วัดโกโรโกโส มีหลวงพ่อดำ อยู่อยุธยา ชื่อวัดบอกความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานมาก

วัดโกโรโกโส อยู่ริมคลองข้าวเม่า บนเส้นทางสำคัญตั้งแต่ยุคอโยธยาศรีรามเทพนคร จนถึงยุคอยุธยา ใช้ติดต่อกับบ้านเมืองทางทิศตะวันออก เช่น กัมพูชา

วัดโกโรโกโส ริมคลองข้าวเม่า อ.อุทัย พระนครศรีอยุธยา ควรบริหารจัดการ ดังนี้

1.บูรณะตามหลักการสงวนรักษาโบราณวัตถุสถานให้มั่นคงแข็งแรงโดยไม่ทิ้งร่องรอยโกโรโกโส
2.จัดแสดงความเป็นมาของวัดและท้องถิ่นด้วยรูปเก่าที่อวดให้เห็นความโกโรโกโส
3.รักษาชื่อ “โกโรโกโส” เพราะชื่อวัดบอกความเป็นมาในตัวเองว่าเก่าแก่ยาวนานมาก และ “โดน” ใจสังคม

โกโรโกโส หมายถึงชำรุดทรุดโทรม, ขรุขระสับปะรังเค, โย้เย้โยกเยก จะพังมิพังแหล่ ฯลฯ น่าจะเพี้ยนหรือกลายคำจากภาษาอื่น แต่ยังค้นไม่พบว่าจากภาษาอะไร?

นักวิชาการบางท่านว่ามาจากภาษามอญ แต่หาที่มาของคำมอญยังไม่ได้ บางท่านว่าจากบาลี-สันสกฤต แต่ไกลเกินไปจนยากจะเป็นไปอย่างนั้น ถึงอย่างไรก็ไม่ควรทิ้งว่าเป็นไปไม่ได้

Advertisement

บนเส้นทางประวัติศาสตร์ยาวนาน

วัดโกโรโกโส อยู่ริมคลองข้าวเม่า บนเส้นทางคมนาคมสำคัญ ใช้ติดต่อชุมชนบ้านเมืองทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ยุคอโยธยาศรีรามเทพสืบเนื่องจนยุคอยุธยา มีเหตุการณ์สำคัญคือ

ยุคต้นอยุธยา ทุ่งอุทัยเป็นพื้นที่ทำพิธีเบิกโขลนทวาร (หรือเบิกประตูป่า) ก่อนยกทัพไปทางทิศตะวันออก

มีหลักฐานในแผ่นดินเจ้าสามพระยา พ.ศ. 1974 ยกทัพไปตีนครธม (เมืองพระนครหลวง, ศรียโสธร) ออกจากพระนครศรีอยุธยา ทำพิธีกรรมบริเวณทุ่งอุทัย
มเหสีทรงครรภ์ครบกำหนดคลอดตามเสด็จกลับ จึงคลอดโอรสที่ทุ่งอุทัย ต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีในยวนพ่ายโคลงดั้น (บท 61, 62)

Advertisement

แถลงปางปิ่นภูบาล   บิตุราช
ยังยโสธรคล้อย   คลี่พล
๏ แถลงปางพระมาตรไท้   สมภพ ทานนา
แดนด่ำบลพระอุทัย   ท่งกว้าง

ยุคปลายอยุธยา ก่อนกรุงแตก พระเจ้าตากยกไพร่พลมุ่งชายทะเลตะวันออก โดยผ่านตามเส้นทางคลองข้าวเม่าไปที่ดอนเชิงเขา เขตสระบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี, จันทบุรี ฯลฯ

สุนทรภู่เดินทางแสวงโชคแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า นั่งเรือผ่านตามเส้นทางคลองข้าวเม่าไปวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ อยู่บริเวณเขาพนมยงค์ (อ. หนองแค สระบุรี)

คลองข้าวเม่า (ซ้าย) วัดโกโรโกโส ด้านริมคลอง เมื่อ พ.ศ.2559 (ขวา) วัดสะแก

คลองข้าวเม่า

คลองข้าวเม่า เป็นคลองขุดขนาดใหญ่ มีจุดเริ่มจากคูขื่อหน้าฝั่งตะวันออก ตัดตรงไปทางทิศตะวันออก เชื่อมคลองหันตรา (แม่น้ำป่าสักสายเก่าไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ ไปสบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกปากคลองแม่เบี้ย)

แล้วตัดทะลุตรงไปทางทุ่งอุทัย (อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา) เชื่อมคลองต่างๆ หลายสาย ที่ไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ เช่น คลองบ้านสร้าง, คลองโพ, ฯลฯ

คลองข้าวเม่า ไม่เป็นชื่อเรียกทั้งสาย แต่เป็นหนึ่งในหลายชื่อที่เรียกเป็นช่วงๆ คือ คลองข้าวเม่า, คลองกะมัง, คลองบ้านบาตร, คลองหันตรา ล้วนเป็นลำเดียวกัน

นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีไทย กรมศิลปากร เคยอธิบายว่าคลองนี้มีความสำคัญมาแล้วตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1650 เมื่อรัฐละโว้ย้ายศูนย์กลางลงมาอยู่บริเวณนี้ชื่ออโยธยาศรีรามเทพ

สองฝั่งคลองข้าวเม่าเป็นที่ราบลุ่มเรียกทุ่ง (ใช้ทำนา บางทีเรียกทุ่งนา) เป็นบริเวณนาน้ำท่วม เพราะมีน้ำเหนือหลากท่วมสูงมากทุกปี (ข้าวที่ปลูกบริเวณนี้ต้องเป็นพันธุ์ข้าวหนีน้ำ หมายถึงข้าวโตเร็ว ถ้าน้ำท่วมมิดต้นวันนี้ พอพรุ่งนี้ก็โผล่ยอดข้าวเหนือน้ำได้)

มีทุ่งต่อเนื่องตั้งแต่นอกเกาะเมืองออกไปทางทิศตะวันออก เรียกชื่อต่างๆ กันตามลำดับอย่างกว้างๆ ไม่มีขอบเขตตายตัว เช่น ทุ่งหันตรา, ทุ่งชายเคือง, ทุ่งอุทัย
สโมสรโบราณคดี (ตามอัธยาศัย) มีรายงานเกี่ยวกับหลวงพ่อดำ วัดโกโรโกโส ส่งมาให้แบ่งปันสู่สาธารณะ ดังต่อไปนี้

“หลวงพ่อดำ” วัดโกโรโกโส
ต.ข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

รายงานโดย สโมสรโบราณคดี (ตามอัธยาศัย)

(ซ้าย) ป้ายวัดโกโรโกโสด้านทิศเหนือ ริมถนนเลียบคลองข้าวเม่า (ขวา) ทางขึ้นสะพานข้ามคลองข้าวเม่า ผ่านวัดโกโรโกโส ไปวัดสะแก

วัดโกโรโกโส เป็นวัดร้างยุคอยุธยา เรือน พ.ศ.2000 ตั้งอยู่ฝั่งเหนือริมคลองข้าวเม่า ต.ข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

เดิมวัดนี้ชาวบ้านเชื่อว่าชื่อวัดคลังทอง แต่ถูกทิ้งร้างจนปรักหักพังระเนระนาด เลยเรียกเปรียบเปรยเป็นภาษาปากว่า วัดโกโรโกโส แล้วร่วมกันทำนุบำรุงตามยถากรรม
พร้อมกันนั้นก็สร้างคำบอกเล่าเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์โดยเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์พระเจ้าตากพาไพร่พลตีฝ่ากองทัพอังวะจากวัดพิชัย ไปทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ถึงเมืองจันทบุรี

“หลวงพ่อดำ” ยุคต้นอยุธยา

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) อธิบายว่า

ในวัดโกโรโกโสมีหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปประธานภายในวิหาร เป็นพระพุทธรูปแบบอยุธยาตอนต้น-กลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 สังเกตได้จากพระพักตร์รูปเหลี่ยมและลักษณะบางประการที่สามารถเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปหินทรายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น

เชื่อได้ว่าวัดนี้คงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น-กลาง ต่อมาบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยการสร้างอาคารขึ้นใหม่ในบริเวณที่ปัจจุบัน คือ วิหารหลวงพ่อดำ
ส่วนซากอาคารที่หลงเหลือ เป็นแบบอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากก่ออิฐถือปูนผนังหนารองรับน้ำหนักเครื่องหลังคา

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) อธิบายว่า ภายในวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายที่สร้างทับซากอาคารเดิม ประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่น 3 ตอนปลาย สังเกตได้จากลักษณะการทำพระพักตร์รูปไข่ มีเส้นไรพระศก การทำสังฆาฏิเป็นแผ่นยาวจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ แต่พระพักตร์มีลักษณะอิ่ม กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เชื่อมต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21

เมื่อดูจากตำแหน่งที่ตั้งของวัดโกโรโกโส สังเกตได้ว่าตั้งอยู่บนทางแยกลำน้ำ เป็นเหตุให้วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมลำน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างคลองข้าวเม่ากับคลองแยกสาขา

ยังไม่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

สิ่งสำคัญภายในวัด กรมศิลปากรบันทึกว่าเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน

1.ซากโบราณสถาน ส่วนแนวผนังอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร แต่บางท่านเรียกอุโบสถ สภาพปัจจุบัน มีการสร้างวิหารใหม่ (เมื่อ 40-50 ปีก่อน) อยู่ตรงกลางพื้นที่แนวผนังโบราณสถาน ภายในประดิษฐานหลวงพ่อแก้ว หรือหลวงพ่อดำ

2.พระพุทธรูปปูนปั้น (ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ) ที่แก่นภายในเป็นหินทราย ศิลปะอยุธยา

หลวงพ่อดำ วัดโกโรโกโส อยุธยา

วัดโกโรโกโส มีพระภิกษุชรา ชื่อ พระกิ่ง อายุ 83 ปี อยู่เพียงรูปเดียว ได้ทาสีพระหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่วัดมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยผู้มีจิตศรัทธา

หลวงพ่อดำ ถูกทาสีเหลืองทับ

ชาวบ้านมาพบแล้วเกิดความไม่พอใจ เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเข้าไปชี้แจง ว่าจะขอความอนุเคราะห์ส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ มาดำเนินการลอกสีดังกล่าวออกได้ ทางชาวบ้านและคณะกรรมการวัด นายอำเภอและพระภิกษุจึงได้แยกย้ายกันกลับไป

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ นายเสน่ห์ มหาผล ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบพระพุทธรูปและได้ทดสอบโดยใช้น้ำยาลอกสีทาบนผิวพระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว พบว่าสามารถดำเนินการลอกสีออกได้

ให้ทางกรมศิลปากร โดยส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์เข้ามาดำเนินการลอกสีออกจากองค์พระให้กลับมาเป็นแบบเดิม และให้คำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและเวลาที่จะเข้ามาดำเนินการ

ซึ่งทางคณะ พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและหาคนมาช่วยดำเนินการลอกสีพระพุทธรูป และจะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและทำกำแพงล้อมรอบวัดโกโรโกโส

หากมีการก่อสร้างใดในเขตวัดโกโรโกโส ขอให้ทำหนังสือแจ้งให้สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาทราบต่อไปด้วย เนื่องจากภายในวัดมีซากกำแพงเก่าและโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อดำอยู่

คำบอกเล่า

พระเจ้าตาก ยกพลหนีจากวัดพิชัย ผ่านทางบ้านข้าวเม่า ได้ข้าวเม่าเป็นเสบียง ผ่านทางบ้านธนู (ฝั่งตรงข้ามบ้านข้าวเม่า) ได้พลธนูเข้าร่วมขบวน
พม่าเคืองชาวบ้าน เลยเผาวัดบ้านข้าวเม่า เหลือซากเป็นวัดโกโรโกโส ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบ เลยร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ทางฝั่งตรงข้ามชื่อวัดสะแก

อภินิหารหลวงพ่อดำ

น้องชายผู้การวิชัย สังข์ประไพ ที่เป็นตำรวจเหมือนกัน (น่าจะเป็น พ.ต.ท. สถิตย์ สังข์ประไพ) สมัยยังเด็กครูสั่งให้ปั้นดินเป็นรูปสัตว์ ด้วยความขี้เกียจจึงเอาดินปั้นรูปควายที่คนนำมาถวายหลวงพ่อดำไปทาสีส่งครู ต่อมาไข้ขึ้นไม่ทราบสาเหตุ ท้ายที่สุดแม่ต้องพายเรือพาเอาตุ๊กตาดินปั้นรูปควายมาคืนตอนตี 1 ขอขมาลาโทษ จึงหายเป็นปกติ

ชาวบ้านเชื่อและนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำ ในอดีตเมื่อการสัญจรทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก เมื่อใดที่พายเรือผ่านหน้าวัดโกโรโกโสจะต้องควักน้ำขึ้นมาประพรมร่างกายและอำนวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

ทหารอากาศจากกรุงเทพฯ เล่าว่า ขณะขับเครื่องบินบนอากาศ หลวงพ่อดำได้ปรากฏให้เห็นขณะขับเครื่องบิน จึงออกตามหา เมื่อพบจึงเกิดความเลื่อมใสและศรัทธา

ต้อนควายหนีน้ำหลากไปสระบุรี

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากในช่วง 50-60 ปีมาแล้ว จะมีการต้อนควายตามคลองข้าวเม่าไปหนองแค หนองแซง เมืองสระบุรี เมื่อไปถึงที่แล้วจะมีการเปลี่ยนข้าวอาหาร ด้วยการไปช่วยไถนา และเมื่อไถนา ทำเกษตรกรรมเรียบร้อยแล้วนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับน้ำที่อยุธยากลับสภาวะปกติ ก็ต้อนควายกลับอยุธยาและไถนา ทำเกษตรกรรมต่อได้พอดี

ที่เมืองสระบุรีจะเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างควายที่ถูกต้อนไปจากอยุธยา และกลุ่มคาราวานจากภาคอีสาน จะพบกันก็เมื่อมีการเข้ามาซื้อควาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image