คอลัมน์future perfect โซเชียลมีเดียช่วยส่งเสริมหรือบ่อนทำลายประชาธิปไตย? โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปสอนวิชา TU101 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ โซเชียลมีเดียกับประชาธิปไตย จากการเตรียมการสอนครั้งนี้พบข้อมูลและแนวคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง จึงอยากถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ครับ

หากพูดโดยพื้นฐานว่าโซเชียลมีเดียมีความสำคัญอย่างไรต่อประชาธิปไตย เราก็มักจะคิดว่าโซเชียลมีเดียนั้นน่าจะช่วย “ส่งเสริม” ประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่ามันทำให้ประชาชนที่ไม่เคยมีสิทธิมีเสียงมาก่อน ได้แสดงออกถึงพลังของตนเอง ทำให้สามารถคานอำนาจกับรัฐกับบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือองค์กรต่างๆ ได้ในรูปแบบที่ไม่เคยพบมาก่อนยุคอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดียนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยรวมกลุ่ม รวมพลัง อย่างที่เราได้เห็นผ่านแพลตฟอร์มการลงชื่อทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็น เช่น change.org กับแคมเปญต่างๆ ตั้งแต่ที่ “ดูไร้สาระ” อย่างการเรียกร้องให้บาร์บีคิวพลาซ่าปรับปรุงกระทะให้ช่องน้ำซุปมีขนาดกว้างขึ้น จะได้ใช้ช้อนตักซุปกินได้ ไปจนถึงแคมเปญที่ “ดูมีสาระ” อย่างเช่นการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว

เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ความสามารถในการรวมกลุ่มตามความสนใจของโซเชียลมีเดียก็น่าจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยใช่ไหมครับ

แต่ทำไมนักคิดจำนวนมากจึงเห็นว่า อันที่จริงแล้ว โซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้มีแต่ผลดีต่อประชาธิปไตย- มันยังมี “ผลกระทบ” อย่างอื่น ที่อาจถึงขั้น “บ่อนทำลาย” ประชาธิปไตยด้วย?

Advertisement

ผมไม่ได้พูดเกินเลยไปเองนะครับ-เมื่อลองค้นคว้าในเรื่องนี้ดูก็พบ “หัวข้อบทความ” ที่น่าชวนให้ตื่นตะลึงหลายชิ้น เช่น Is Social Media Destroying Democracy? (โซเชียลมีเดียกำลังทำลายประชาธิปไตยหรือเปล่า) ของ Newsweek หรือ How Social Media is crippling democracy and why we seem powerless to stop it. (โซเชียล
มีเดียทำให้ประชาธิปไตยพิกลพิการได้อย่างไร และทำไมเราจึงดูไร้พลังที่จะต่อกร) ของ ZDNet

หนึ่งในบทความที่ดูไม่กระโตกกระตากจนเกินไป และพูดไว้ได้อย่างน่าฟัง มาจาก The Economist หัวข้อบทความกลางๆ ชื่อ How are social media changing democracy? หรือโซเชียลมีเดียกำลังเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยไปอย่างไร บทความนี้ไม่ได้ฟันธงลงไปว่าโซเชียลมีเดียทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้นหรือเลวลง แค่บอกว่ามัน “เปลี่ยนแปลง” ธรรมชาติของประชาธิปไตยและการรวมกลุ่มไป

ผู้เขียนบทความอ้างว่าโซเชียลมีเดียนั้นทำให้การเมืองมีความ “วุ่นวายสับสน” (chaotic-ไม่ได้พูดในความหมายที่ไม่ดีนะครับ แต่พูดในความหมายที่ว่ามันทำให้การเมือง “ยากที่จะคาดเดา” มากขึ้น) โดยอ้างอิงจากหนังสือชื่อ Political Turbulence อีกที

Advertisement

เพราะธรรมชาติของโซเชียลมีเดียและปุ่มแชร์ ที่ทำให้ไอเดียๆหนึ่งแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วแบบเอ็กซ์โพเนนเชียล เหมือนกับไวรัส ต่างจากการแพร่กระจายของไอเดียในยุคก่อนอินเตอร์เน็ต (หรือก่อนเฟซบุ๊ก) ที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลานานกว่า ทำให้กระแสข่าว กระแสการเมืองในแต่ละวันมีความผันผวนสูง

นักวิจัยจากสถาบันศึกษาอินเตอร์เน็ตของออกซ์ฟอร์ด อ้างตัวอย่างเช่นการลงชื่อ (petition) บนโลกออนไลน์ที่ความสำเร็จนั้นไม่อาจคาดเดาได้ด้วย “หัวข้อ” ของการลงชื่อนั้น (เช่น ลงชื่อเพื่อต่อต้านการเหยียดผิว หรือลงชื่อเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ หัวข้อการลงชื่อแบบเดียวกัน อาจมีความสำเร็จของแคมเปญต่างกันลิบลับ) แต่ความสำเร็จนั้นมักจะมาจาก “บุคลิกของผู้เข้าร่วม” (personality of potential participants) นั่นคือ ถ้าแคมเปญลงชื่อสามารถไปเกาะกลุ่ม หรือกุมใจคนที่กล้าแสดงออก (extroverts) ได้ละก็ ก็น่าจะมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จมาก เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่าเพื่อนๆ ลงชื่อในแคมเปญ ก็จะอยากลงชื่อตามเพื่อส่งสารว่าตนมีส่วนร่วมในแคมเปญแบบเดียวกันด้วย นั่นแปลว่า “ถ้าแคมเปญใดดึงดูดคนกลุ่มเริ่มต้นได้ ‘ถูกกลุ่ม’ พอ ก็จะทำให้แคมเปญนั้นประสบความสำเร็จ” โดยเนื้อหาของแคมเปญนั้นอาจเป็นปัจจัยรองๆ ลงมา

ที่สำคัญคือ การ “แพร่กระจาย” ของข้อมูลข่าวสารในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะแคมเปญรณรงค์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับทุกๆ ข่าวที่ลอยอยู่บนอินเตอร์เน็ตด้วย

ผู้เขียน Political Turbulence จึงเห็นว่า การจะใช้โมเดลสังคมศาสตร์แบบเก่ามาอธิบายปรากฏการณ์ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคนี้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก กลับกันเขาเสนอให้ใช้โมเดลทฤษฎีความวุ่นวาย (choas theory) อย่างเช่นทฤษฎีที่ใช้ทำนายสภาพอากาศมาปรับใช้เพื่อทำนายพฤติกรรม และทำความเข้าใจกับคน โดยเห็นว่าน่าจะสะท้อนธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ดีกว่า

สิ่งที่เกิดขึ้น (และน่ากลัวสำหรับผม) ก็คือเมื่อโซเชียลมีเดียเปลี่ยนธรรมชาติการกระจายข่าวสารและการมีส่วนร่วมของพลเมืองไปในทำนองที่ “คาดเดายาก” ขึ้นนี้ แน่นอน มันย่อมหมายถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากระดับรากหญ้าด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อบริษัทโซเชียลมีเดียอย่างเช่นเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลของปฏิสัมพันธ์ “แทบทั้งหมด” แล้ว (และอาจส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้กลุ่มทุน หรือรัฐบาลหลากหลายประเทศผ่านทางข้อตกลงแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่) นั่นก็แปลว่าพวกเขามีโอกาสสูงกว่าในการที่จะคาดเดาคำตอบล่วงหน้า หรือกระทั่ง “จุดกระแส” “เบี่ยงเบนความสนใจ” หรือ “ชี้นำ” ประชาชนได้ดีกว่าระดับรากหญ้าไม่รู้กี่เท่า

และนั่นเองอาจเป็นความท้าทายที่แท้จริงของประชาธิปไตยในยุคที่เรากดไลค์-กดแชร์กันอยู่นี้

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image