ผู้สูงอายุด้อยโอกาส : ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ต้องทบทวนระบบสวัสดิการสังคม : โดย วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย,กมลทิพย์ ขลังธรรมเนียม,นพนัฐ จำปาเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2543-2544 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี พ.ศ.2568 เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้ว ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสังคมสูงวัยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2558)

ขณะเดียวกันกับที่ประเทศกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ก้าวตามสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ทำให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสต้องต่อสู้และปรับตัวอย่างมากเพื่อการดำรงชีวิต ผู้สูงอายุอีกส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสหากขาดการเตรียมตัวที่ดีและทั้งสองกลุ่มมีโอกาสได้รับผลกระทบในประเด็นของความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้สูง

ผลการศึกษาผู้สูงอายุด้อยโอกาสใน 4 จังหวัด คือ เชียงราย นครราชสีมา สิงห์บุรีและนครศรีธรรมราช ช่วยสะท้อนภาพความทั่วถึง เท่าเทียมและเสมอภาคของระบบสวัสดิการสังคมในผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย

ซึ่งผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่พบโดยมากเป็นเพศหญิง จบระดับประถมศึกษา รายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน อาชีพมีทั้งรับจ้างทั่วไป ค้าขายและทำเกษตรกรรม ขาดความสามารถในการดูแลตนเอง เพิ่งเข้าสู่วัยสูงอายุหรือเป็นผู้สูงอายุตอนต้น อยู่ในครอบครัวเดี่ยว ติดสังคม ไม่มีผู้ดูแลหรือถูกทอดทิ้งหรืออยู่ลำพังหรือถูกละเลย การศึกษาน้อยและมีปัญหาสุขภาพ

Advertisement

หากมองแง่การเข้าถึง/ได้รับสิทธิ พบว่าสวัสดิการสังคมที่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสเข้าถึง/ได้รับมากเป็นการรับเบี้ยยังชีพ การตรวจรักษา/การตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การอยู่อาศัยในบ้านของตนเอง การใช้ช่องทางพิเศษรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ การได้รับความสะดวก/ปลอดภัยในการใช้ทางลาด บันได ราวจับห้องน้ำสาธารณะและข้อความบนป้ายสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

ขณะที่สิทธิสวัสดิการสังคมที่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสรู้จักน้อยมากคือ รับค่าจัดการศพตามประเพณี 2,000 บาทเมื่อเสียชีวิต การช่วยเหลือด้านกฎหมายเมื่อมีคดีความ กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุหรือจากรัฐ การรับของกินของใช้ในชีวิตประจำวันที่จัดโดยชุมชนท้องถิ่น เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 มื้อ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สิทธิสวัสดิการสังคมที่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสไม่เคยรับบริการ/ไม่เคยเข้าถึงและไม่ต้องการ คือ การช่วยเหลือด้านกฎหมายเมื่อมีคดีความ ครอบครัวอุปการะ การอาศัยในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา การขอสนับสนุนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาการเคลื่อนไหวและสิทธิสวัสดิการสังคมที่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสไม่เคยรับบริการ/ไม่เคยเข้าถึง แต่ต้องการ ได้แก่ การดูแล/ช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวเมื่อยากลำบาก ค่าจัดการศพตามประเพณีเมื่อเสียชีวิต การเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพในชุมชน กลุ่มออมทรัพย์/สหกรณ์ ชมรม/เครือข่ายผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการชุมชน บริการซ่อมบ้าน การช่วยเหลือด้วยเงินหรือสิ่งของจากรัฐไม่เกินครั้งละ 3,000 บาทต่อครอบครัวและติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้งและการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ

Advertisement

เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดกับผู้สูงอายุด้อยโอกาสมีทั้ง 1) การเข้าไม่ถึงบริการ/ให้บริการไม่ตรงกับความต้องการ 2) ความไม่เป็นธรรม 3) ความไม่เสมอภาค หรือ 4) ทั้งเข้าไม่ถึงบริการ/ให้บริการไม่ตรงกับความต้องการ ไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค

โดยมิติของความเหลื่อมล้ำที่พบมีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนหรือสังคม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงพื้นที่และการมีส่วนร่วมในการใช้ความรู้ความสามารถ

เมื่อวิเคราะห์นโยบาย กฎหมายและแผนที่เกี่ยวข้องจะเห็นชัดเจนว่าผู้สูงอายุด้อยโอกาสยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมตามนโยบายที่รัฐจัดให้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข เบี้ยยังชีพไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ขาดหลักประกันด้านรายได้เพราะไม่มีผู้ดูแลหรือไม่มีอาชีพ นโยบายการกู้ยืมเงินกองทุนผู้สูงอายุเพื่อการประกอบอาชีพกลับเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสในเมืองมากกว่าชนบท นโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐขาดการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สวัสดิการบางส่วนซ้ำซ้อนทำให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสรับสวัสดิการสังคมทั้งในแง่มากเกินความจำเป็นและน้อยกว่าความจำเป็น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกลับได้รับการเสนอแนะจากหลายการศึกษาว่าควรทบทวน

อย่างไรก็ตาม ตำบลที่ศึกษาใน 4 จังหวัดพบว่ามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่ควรใช้เป็นแบบอย่าง ซึ่งทุกแห่งเน้นการใช้หุ้นส่วนทางสังคมเป็นกลไกเชิงรุกไปหนุนกลไกภาครัฐและท้องถิ่น

สำหรับ รูปแบบที่ดีที่ ต.หัวง้ม จ.เชียงราย จะใช้ธนาคารความดีขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุทั่วไปและด้อยโอกาสได้รับการดูแลภายใต้หลักการทำดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและชุมชน ซึ่งมีแนวคิดการก่อตั้งมาจากศีล 5 ที่มุ่งหวังให้ทำดีเผื่อแผ่กันเพื่อสร้างค่าความเป็นคน โดยภาครัฐและท้องถิ่นช่วยประสานและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทั่วไป และด้อยโอกาสได้รับสวัสดิการที่พึงได้อย่างต่อเนื่อง

รูปแบบที่ดีของ ต.สูงเนิน จ.นครศรีธรรมราช เป็นบ้านกลางหรือพื้นที่แห่งน้ำใจของคนในชุมชนที่มาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล โดยไม่ได้ของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ เน้นกระบวนการสร้างจิตสำนึกบนแนวคิด “ท้องถิ่นคือ ลูก ประชาชนคือ พ่อแม่ที่ท้องถิ่นต้องให้การดูแล” โดยถือเป็นภารกิจที่ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตความเป็นอยู่อย่างเต็มที่

รูปแบบที่ดีของ ต.น้ำตาล จ.สิงห์บุรี จะใช้ชมรมผู้สูงอายุเป็นกลไกกลางในการช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการช่วยเหลือโดยใช้วัฒนธรรมประเพณีโดยเฉพาะการทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาเป็นฐาน โดยมีภาครัฐช่วยหนุนเสริมให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท้องถิ่นขับเคลื่อนด้วยแผนยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุเพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคุณค่าและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างชัดเจน

รูปแบบที่ดีของ ต.ขุนทะเล จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุที่ก่อตั้งบนแนวคิดของการมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุมีศูนย์กลางการทำกิจกรรมร่วมกัน เกื้อกูลกันแบบเครือญาติ ออกแบบหลักสูตรให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมตลอดเวลาพร้อมกับมีรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐประสานให้เครือข่ายและโซนพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือกัน

และมีกองทุนสวัสดิการชุมชนช่วยให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสได้รับการปันผลในรูปแบบที่หลากหลาย

ดังนั้น หากจะออกแบบระบบสวัสดิการสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาส คงต้องวางฐานคิดให้เหมาะสมโดยจะต้องคำนึงว่าผู้สูงอายุด้อยโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุทั่วไปที่จะต้องได้รับสวัสดิการสังคมเสมอภาค ทั่วถึงและเท่าเทียมไม่แตกต่างจากผู้สูงอายุทั่วไป โดยผู้สูงอายุทั่วไป ท้องถิ่นและภาครัฐเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญของการช่วยเหลือ การจัดสวัสดิการสังคมต้องอยู่บนหลักการลดที่มาของความเหลื่อมล้ำ 3 ระดับ คือ 1) หลักเสริมพลังอำนาจ 2) หลักเชื่อมโยงเครือข่ายและ 3) หลักสร้างระบบสนับสนุนหรือบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สวัสดิการสังคมต้องอยู่บนการให้ความสำคัญกับทรรศนะทางสังคมและการเมืองมากกว่ามุ่งจัดการปัจจัยต่างๆ ในผู้สูงอายุด้อยโอกาส มีการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุด้อยโอกาสเชิงระบบตลอดเส้นทางชีวิตตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจนถึงวาระสุดท้าย วางระบบการออมระยะยาวเพื่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุแบบพึ่งพาตนเอง แม้ร่างกายเสื่อมถอย ระเบียบ กฎหมายและมาตรการต่างๆ ต้องทันสมัยและถูกใช้มีประสิทธิภาพ ถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักของการจัดสวัสดิการสังคมให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาส เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบจัดการตนเองของครอบครัวและระบบจัดการตนเองในชุมชน ระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุต้องใช้ประโยชน์ได้จริงในแง่ของการตัดสินใจจัดสวัสดิการสังคมให้ผู้สูงอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความด้อยโอกาสแตกต่างกัน

อัตราการจ่ายให้เบี้ยยังชีพเพียงพอสำหรับการยังชีพ สิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทุกช่วงวัย

พัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ให้การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้สูงอายุด้อยโอกาสโดยมีมาตรฐานการดูแลกำกับและจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรรองรับสังคมกับการส่งเสริมให้ผู้สูง อายุพึ่งพาตนเองได้ทั้งในและนอกบ้าน

สืบเนื่องจากฐานคิดข้างต้น แบบจำลองระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมน่าจะมีอย่างน้อย 4 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 : A+CG model (Aging+Community-Government model) รูปแบบนี้ พื้นที่จะต้องมีผู้สูงอายุแกนนำที่เข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือหรือชักนำให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสได้เข้าถึง/ได้รับสวัสดิการสังคม โดยมีเงื่อนไขเสริม คือ พื้นที่มีกลไกเชิงรุกของวัฒนธรรมเอื้ออาทรของการดูแลซึ่งกันและกัน การขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุแกนนำไปช่วยเหลือผู้สูงอายุด้อยโอกาสได้นั้น ผู้สูงอายุแกนนำต้องได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่ รูปแบบที่ 2 : C+GA Model (Community+Government-Aging model) เป็นรูปแบบที่พื้นที่ต้องมีผู้นำระดับต่างๆ ของชุมชนเป็นบุคคลหลักในการช่วยเหลือ โดยเงื่อนไขเสริมคล้ายรูปแบบแรกคือ มีกลไกเชิงรุกของวัฒนธรรมเอื้ออาทร สำหรับการขับเคลื่อนจะอาศัยผู้นำท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและชักจูงให้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กัน รูปแบบที่ 3 : G+CA model (Government+Community-Aging model) เป็นรูปแบบที่เงื่อนไขนำคือ บุคลากรภาครัฐเป็นบุคคลหลักของความพยายามจัดสวัสดิการสังคมให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง โดยเงื่อนไขเสริมมีลักษณะเช่นเดียวกับรูปแบบที่ 1 และ 2 ส่วนการขับเคลื่อนจะมีลักษณะเช่นเดียวกับรูปแบบที่ 2 คือ ท้องถิ่นร่วมมือกับภาครัฐโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุทุกคนเห็นความสำคัญซึ่งกันและกัน และ รูปแบบที่ 4 : C+A+G model (Community+Aging+Government model) เป็นรูปแบบที่ช่วยให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสได้รับสวัสดิการสังคมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ พื้นที่นั้นมีเงื่อนไขนำของการมีผู้นำระดับต่างๆ ของชุมชนเป็นบุคคลหลักของการช่วยเหลือพร้อมกับมีผู้สูงอายุแกนนำที่เข้มแข็ง โดยเงื่อนไขเสริมมีลักษณะเช่นเดียวกับรูปแบบอื่นๆ คือ พื้นที่ต้องมีกลไกเชิงรุกของวัฒนธรรมเอื้ออาทรของการดูแลซึ่งกันและกัน

แล้วขับเคลื่อนโดยท้องถิ่นร่วมมือกับแกนนำผู้สูงอายุโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุทุกคนร่วมกันเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือกันอย่างไม่พึ่งพิงหรือพึ่งพา

ร.ศ.ดร.วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย
อาจารย์ ดร.กมลทิพย์ ขลังธรรมเนียม
อาจารย์ ดร.นพนัฐ จำปาเทศ

อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

หมายเหตุข้อมูลบทความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” สนับสนุนทุนการวิจัยจาก “งานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการแก้ปัญหาความยากจน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เห็นความสำคัญในประเด็นความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้สูงอายุด้อยโอกาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image