ความโกรธ : โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

ความโกรธหรือเพลิงโทสะได้เผาผลาญสัตว์โลกมานานแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ขณะนี้ก็ยังเผาผลาญอยู่ และจะยังคงเผาผลาญต่อไปในอนาคต ยากที่จะหาสิ่งใดมาดับได้ ยิ่งมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแล้ว วิวัฒนาการ การแสดงออกของความโกรธก็ยิ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งการโต้ตอบด้วยการกระทำ แสดงออกทางเทคโนโลยีสื่อสารออกไปในรูปแบบต่างๆ และไม่มีอะไรที่จะดับได้ แม้ต่อให้ “ซุปเปอร์” เทคโนโลยีก็ไม่สามารถจะดับหรือระงับได้ มีแต่จะรุนแรงขึ้นและทำลายกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดูกรณีของไอซิสที่บุกเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส หลังเสร็จสิ้นฟุตบอลยูโร หรือกรณีกบฏปฏิวัติทหารต่อรัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือนที่ประเทศตุรกี มีการล้มเชิงตายเป็นร้อยๆ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นสื่อที่แสดงถึงนิวรณ์ที่สำคัญคือ “พยาบาท” จองเวรกันด้วย “โทสะ” จึงมีเหตุดังกล่าวขึ้น

สิ่งที่จะดับความโทสะได้ก็มีแต่ “พระธรรม” ยิ่งพระธรรมเผยแผ่ไปได้มากเท่าใด โลกก็ร่มเย็นและสงบมากขึ้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันเผยแผ่พระธรรมอันบริสุทธิ์ เย็น ชุ่มฉ่ำออกไปทั่วโลกทุกทิศทุกทางให้เข้าถึงดวงจิตของ “มนุษย์” ผู้กำลังถูกแผดเผาด้วยเพลิงต่างๆ ขจัดความเร่าร้อนและแห้งผากให้หมดสิ้นไป หรือลดน้อยลง แล้วนำความเยือกเย็นสดชื่น ความแจ่มใสเบิกบานเข้ามาแทนที่

“พระสารีบุตร” ได้อธิบาย “ความโกรธ” ว่า หมายถึง ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความขุ่นเคือง ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่สดชื่นแห่งจิต

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลักษณะความโกรธไว้ว่า “มีรากเป็นพิษ มียอดหวาน” ที่ว่ามีรากเป็นพิษ หมายความว่า เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว จะแสดงพิษสงต่อจิตใจ ทำให้หงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาล จึงต้องรีบระบายความหงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาลออกไปโดยเร็ว ด้วยการด่า ทุบตี หรือทำร้ายบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุให้โกรธ เมื่อได้ทำจนสาแก่ใจแล้ว ในบั้นปลายจะรู้สึกโล่งใจ สบายใจ จึงเรียกว่า “มียอดหวาน”

Advertisement

ความโกรธร้อนแรงร้ายกว่า “อัคคีภัย” ความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากไฟภายในคือ “โทสะ” มีมากกว่าไฟภายนอกอย่างเทียบเท่าไม่ได้ ลองนึกดู ยิ่งในโลกที่มีประชากรหลายพันล้านคนนี้ วันหนึ่งๆ มีเพลิงโทสะเกิดขึ้นได้กี่ครั้ง? เมื่อเพลิงโทสะเกิดขึ้น แทนที่จะทำให้สว่าง กลับทำให้จิตใจมืดมิดยิ่งขึ้น ความโกรธย่อมไม่รู้จักประโยชน์ของตนและของผู้อื่น จัดตามความเป็นจริง “ความโกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย” คนโกรธฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ ฆ่าพระอรหันต์ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ฆ่าตนเองได้ คนดีจำนวนมากไม่สามารถระงับความโกรธที่พลุ่งพล่านขึ้นมาเพียงชั่วครู่ได้ หลังจากที่หายโกรธแล้ว จึงต้องไปทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่ในเรือนจำเป็นแรมเดือนแรมปี

เมื่อความโกรธรุมเร้าแผดเผาจิต
ใจมืดมิดหลงคิดผิดวิสัย
เรื่องฉิบหายร้ายกาจขนาดไหน
ร้องทำได้ ขอเพียงแค่ สาแก่ใจ

ความโกรธหรืออารมณ์โทสะ มีลำดับขั้นของความโกรธ : เมื่อแรกเริ่มความโกรธก่อตัวเพียงเล็กน้อย เมื่อเราไม่มีสติรู้เท่าทัน ไม่ระงับเสียก่อน ปล่อยให้ลุกลามขึ้นมามากขึ้นๆ โดยลำดับ ในที่สุดมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้

Advertisement

“พระสารีบุตร” ได้แสดงลำดับความโกรธอย่างละเอียด จากน้อยไปหามาก เพิ่มขึ้นๆ 13 ขั้น ดังนี้
1.ทำให้จิตใจขุ่นมัว 2.ทำให้หน้าเง้าหน้างอ 3.ทำให้คางสั่น ปากสั่น 4.เปล่งผรุสวาจา (คำหยาบ) 5.เหลียวดูทิศต่างๆ เพื่อหาท่อนไม้ 6.จับท่อนไม้และศัสตรา 7.เงื้อท่อนไม้และศัสตรา 8.จับท่อนไม้และ(ผู้อื่น) 9.ทำให้เป็นแผลเล็กแผลใหญ่ 10.ทำให้กระดูกหัก 11.ทำให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป 12.ทำให้ชีวิต(ผู้อื่น)ดับ 13.เมื่อใดความโกรธให้ฆ่าผู้อื่น แล้วจึงให้ฆ่าตน เมื่อนั้นความโกรธไปขั้นรุนแรงอย่างหนัก ถึงความเป็นของอย่างยิ่ง

สาเหตุของความโกรธมีมากมาย : ดูถูกเกลียดชัง ถูกหักหลังรังแก ถูกบิดแข้งบิดขา ถูกข้ามหน้าข้ามตา ถูกด่าว่าเสียหาย ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกติฉินนินทา เป็นต้น แบ่งความอาฆาตหรือความโกรธ มีอยู่ 10 ประการ คือ

1.โกรธเพราะเขาเคยทำความเสียหายให้กับเรา 2.โกรธเพราะเขาจะทำความเสียหายให้กับเรา 3.โกรธเพราะเขา จะทำความเสียหายให้แก่เรา 4.โกรธเพราะเขาเคยทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก 5.โกรธเพราะเขากำลังทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก 6. โกรธเพราะเขาจะทำความเสียหายให้แก่คนที่เรารัก 7.โกรธเพราะเขาเคยช่วยเหลือคนที่เราชัง 8.โกรธเพราะเขากำลังช่วยเหลือคนที่เราชัง 9.โกรธเพราะเขาจะช่วยเหลือคนที่เราชัง 10.โกรธโดยไร้สาเหตุ (ในที่ไม่ควร เช่น โกรธ แม้ก้อนหินที่ไม่มีชีวิตจิตใจ)

พุทธวิธีชนะความโกรธ : บุคคลในโลกนี้ บางคนเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น ขี้โมโห ชอบเอาแต่ใจตัวเอง อ่อนไหวง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย โกรธง่ายแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไร้สาระ โกรธไปหมด แม้กระทั่งดินฟ้าอากาศและสิ่งต่างๆ เหมือนรอยขีดในดิน เมื่อถึงน้ำเซาะหรือลมพัดก็เลือนหายไปได้ บางคนเป็นคนช่างจดช่างจำ ใครทำอะไรล่วงเกินไว้ พอนึกจะให้อภัยได้ก็ไม่ยอมให้อภัย ซ้ำยังเก็บความขัดเคืองนั้นไว้ในใจไม่ยอมลืมง่ายๆ เหมือนรอยขีดในหิน จะขีดเล็กหรือขีดใหญ่ แม้จะถูกน้ำเซาะหรือถูกลมพัดก็ไม่เลือนหายไปง่ายๆ เคยมีบางคนโกรธกันตั้งแต่หนุ่มจนแก่ยังไม่ยอมพูดกันเลย

บางคนเป็นคนเจ้าโทสะอย่างมาก ถ้าใครทำให้ไม่พอใจ แม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องโต้ตอบทันที ถ้ายังไม่ได้ช่องก็ผูกใจเจ็บไว้ ว่าจะแก้แค้นไปสิ้นฟ้า เรื่องการให้อภัยไม่ต้องพูดถึง บางท่านหรือเราจำเป็นต้องพึ่งในบรรดาบุคคลที่กล่าวถึงนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาหาวิธีการต่างๆ เพื่อรับมือกับความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทของท่าน แม้ไม่อาจเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด เพียงแค่ให้บรรเทาเบาบางลงบ้างก็ยังดี

พุทธวิธีชนะความโกรธ : ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมจากพระสูตรต่างๆ และอรรถกถามาให้ลองศึกษาดู แล้วเรียกฝึกเอาเฉพาะที่ถูกจริตกับคนใช้ เป็นแนวคิดแนวทางในการปฏิบัติเพื่อ “ดับความโกรธ” หรือ “ขจัดความโกรธ” ของเรา

“ต้นร้ายปลายดี” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า : คนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจาอ้อมสำคัญว่าชนะฝ่ายเดียว แต่ความอดทนได้เป็นความชนะของ “บัณฑิตผู้รู้แจ้ง” ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นคนลามกกว่าเพราะโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่า “ชนะสงครามในบุคคล ชนะได้โดยยาก” ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า “ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย” คือแก่ตนเองและผู้อื่น

ความโกรธทำให้บุคคลแสดงอาการดุร้าย หยาบคายออกมาทางวาจา เปลี่ยนสภาพจากสุภาพชนเป็น “ทรชน” จากผู้ดีเป็น “ไพร่” (และจากมนุษย์เป็นสัตว์) ควรหรือที่เราจะโกรธตอบเขา แสดงอาการที่น่ารังเกียจอย่างเขา เป็นผู้ดีไม่ชอบ ชอบเป็นไพร่กระนั้นหรือ

การได้ว่าผู้อื่นจัดเป็นความชนะหรือพ่ายแพ้กันแน่ บางคนคิดว่าคนเป็นผู้ชนะเพราะด่าอยู่ผู้เดียว หรือด่าได้หยาบคายกว่า แท้ที่จริงทุกคนที่กล่าวคำหยาบล้วนเป็น “ผู้แพ้” แพ้ต่ออำนาจความโกรธ (หรือกิเลส) ส่วนคนที่อดทนให้คนอื่นๆ ด่าโดยไม่ตอบโต้ ทั้งที่สามารถทำได้ นั่นแหละคือ “ผู้ชนะที่แท้จริง” เพราะเอาชนะความโกรธเป็นสิ่งที่เอาชนะได้ยาก

ใครมีปากอยากพูดก็พูดไป
เรื่องอะไรก็ช่าง อย่าฟังขาน
เราอย่าต่อก่อตัวให้ร้าวราน
ความรำคาญก็จะหายสบายใจ

ประตูเรือน เป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องรักษาให้ดีนั้น อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางสำหรับให้อารมณ์ต่างๆ ผ่านเข้ามาสู่ใจ ก็เป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องสำรวมหรือต้องดูแลรักษาให้ดี ฉันนั้น สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่เราไม่รู้ไม่เห็นยังมีอีกมาก แต่ไม่ใช่ที่จำเป็นเราจะต้องไปรู้ไปเห็นให้หมด ดังนั้น ในบางครั้ง แม้จะเห็นก็ควรแกล้งทำเป็นไม่เห็น แม้ได้ยินก็ควรแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เมื่อรู้จักขัดหู ปิดตาตัวเองเสียบ้าง เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะลดลงน้อยลง ชีวิตก็จะเป็นสุขขึ้นมากกว่าเดิม : ปิดหูซ้าย-ขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง แล้วนั่งสบาย

ผู้เขียนได้ศึกษาประมวล “ความโกรธ” อันเป็นอารมณ์ที่แสดงออกได้ทางกาย วาจา ใจ อย่างครบครัน เริ่มด้วยจิตใจขุ่นมัว แสดงออกทางสีหน้า กล้ามเนื้อที่แสดงออกทางกาย จากคางสั่น ปากสั่น จนถึงก้าวร้าวพูดคำหยาบ จิตใจควบคุมสติไม่อยู่ มองหามีด-ไม้ แสดงออกทางกายเพื่อทำร้ายผู้อื่นอย่างบ้าคลั่งดุดัน มีคำหลายคำที่สื่อคำสอนได้อย่างมีอรรถรสและมากคุณค่าด้วยความหมายอันนั้น “ถึงตายก็ไม่โกรธ แพ้เป็นพระ อย่าทำใจให้เป็นแผล โกรธเขาเราร้อนหาใช่คนอื่น น้ำน้อยในรอยเท่าใดกับคนไข้หน้า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีเอาไว้ได้ คนจนก็มีสิทธิ ทำอย่างไรถึงสวย” ที่ผู้เขียนประทับใจมีอยู่ 2 คำสอนคือ “ช่างหัวมัน” กับ “ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง”

ช่างหัวมัน ท่านควรใช้ ให้เข้าที
ทุกวันนี้ ดีแต่เรื่อง เคืองขุ่นใจ
ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องการงาน บานตะไท
โกรธทำไม ให้ปล่อยวาง ช่างหัวมัน
สิ่งใดใด ในโลกนี้ ไม่มีเกี่ยง
เกิดเท่าไร ก็ตายเกลี้ยง สุดเลี่ยงหนา
ผลสุดท้าย เจ้าจะตาย วายชีวา
อนิจจา น่าจะหน่าย ความโกรธเอย

หลังสงกรานต์ปี 2560 ไปแล้ว ตั้งแต่ 16 เมษายน 2560 หลังชุ่มฉ่ำด้วยน้ำสงกรานต์ น้ำมนต์ น้ำใจที่ดีงามด้วยเมตตา กรุณา ธรรม ที่มีต่อกันด้วย คนไทยทุกคนขออำนวยพรให้ทุกท่าน และแฟนมติชนทุกคน พึงชนะ “ความโกรธ ด้วยสติ” เป็นชัยชนะที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เพราะไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อและทรัพย์สินเงินทองทั้งสิ้น และเป็นการชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะความชั่วด้วยความดี เป็นชัยชนะที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล
บ้านเมืองไทยจะได้เป็น “สังคมสุขสันต์” ไงเล่าครับ

 

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image