สุจิตต์ วงษ์เทศ : เมืองจักสาน ตำนานพระรถเมรี ที่พนัสนิคม จ. ชลบุรี

ป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า “เมืองจักสาน ตำนานพระรถ เมรี” ทำเป็นแผงซุ้มทางเข้าตลาด อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี

อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี มีคำขวัญเขียนไว้บนซุ้มคลุมถนนเข้าเขตเมือง ว่า
“เมืองจักสาน ตำนานพระรถเมรี”
เมืองจักสาน หมายถึง แหล่งใหญ่ที่ชาวบ้านเชื้อสายลาวทำเครื่องจักสานด้วยมือจากไม้ไผ่เป็นหลัก

ตำนานพระรถ เมรี หมายถึง แหล่งคำบอกเล่าตำนานหรือนิทาน เรื่องพระรถ เมรี ซึ่งติดมากับชาวบ้านเชื้อสายลาวลุ่มน้ำโขง
พวกลาวถูกกวาดต้อนมาตั้งหลักแหล่งในไทยสมัย ร.3 ทั้งที่พนัสนิคม แล้วกระจายอยู่ใกล้เคียง ถึง อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา, อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี, อ. ปากพลี จ. นครนายก ฯลฯ
พระรถ เมรี เริ่มด้วยเรื่องนางสิบสองถูกควักลูกตา พระรถเป็นลูกหลานไปลวงเอายารักษาตาจากนางเมรี (ที่เป็นลูกสาวนางยักษ์) นางเมรีกลั้นใจตายเพราะหลงรักพระรถที่หนีไป และอธิฐานว่าชาติหน้าจะแก้แค้น [ชาติหน้าของนางเมรีไปเกิดเป็นนางมโนห์รา พระรถไปเกิดเป็นพระพระสุธน]

พวกลาวลุ่มน้ำโขงยกย่องพระรถ เมรี เป็นตำนานบรรพชนลาว

ยุคอยุธยาถึงยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ มีกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถตอนพระรถครองเมือง ใช้ขับไม้ในงานสมโภชชั้นสูง เป็นพยานว่าเชื้อวงศ์พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยาเกี่ยวข้องกับเชื้อวงศ์ลาวลุ่มน้ำโขง

Advertisement

บริเวณ อ. พนัสนิคม มีคูน้ำคันดินเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีอายุราวหลัง พ.ศ. 1000 ยุคทวารวดี พบประติมากรรมพระพนัสบดีและสถูปเจดีย์เก่าแก่

ก่อนจะมีเมืองยุคทวารวดี พื้นที่พนัสนิคมมีหลักแหล่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านโคกพนมดี [แปลว่า บ้านเขาดิน (พนม แปลว่า ภูเขา, ดี กลายจากภาษาเขมรแปลว่า ดิน)]
นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่หัวหน้าเผ่า มีลูกปัดนับแสนเม็ด จึงสมมุติเรียก เจ้าแม่โคกพนมดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image