ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | คอลัมน์หน้า 3 มติชน |
เผยแพร่ |
สอดแทรกเข้ามาอย่างเงียบๆ ในช่วงข่าวเทศกาลสงกรานต์
และการปะทะกันระหว่าง ม.44 กับ “มวลชนกระบะ”
ก็คือข่าวการยื่นขอซื้อทรัพย์สินจำนวน 80,000 ล้านบาทออกจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
โดยกิจการในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
10เมษายน
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย ส่งรายงานถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ว่าบริษัทแอสเสท เวิร์ด ในเครือของทีซีซีแลนด์
ยื่นขอเสนอซื้อทรัพย์สิน “ทั้งหมด” ในกองทุนรวมที่บริษัทดูแล 3 กองทุนดังนี้
1.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสต์เมนต์
อันมีสินทรัพย์ประกอบด้วย
อาคารอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์, อาคารแอทธินี, อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์, อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ และอาคาร 208
ซึ่งมีราคาประเมินรวม 28,382 ล้านบาท
ในราคา 29,000 ล้านบาท
2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสต์เมนต์
อันมีสินทรัพย์ประกอบด้วย
พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ
เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนต์, ตะวันนา และ โอ.พี.เพลส
ซึ่งมีราคาประเมินรวม 20,767 ล้านบาท
ในราคา 21,000 ล้านบาท
3.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทล อินเวสต์เมนต์
อันมีสินทรัพย์ประกอบด้วย
โรงแรมเชอราตันสมุย บีช รีสอร์ท, โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ท เฮ้าส์, โรงแรมเดอะเมโทรโพล ภูเก็ต, โรงแรมบันยันทรี สมุย, โรงแรมวนาเบลล์ ลักซ์ชัวรี รีสอร์ท สมุย, โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่,
โรงแรมแบงคอก แมริออท ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22, โรงแรมเลอ เมอริเดียน ถนนสุรวงศ์, โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท, โรงแรมดับเบิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุมวิท 26, โรงแรมพลาซ่า แอทธินี และโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ
ซึ่งมีราคาประเมินรวม 30,238 ล้านบาท
ในราคา 30,000 ล้านบาท
ดูเฉพาะจากราคาเสนอซื้อ
หลายคนอาจจะลงความเห็นว่าก็ “สมน้ำสมเนื้อ”
เป็นการซื้อขายตามปกติอยู่แล้ว
ถ้าหากผู้จัดการกองทุนจะไม่ทำความเห็นประกอบเอกสารที่ส่ง ก.ล.ต. ทั้ง 3 ฉบับว่า
“ยังไม่ใช่ราคาที่น่าสนใจและเหมาะสมมากนัก”
ด้วยเหตุผลว่า
1.ราคาเสนอซื้อแม้จะสูงกว่าราประเมินตามสัญญาเช่า
แต่ยังต่ำกว่าราคาประเมินตามมูลค่าทรัพย์สิน
2.ราคาเสนอซื้อต่ำกว่าราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
อาทิ
กองทุนไทยคอมเมอร์เชียลเสนอซื้อเท่ากับ 13.10 บาท/หน่วย
ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดอยู่ที่ 14.13 บาท/หน่วย
กองทุนไทยโฮเทลเสนอซื้อเท่ากับ 11.45 บาท/หน่วย
ราคาซื้อขายในตลาดอยู่ที่ 11.98 บาท/หน่วย
กองทุนไทยรีเทลเสนอซื้อเท่ากับ 13.22 บาท/หน่วย
ราคาซื้อขายในตลาดอยู่ที่ 15.38 บาท/หน่วย
คำถามก็คือแล้ว “ราคาที่เป็นธรรม” (Fair Price) สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคน
อยู่ที่เท่าใด?
ประการต่อมา ถ้าดูเฉพาะจากชื่อสินทรัพย์
คนที่พอจะรู้ความอยู่บ้าง อาจจะงุนงงว่า
ทรัพย์สินทั้งหมดที่จะขอซื้อออกจากกองทุนนั้น
ในความเป็นจริงก็เป็นกิจการของนายเจริญ และบริษัทในเครืออยู่แล้ว
ทำไมต้องดำเนินการซื้อให้ยุ่งยาก เป็นเรื่องใหญ่ เป็นข่าวใหญ่
อธิบายได้ด้วยหลักการทางธุรกิจเพียงประการเดียวว่า
เพราะเมื่อทำแล้ว สามารถสร้างผลตอบแทนให้คืนกลับมาได้มหาศาลกว่านั้น
ความเป็นไปได้มากที่สุดในกรณีนี้ก็คือ
เมื่อซื้อสินทรัพย์และ “สิทธิการเป็นเจ้าของ” ออกมาจากกองทุนเดิม
ก็จับทรัพย์สินทั้งหมดนี้ปั้นรวมกันเป็นกองทุนใหม่
ใส่โครงการหารายได้ใหม่ๆ ใส่ความฝันใหม่ๆ หรือเพิ่มเติมทรัพย์สินอื่นเข้าไป
แล้วระดมทุนจากสาธารณะ
มูลค่าปัจจุบัน 80,000 ล้าน เมื่อใส่ “ยี่ห้อ” มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งเข้าไป
มูลค่านั้นอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 160,000 หรือ 200,000 ล้าน
หรือมากกว่านั้นก็ยังเป็นได้
นวัตกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นทุนไม่ใช่เรื่องใหม่
เศรษฐี-มหาเศรษฐีอื่นในสังคมไทยก็ทำกันมาแล้ว
แต่ไม่มีใครทำใหญ่ได้เท่ากับ
เจริญ สิริวัฒนภักดี