เพราะค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างแพงและรัฐปัดภาระให้ประชาชนทำประกันกับบริษัทประกันเอกชนโดยเบี้ยประกันค่อนข้างแพง แม้ผู้ประกันตนอาจเลือกระหว่างกรณีความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันสูงจะสูง เวลาเจ็บป่วยบริษัทประกันจะออกให้เป็นส่วนใหญ่ กับกรณีคุ้มครองจำกัดแต่เบี้ยประกันถูก กล่าวคือเวลาเจ็บป่วยประกันจ่ายให้ส่วนหนึ่ง มากน้อยตามความคุ้มครองที่เลือก ที่เหลือผู้ประกันตนต้องออกเอง และการเข้าพบแพทย์แต่ละครั้ง แม้จะมีประกันก็ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้นก่อน เรียกว่า ค่าใช้จ่ายร่วม (copay) ที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายให้บริษัทประกันก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้ง เป็นจำนวนเงินไม่มาก (ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ คล้ายๆ กับ 30 บาทที่จ่ายในโครงการ 30 บาทของเรา) แม้ว่าจะยังไม่ทันได้ตรวจ และยังไม่ได้รวมค่ายาและค่าตรวจที่อาจนอกเหนือจากที่ประกันครอบคลุมอีกต่างหาก

ปัญหาที่สองคือไม่ทั่วถึง คนอเมริกันส่วนใหญ่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้รับการประกันสุขภาพผ่านบริษัทที่เป็นผู้จ้างโดยจะถูกหักค่าประกันไปจากเงินเดือนของตนในแต่ละเดือน แต่ประชาชนทั่วไปและลูกจ้างของสถานประกอบการเล็กๆ ต้องทำประกันเอง หรือเข้าโครงการประกันสุขภาพคนจนหรือระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ

Advertisement

ก่อนโอบามาแคร์ สหรัฐมีประกันสุขภาพที่ดูแลคนอเมริกันอยู่ 2 ระบบที่เริ่มใช้ปี 2508 คือ (1) เมดิเคด (Medicaid)-การประกันสุขภาพคนจนโดยได้งบประมาณจากรัฐบาลกลาง และมลรัฐและบริหารโดยมลรัฐ (แต่ก่อนไม่มีการเก็บเบี้ยประกัน) มลรัฐไม่จำเป็นต้องร่วมโครงการ จนกระทั่งปี 2525 ทุกมลรัฐจึงเข้าร่วม ผู้จะมีสิทธิประกันในระบบนี้ต้องพิสูจน์ว่าจนจริงและคุ้มครองเฉพาะค่ารักษาที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งนอกจากต้องพิสูจน์ว่าจนแล้วยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ขณะที่ภาระต้นทุนการรักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อคนตกราวปีละเกือบ 2 แสนบาท ถ้าเป็นผู้สูงอายุต้นทุนตกราว 5 แสนบาทบวกค่าเมดิแคร์ (Medicare) ตั้งแต่ราวๆ ปี 2525 เป็นต้นมาหลายมลรัฐได้รับการยกเว้นให้ทำระบบเมดิเคดของตนเอง (Medicaid managed care program) โดยในระบบย่อยนี้ ผู้ประกันตนจะประกันกับบริษัทประกันเอกชนโดยได้รับเบี้ยประกันรายเดือนจากมลรัฐ (และตั้งแต่ปี 2557 บางมลรัฐเริ่มมีการเก็บเบี้ยประกันในราคาต่ำ) ในระบบนี้ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองการรักษาพยาบาลทุกอย่างหรือเกือบทุกอย่าง

และ (2) เมดิแคร์ เป็นระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ทุพพลภาพ และผู้ป่วยโรคไตขั้นสุดท้าย ซึ่งผู้รับบริการจะต้องจ่ายเพิ่มค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าห้องและค่ายาขึ้นกับประวัติการทำงาน ถ้าถึง 10 ปี ขึ้นไป จะได้รับการคุ้มครองทั้งหมด

ในสมัยนั้น คนอเมริกันราว 46 ล้านคน หรือร้อยละ 15 ของประชากร 310 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ

ส่วนใหญ่คือประชาชนที่ยากจนแต่รายได้ยังสูงกว่าเกณฑ์ความยากจนของเมดิเคด และแรงงานที่ไม่มีนายจ้างที่ไม่สามารถซื้อประกันของตนเองได้ รวมทั้งแรงงานในบริษัทเล็กๆ ที่นายจ้างไม่ซื้อประกันให้ (เกณฑ์ความยากจนของสหรัฐเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือมีรายได้ต่อปีประมาณ 3 แสนบาทต่อคน และ 8 แสนบาทต่อครอบครัวขนาด 4 คน ถ้าครอบครัวใดมีรายได้เกินนี้ถือว่าไม่มีสิทธิเข้าเมดิเคด)

หลักการของโอบามาแคร์อย่างง่ายๆ คือ การเพิ่มคุณภาพของการประกันสุขภาพและทำให้ค่าประกันเป็นที่ยอมรับได้ การขยายประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนสหรัฐอีกร้อยละ 15 ที่ยังไม่มีระบบประกันสุขภาพใดรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็ตาม

ดังนั้น กฎหมายนี้จึงบังคับให้คนอเมริกันทุกคนประกันสุขภาพโดยรัฐให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ค่าประกันพอรับได้หรือพอจ่ายไหว รวมทั้งการลดต้นทุนค่าประกันสุขภาพโดยดึงเอาคนวัยหนุ่มสาวและคนที่สุขภาพดีเข้าระบบเข้าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้วย การกำหนดให้มลรัฐต่างๆ ต้องดูแลให้มีการประกันสุขภาพสำหรับเด็กที่ไม่ได้ร่วมประกันสุขภาพกับครอบครัว และบังคับให้นายจ้างที่มีลูกจ้างเต็มเวลา มากกว่า 50 คน ต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง ถ้าไม่ปฏิบัติตามต้องถูกปรับภาษีหากรัฐเป็นผู้ทำประกันให้เอง

โอบามาแคร์กำหนดให้มลรัฐต่างๆ ขยายบริการเมดิเคดโดยให้อนุญาตให้บุคคลหรือครอบครัวที่มีรายได้ถึงร้อยละ 133-138 ของระดับความยากจนที่กำหนดโดยรัฐบาลกลาง รวมทั้งคนที่ไม่พิการหรือเด็กในความดูแล

โอบามาแคร์มีการสร้างตลาดประกันสุขภาพออนไลน์ที่ดำเนินการโดยรัฐที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบราคาและเลือกความคุ้มครองที่ต้องการ บางรัฐเลือกที่จะไม่เข้าระบบของ

โอบามาแคร์ คนในรัฐนั้นก็อาจเลือกซื้อประกันในตลาดออนไลน์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง

นอกจากนั้น โอบามาแคร์ยังห้ามบริษัทประกันสุขภาพเลือกปฏิบัติหรือปฏิเสธการประกันสุขภาพแก่คนที่มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน ยอมให้คนหนุ่มสาวร่วมใช้ความคุ้มครองจากประกันของพ่อแม่ได้จนอายุ 26 และขยายระบบเมดิเคดโดยปรับเงื่อนไขให้คนจนมีโอกาสเข้าโครงการประกันสุขภาพฟรีมากขึ้น

โอบามาแคร์เริ่มมีผลจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 (หลังประกาศใช้ถึง 4 ปี และก่อน คสช.นิดหน่อย) และถือว่าเป็นการปฏิรูประบบรักษาพยาบาลครั้งสำคัญของสหรัฐนับแต่มีการใช้ระบบเมดิเคดและเมดิแคร์ แต่ผลการปฏิรูปในสาขาต่างๆ ยังได้ผลไม่เท่ากัน (ลักลั่น) ระบบตลาดประกันสุขภาพรายบุคคลต้องมีการยกเครื่องอย่างมาก โดยกฎระเบียบในกฎหมายส่วนใหญ่มุ่งมาที่ตรงนี้ ขณะที่โครงสร้างของเมดิเคด และเมดิแคร์และตลาดภาคนายจ้างส่วนใหญ่ไม่มีการปรับเปลี่ยน การขยายความคุ้มครองส่วนใหญ่เกิดที่เมดิเคด และการลดต้นทุนรักษาสุขภาพเกิดที่เมดิแคร์ กฎหมายนี้ยังเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการของระบบการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ ทั้งนี้ งานหลายด้านยังไม่บังเกิดผล บางเรื่องเกิดจากการพิจารณาทบทวน บางเรื่องถูกเลื่อนกำหนดออกไป และบางเรื่องก็ถูกระงับตั้งแต่ก่อนนำไปปฏิบัติ

เท่าที่ผ่านมา โอบามาแคร์สามารถลดจำนวนและสัดส่วนคนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพได้อย่างเห็นได้ชัดโดยสามารถเพิ่มการประกันสุขภาพได้ประมาณ 20-24 ล้านคน ในปี 2559 ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพรวมทั้งเบี้ยประกันโดยนายจ้างเพิ่มช้าลง ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณสหรัฐรายงานว่ามีการศึกษาหลายชิ้นพบว่า โอบามาแคร์สามารถลดการงบประมาณขาดดุลได้

อย่างไรก็ตาม โอบามาแคร์ก็ต้องเผชิญกับการตอบโต้หรือทักท้วงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านตอนนั้น (รีพับลิกัน) ศาลรัฐบาลกลาง มลรัฐ นักอนุรักษนิยม สหภาพแรงงาน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก (ที่จริงมีการคัดค้านตั้งก่อนออกกฎหมายแล้ว) ส.ส.พรรครีพับลิกันได้ยื่นยับยั้งกฎหมายหลายครั้งโดยข้อหา เช่น โอบามาแคร์จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายขนาน บ้างก็ว่าโอบามาแคร์เป็นตัว “ฆ่างาน” บ้างว่ากฎหมายนี้เป็นการล่วงล้ำก้าวก่ายภาคเอกชนและปัจเจกบุคคล หรือในกรณีของการขยายเมดิเคด ศาลสูงสหรัฐวินิจฉัยว่ากฎหมายนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคารพสิทธิเสรีภาพจึงไม่สามารถบังคับให้มลรัฐต่างๆ ต้องขยายเมดิเคด

จุดอ่อนของโอบามาแคร์จึงเป็นที่มาของการหาเสียงของนายทรัมป์

ในสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสภาคองเกรส ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้คำมั่นว่าจะทำทุกนโยบายตามที่เคยให้สัญญาไว้ในช่วงหาเสียง รวมทั้งการรื้อระบบประกันสุขภาพ

“โอบามาแคร์” ทำใหม่ โอ่ว่า ถูกกว่า ดีกว่า และครอบคลุมมากกว่า ทรัมป์ใช้โอกาสนี้กล่าวกระตุ้นให้สภาคองเกรสเร่งหามาตรการใหม่เพื่อตราขึ้นเป็นกฎหมายแทนที่โอบามาแคร์

ในทางปฏิบัติ ทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ และพรรครีพับลิกันมีการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเป็นลำดับเพื่อเก็บโอบามาแคร์และเสนอกฎหมายใหม่เพื่อแก้ลำ

ผล ณ ขณะนี้เป็นอย่างที่เดอะนิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2560 พาดหัวว่า “การพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของทรัมป์ ความพยายามคว่ำกฎหมายโอบามาแคร์ล้มเหลว”

ทั้งนี้ หลังจากการลงนามคำสั่งฉบับแรกของเขาเพื่อยกเลิกกฎหมายโอบามาแคร์และปูทางสู่การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคมนายทรัมป์เสนอระบบประกันสุขภาพใหม่ภายใต้ร่างกฎหมาย American Health Care Act (AHCA) ต่อสภาผู้แทน เพื่อมาแทนที่โอบามาแคร์ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านวาระต่างๆ จนกระทั่งมีการโหวตลงคะแนนรับร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

แล้วนายทรัมป์ก็ตกม้าตายเพราะคนรีพับลิกันเอง (ฝ่ายขวาหัวอนุรักษนิยมและพวกที่เคยแอบแค้นนายทรัมป์) ไม่ลงคะแนนให้ ร่าง AHCA จึงตกไปก่อนถึงมือวุฒิสภา

ผลการลงคะแนนทำให้ประธานสภาผู้แทน นายพอล ดี. ไรอัน สรุปว่า

“เราคงต้องอยู่กับโอบามาแคร์ต่อไปอีกนาน”

นายทรัมป์เองเมื่อทราบผลถึงกับเอามือกุมขมับและครางว่า

“ไม่นึกเลยว่าการจัดระบบประกันสุขภาพจะยากถึงเพียงนี้”

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image